แก้ ‘หนี้นอกระบบ’ 2 เดือนแรกยังอืด ‘กิตติรัตน์’ วอนอีก 4 แสนรายเร่งลงทะเบียน

แก้ ‘หนี้นอกระบบ’ 2 เดือนแรกยังอืด ‘กิตติรัตน์’ วอนอีก 4 แสนรายเร่งลงทะเบียน

“กิตติรัตน์” รับแก้หนี้นอกระบบสองเดือนแรกยังล่าช้า หลังคนลงทะเบียนแค่ 1.4 แสนราย มูลหนี้ 9.8 พันล้านบาท จากยอดหนี้นอกระบบที่นายกฯแถลงไว้ว่ามีหนี้นอกระบบกว่า 5 หมื่นล้านบาท  วอนคนเป็นหนี้ลงทะเบียนเข้าระบบเพื่อที่รัฐบาลจะได้ช่วยไกล่เกลี่ยให้ได้

KEY

POINTS

 

 

“กิตติรัตน์” รับแก้หนี้นอกระบบสองเดือนแรกยังล่าช้า หลังคนลงทะเบียนแค่ 1.4 แสนราย มูลหนี้ 9.8 พันล้านบาท จากยอดหนี้นอกระบบที่นายกฯแถลงไว้ว่ามีหนี้นอกระบบกว่า 5 หมื่นล้านบาท  วอนคนเป็นหนี้ลงทะเบียนเข้าระบบเพื่อที่รัฐบาลจะได้ช่วยไกล่เกลี่ยให้ได้

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย กล่าวว่าการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบนั้นขอเรียกร้องให้ผู้ที่มีหนี้นอกระบบ ที่ยังไม่ลงทะเบียนให้มาลงทะเบียนทั่วประเทศหลังจากที่ตอนนี้มีผู้มาลงทะเบียนแล้ว 1.4 แสนราย มูลหนี้ประมาณ 9.8 พันล้านบาท  และรัฐบาลไกล่เกลี่ยได้แล้ว 1.2 หมื่นรายวงเงิน 670 ล้านบาท ซึ่งยังน้อยกว่าตัวเลขที่นายกฯเคยแถลงไว้ว่ามีหนี้นอกระบบประมาณ 5 หมื่นล้านบาท 

"ขอให้คนที่มีหนี้นอกระบบกล้าหาญมาลงทะเบียนเพราะหากไม่มีความกล้าหาญ รัฐบาลก็ขาดโอกาสที่จะช่วยเหลือ ขอให้มั่นใจว่าการมาลงทะเบียนเป็นสิ่งที่ทำให้ท่านได้รับการดูแลแก้ไข จะได้ขอให้เจ้าหนี้มาร่วมลงทะเบียนด้วยเพราะหน้าที่ของรัฐบาลจะคุ้มครองเจ้าหนี้ด้วย ลูกหนี้มีหน้าที่ต้องใช้หนี้แต่ลูกหนี้ไม่ได้มีหน้าที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่เกินกว่ากฎหมายกำหนด 15% ต่อปี ซึ่งจริงๆ 16%ต่อปีก็ผิดแล้ว แต่เห็นไปคิดดอกเบี้ยกัน 10-20%ต่อเดือน ฉะนั้น ต้องมีความกล้าหาญไม่งั้นใครจะช่วย"

 

 

ในส่วนของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 หรือลูกหนี้รหัส 21 ซึ่งขณะนี้แก้ปัญหาชำระหนี้เบ็ดเสร็จแล้ว 630,000 ราย คิดเป็นมูลหนี้ 4,000 ล้านบาท

เชื่อว่าไม่เกินกลางปีนี้จะจบปัญหาได้กว่า 1.1 ล้านราย จากจำนวนลูกหนี้รหัส 21 ที่มีทั้งหมด 3.5 ล้านราย ส่วนที่เหลือก็ต้องแก้ไขในรูปแบบแตกต่างกันไป ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ทำงานไม่หยุดเพราะรู้ว่าดอกเบี้ยเดินทุกวัน

 

นายกิตติรัตน์ กล่าวต่อไปว่า ตนเองยังมั่นใจว่าหนี้นอกระบบสามารถหมดไปจากประเทศไทยได้ ถ้าการแก้ปัญหาก้าวหน้าไปแต่ละขั้นและไปสู่จุดที่คนไม่มีความจำเป็นต้องกู้หนี้นอกระบบ แล้วหนี้ในระบบเข้ามาดูแลแทน แต่ตอนนี้ในระบบยังไม่ดีเท่าใด เห็นได้จากการสุ่มดูบางรายพบว่าเงินที่ลูกหนี้จ่ายไป มีธนาคารพาณิชย์บางรายตัดให้เฉพาะดอกเบี้ยแต่ไม่ตัดลดเงินต้น ซึ่งเอาผิดได้  หากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ไม่เอาผิด  ธปท.ก็ผิด หรือเรื่องบัตรเครดิตยังมีธนาคารพาณิชย์ของรัฐบางรายไม่เข้าร่วมโครงการคลีนิคแก้หนี้ บอกมาว่าบริหารจัดการได้ดีอยู่แล้วแต่พอเข้าไปดูมีคดีฟ้องร้องจำนวนมาก ทั้งมีการฟ้องร้องควรเป็นทางเลือกสุดท้ายที่นำมาใช้

“เรื่องคณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยมีมติ 5ต่อ 2 คุณเล่นกันไปละกัน ผมไม่สนใจหรอก ขนาดนายกรัฐมนตรีพูดว่ามีความจำเป็นต้องลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เขายังไม่ทำ แต่ที่ผมทำ ผมดึงดอกเบี้ยสหกรณ์จาก 7% ลงมาเหลือ 4.75% ทุกๆเปอร์เซ็นต์ของดอกเบี้ยที่ลดลงมา เป็นเงินเหลือให้กับข้าราชการ และลูกหนี้สหกรณ์ จึงต้องมีศรัทธาให้ดอกเบี้ยลดลง”