"ภูมิธรรม"ดันนโยบายเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืนฝ่ามรสุมเศรษฐกิจสู่SDGs 

"ภูมิธรรม"ดันนโยบายเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืนฝ่ามรสุมเศรษฐกิจสู่SDGs 

“ภูมิธรรม”แนะทุกภาคส่วนเร่งปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตและการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับกติกา ระเบียบการค้าโลกใหม่ เผยรัฐบาลหนุนนโยบายเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืน เพื่อให้ไทยยืนในเวทีการค้าโลกได้

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในงานสัมมนา PostToday Thailand Economic Drive 2024 “ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจ 2567”ว่า โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สร้างให้เกิดกฎระเบียบใหม่ ดังนั้นทุกประเทศถูกบังคับให้ปรับเปลี่ยนตาม โดยเฉพาะในการค้าที่สินค้าต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งท่ามกลางความท้าทายใหม่ และความเสี่ยงของโลกที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งกระทรวงการคลังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2566 ขยายตัวที่ 1.8% ชะลอลงจากปี 2565 ที่ขยายตัว 2.6% และคาดว่าปี 2567 จะขยายตัว 2.8% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกที่กลับมาขยายตัว การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยวฟื้นตัว แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ และความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่ต้องติดตามใกล้ชิด

ขณะที่ธนาคารโลกคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2567 ขยายตัว 2.4% ซึ่งชะลอตัวต่อเนื่อง โดยปี 2565 ขยายตัว 3.0% และปี 2566 ขยายตัว 2.6% และการเติบโตเฉลี่ยปี 2563-2567 เป็นช่วงที่ขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 30 ปี คาดว่าขยายตัวเฉลี่ยที่ 2.2%

ดังนั้นต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงอย่างใกล้ชิด คือ เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัวทั้งสหรัฐและญี่ปุ่น รวมทั้งจีนมีปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเศรษฐกิจไทยต้องพึ่งการส่งออกและนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ไม่แน่นอน ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน อิสราเอล-ฮามาส ความขัดแย้งในทะเลแดง และการแย่งชิงความเป็นมหาอำนาจระหว่างสหรัฐกับจีน 

นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของงานวันนี้ ที่ทำให้เกิดปัญหาภัยธรรมชาติ น้ำท่วม น้ำแล้ง รวมถึงเอลนีโญ มีสาเหตุจากการปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” ที่ทำให้โลกร้อนขึ้น

นายภูมิธรรม กล่าวว่า วันนี้เศรษฐกิจไทยยังไม่ดีแม้จะคลายปมหลายเรื่อง โดยเฉพาะการมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งทำให้สถานการณ์ในประเทศดีขึ้น แต่ความท้าท้ายหลายเรื่องยังผันผวน ซึ่งเศรษฐกิจโลกเป็นปัจจัยหลักที่ภาคธุรกิจต้องคำนึงถึง ดังนั้นหัวใจหลักจะต้องขับเคลื่อนต้องพิจารณาและควบคุมปัจจัยเสี่ยง ซึ่งหากคิดแบบเดิมจะมีผลแบบเดิม

รวมทั้งประเด็นสำคัญในปัจจุบันอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทั่วโลกมุ่งสู่ความยั่งยืนที่จะกลายเป็นกติกาสากลที่ช่วยโลกบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเห็นได้ชัดเจนเมื่อเดือน ก.ค.2566 องค์การสหประชาชาติ (UN) เตือนว่า “ยุคโลกร้อนสิ้นสุดลงแล้ว” แต่ “ยุคโลกเดือดได้เริ่มขึ้นแล้ว” ทำให้โลกมีเป้าหมายสูงสุดที่ Net Zero ภายในปี 2593 

"หลายประเทศออกนโยบายด้านความยั่งยืน อาทิ European Green Deal เป็นแพ็คเกจนโยบายของอียูเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 โดยออกมาตรการการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน หรือ CBAM"

นายภูมิธรรม กล่าวว่า สำหรับไทย ภายใต้นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ให้ความสำคัญกับการดำเนินการเพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ทุกมิติตามทิศทางของโลก ซึ่งหากไทยปรับตัวได้เร็วก็เป็นโอกาสในการสร้างแต้มต่อส่งออกสินค้าไทย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 

ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้าให้ไทยดำเนินงานด้าน SDGs เป็นอันดับที่ 1 ของอาเซียน เพื่อแสดงให้เห็นว่าไทยให้ความสำคัญการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น ภาคเกษตรและพลังงาน ซึ่งเป็นแต้มต่อกว่าประเทศคู่แข่งในการดึงดูดการลงทุนระดับโลก โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง 

"รัฐบาลมีนโยบายสำคัญในการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืนทั้งการปรับปรุงแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจก ให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนเศรษฐกิจ เร่งผลักดัน พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นเครื่องมือกำกับดูแลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ส่งเสริมการปรับตัวของภาคเกษตรเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือน"

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพัฒนาการค้าตามระเบียบการค้าโลกใหม่เพื่อสร้างช่องทางให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs เข้าถึงแหล่งข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือและแสวงหาโอกาสทางการค้าให้ทันโลกยุคใหม่

หลังจากนี้ ระเบียบโลกใหม่ จะถูกนำมาบังคับใช้เพิ่มขึ้นในทุกปีแล้วแต่สินค้า และเพื่อให้เราก้าวสู่โลกใหม่ได้ สิ่งสำคัญคือการเปลี่ยนความคิดใหม่ เข้าใจ และก้าวทัน รวมทั้งต้องกล้าคิดกล้าเปลี่ยนแปลง ปรับตัวให้เร็ว เพื่อให้ได้รับประโยชน์เต็มที่ และแสวงหาโอกาสจากการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน”นายภูมิธรรม กล่าว