ค่าเงินบาทผันผวนป่วน“ส่งออกข้าว” สวิงรายวันทำผู้ซื้อชะลอออเดอร์

ค่าเงินบาทผันผวนป่วน“ส่งออกข้าว”  สวิงรายวันทำผู้ซื้อชะลอออเดอร์

ผู้ส่งออกข้าวตั้งเป้าส่งออกข้าวปี 67 ที่ 7.5 ล้านตัน วอนรัฐบาลรักษาเสถียรภาพค่าเงินไม่ให้ผันผวน หลังผู้ซื้อไม่กล้าเคาะราคาเหตุเสี่ยงขาดทุนรายวัน เร่งพัฒนาข้าวพันธุ์นุ่มตอบสนองความต้องการของตลาด จับตานโยบายอินเดียยกเลิกจำกัดการส่งออก-ภัยแล้ง

ในช่วงเวลา 1 วัน ค่าเงินบาท 35.80 บาทต่อดอลาร์ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ หรือ แข็งค่าขึ้น 0.4%  ทำให้การส่งออกข้าวปี 2567ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน เนื่องจาก ผู้ส่งออกไม่กล้าที่จะโค้ดราคาขายเพราะหากค่าเงินเปลี่ยนแปลงอาจทำให้ผู้ขายขาดทุน ขณะเดียวกันหากค่าเงินเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามก็อาจทำให้ผู้ซื้อต้องซื้อของแพงขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน ส่งผลให้การค้าข้าวในขณะนี้เป็นไปด้วยความยากลำบาก ซึ่งจะเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ซื้อเลือกนำเข้าสินค้าจากแหล่งอื่นแทนที่ประเทศไทย 

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล คือเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพต้องมีเสถียรภาพ ไม่ผันผวน โดยอยากให้รัฐบาลดูแลให้ค่าบาทเสถียรภาพ เนื่องจากปัจจุบันนี้ค่าเงินบาทผันผวนสูงมาก โดยอัตราแลกเปลี่ยนจะปรับตัวขึ้นลงในระดับ 34-35 บาทต่อดอลลาร์ในรอบ 1 สัปดาห์ หรือ สวิงมากกว่านั้น ในขณะที่ประเทศเวียดนามมีค่าเงินที่มีเสถียรภาพมากกว่าไทยมาก เฉลี่ยที่ เดือนละ 1% ทำให้เวียดนามสามารถเปิดราคาขายได้ซึ่งผิดกับไทย

ส่วนการทำประกันค่าเงิน   หรือ  Forward นั้นไม่ใช่คำตอบของการจัดการปัญหาค่าเงินในการทำการค้าข้าวเพราะในซีกผู้ส่งออกหากต้องการค่าเงินที่แน่นอนก็ต้องทำค่าเงินไว้นานมากกว่า 1 เดือน โดยต้องมีต้นทุนด้านค่าเงินให้หายไปเฉลี่ย 12 สตางค์ต่อเดือนในทุกๆ 1 บาท ที่ทำประกันค่าเงิน แต่การส่งออกข้าวจะสมบูรณ์ต้องใช้เวลาราว 3 เดือน ทำให้ผู้ส่งออกมีต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นซึ่งอาจต้องส่งต่อต้นทุนนี้ไปสู่ผู้ซื้อ และเป็นผลให้ราคาข้าวไทยสูงขึ้นซึ่งจะลดขีดความสามารถการแข่งขันของข้าวไทยในที่สุดด้วย 

“ เราคงไม่บอกว่า ค่าเงินต้องเท่านั้นเท่านี้ แต่เราขอให้มีเสถียรภาพคือไม่ผันผวนจนเกิน ซึ่งตอนนี้  ตื่นมาก็ต้องดูค่าเงินก่อน ก่อนที่จะดูราคาข้าวด้วยซ้ำ และก่อนนอนก็ต้องดูอีกว่าค่าเงินผันผวนไปเท่าไหร่แล้ว ทำให้ไม่รู้จะโค้ดราคาเท่าไหร่ทำให้การค้ายากลำบากโดยสัดส่วนค่าเงินที่จะเคลื่อนไหวอย่างเหมาะสมอยู่ที่ 1%  ในรอบ 1 เดือน”   

นอกจากนี้ค่าเงินบาทแล้วปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์จากความขัดแย้งและสงครามที่ยืดเยื้อกำลังส่งผลต่อค่าขนส่งทางเรือปรับตัวสูงขึ้นมาก และจากการโจมตีในทะเลแดงทำให้ค่าขนส่งเพิ่ม 4 เท่าแล้ว เช่น ส่งไปสหรัฐจาก 1,200 ดอลลาร์ต่อตู้ เป็น 4,000 ดอลลาร์ต่อตู้แล้ว หรือปรับขึ้นทุกสัปดาห์ละ 300-600 ดอลลาร์

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย  กล่าวว่า ข้อมูลของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา หรือ USDA คาดการณ์ปริมาณผลผลิตข้าวของโลกในปี 2567 จะทรงตัวเท่ากับปีที่แล้ว เฉลี่ย 513 ล้านตัน โดยจีน มีผลผลิตมากที่สุด 144 ล้านตัน รองลงมาเป็นอินเดีย 132 ล้านตัน บังคลาเทศ อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย ผลิตใกล้เคียงกับปีที่แล้ว ประมาณ 20 ล้านตัน โดยการส่งออกข้าวในปี 67 จะอยู่ที่ 52.2 ล้านตันลดลง 0.4 %

ทั้งนี้สมาคมคาดว่า การส่งออกข้าวไทยในปี 2567 จะมีปริมาณ 7.5 ล้านตันมูลค่าประมาณ 4,400 ล้านดอลลาร์ลดลงจากปีที่แล้วที่

ส่งออกได้ 8.7 ล้านตัน5,144 ล้านดอลลาร์ ซึ่งปี 2566 ถือเป็นปีที่ดีของข้าวไทย เนื่องจากนโยบายการจำกัดการส่งออกข้าวของอินเดียตั้งแต่เดือนส.ค. ทำให้ประเทศฟิลิปปินส์หันมาสั่งข้าวในในไตรมาส 4 มากเกิน 4 แสนตัน นอกจากนี้ราคาข้าวของประเทศเวียดนามแพงกว่าข้าวไทย 20-30 ดอลลาร์ต่อตัน ส่งผลให้การส่งออกข้าวไทยปี 66ได้ถึง 8.7 ล้านตัน

ส่วนปี 2567 คาดว่าอินเดียยังเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ที่ 16.5 ล้านตัน ไทย 7.5 ล้านตัน เวียดนาม 7.5 ล้านตัน ปากีสถาน 5 ล้านตัน สหรัฐ 2.7 ล้านตัน จีน 2.2 ล้านตัน อย่างไรก็ตามคงต้องจับตาการส่งออกข้าวของเวียดนามในปีนี้ที่อาจจะส่งออกข้าวได้มากกว่า ปี 2566 เพราะราคาข้าวเวียดนามต่ำกว่าประเทศ 

โดยจากการประมูลนำเข้าข้าวปริมาณ 5 แสนตันของอินโดนีเซียเมื่อปลายเดือนม.ค.ที่ผ่านมา เวียดนามชนะประมูลไปกว่า 4 แสนตัน ที่เหลือเป็นของปากีสถาน และเมียนมา โดยที่ไทย ไม่สามารถประมูลได้เลย เนื่องจากราคาข้าวสูงกว่าคู่แข่งเสนอราคาที่ 690 ดอลลาร์ต่อตัน แต่เวียดนาม เสนอราคาเพียงตันละ 655 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งต่างกันถึง 40 ดอลลาร์

ขณะที่การเจรจาซื้อข้าวแบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจียังไม่เกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นยาก เพราะแต่ละประเทศปรับเปลี่ยนการซื้อข้าว โดยใช้เอกชน เป็นผู้นำเข้าแทน แล้วเก็บภาษีนำเข้า เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือเกษตร และยังมีความคล่องตัวกว่า อย่างไทยเอง หากจะขายข้าว แบบจีทูจีต้องผ่านหลายขั้นตอนทั้งคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ(นบข.) และคณะรัฐมนตรี(ครม.) อาจจะกินเวลาไปถึง 2 เดือนกว่าจะส่งมอบได้ อีกทั้งผู้นำเข้าจะดูเรื่องราคาเป็นหลัก หากราคาถูกกว่าก็จะซื้อ

นายชูเกียรติ กล่าวว่า สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออกข้าวไทย ประกอบด้วย 1.ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งไม่มีเสถียรภาพทำให้การคิดคำนวณราคาค่อนข้างลำบาก ผู้ซื้อหรือผู้นำเข้าเองก็ไม่ชอบเพราะมีความเสี่ยง เมื่อเทียบกับประเทศเวียดนามที่เป็นคู่แข่งสำคัญของไทยที่ค่าเงินไม่สวิงมากนักลูกค้าก็ชอบเพราะทำการตลาดได้ง่าย

2.ความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทย โดยเฉพาะภาคการผลิต ที่ต้นทุนสูงแต่ผลผลิตต่อไร่ต่ำเพียง 450 กก.ต่อไร่ ขณะที่เวียดนามผลผลิตต่อไร่ 970 กก.ต่อไร่ มากกว่าเท่าตัว แค่เรื่องนี้ก็แพ้กันตั้งแต่ก้นมุ้ง อีกทั้งพันธุ์ข้าวก็มีความหลากหลายตอบสนองความต้องการของตลาด โดยเฉพาะพันธุ์ข้าวนุ่ม

3.ภาวะการแข่งขันด้านราคาข้าวในตลาดโลก ซึ่งข้าวไทยราคาสูงเมื่อเทียบกับผู้ผลิตรายอื่น แตกต่างกัน30-40 ดอลลาร์ 4.นโยบายการจำกัดการส่งออกข้าวของอินเดีย ซึ่งขณะนี้มีกระแสว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีการยกเลิกนโยบายนี้หลังการเลือกตั้งในเดือน เม.ย.หรือพ.ค.หรือใช้วิธีการเก็บภาษีแทน ซึ่งจะทำให้อินเดียส่งออกข้าวมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และส่งผลให้ราคาข้าวถูกลงอีก

5.ผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งยังไม่สามารถประเมินได้ว่า จะทำให้เกิดภัยแล้งรุนแรงหรือไม่อย่างไร เพราะจะมีผลต่อปริมาณผลผลิตข้าว

“สัญญาณส่งออกข้าวไทยปีนี้ได้มากขึ้นไม่ใช่เรื่องง่าย มองว่าเป้าส่งออกปีนี้น่าจะเหลือเพียง 7.5 ล้านตัน ซึ่งก็ต้องลุ้นว่าประเทศส่งออกข้าวโลกอันดับสองปีนี้จะเป็นไทยหรือเวียดนาม เพราะตั้งเป้าส่งออกทั้งปีเท่ากันที่ 7.5 ล้านตัน ซึ่งไตรมาสแรกเราไม่น่าห่วงเพราะยังมีข้าวคงค้างส่งมอบจากปีก่อน น่าจะเฉลี่ยได้7-8 แสนตัน ต้องลุ้นไตรมาส 2 เป็นต้นไป“

สำหรับ สถานการณ์ราคาข้าวไทย จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทั้งการผลิต การส่งออก ที่จะกระทบกับราคาข้าวเปลือกในประเทศ อย่างเดือนแรกของปีนี้ จากใบอนุญาตส่งออกข้าวของกรมการค้าต่างประเทศ พบว่าไทย ส่งออกแล้วมากกว่า 1 ล้านตัน เพิ่มขึ้นถึง 43.96% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งหากส่งออกเกิน 1 ล้านตันติดต่อกันหลายๆเดือน ก็จะมีผลต่อราคาในประเทศแน่นอน