ทอท.ปรับแผนแม่บท 'สุวรรณภูมิ' ปัดฝุ่นเร่งลงทุนอาคารด้านทิศใต้

ทอท.ปรับแผนแม่บท 'สุวรรณภูมิ' ปัดฝุ่นเร่งลงทุนอาคารด้านทิศใต้

ทอท.กางแผนดัน “สุวรรณภูมิ” ขยายขีดความสามารถทะลุ 150 ล้านคน ปัดฝุ่นศึกษาเทอร์มินัลด้านทิศใต้ เดินหน้ารันเวย์ 4 งบลงทุนรวมกว่า 1.2 แสนล้านบาท พร้อมเร่งสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออก จ่อประมูลสร้าง พ.ค.นี้ เล็งปั้นพื้นที่เชิงพาณิชย์บริการผู้โดยสารเพิ่ม

Key Points

  • ทอท.ปรับแผนแม่บทลงทุน "สุวรรณภูมิ"
  • ตั้งเป้ารับผู้โดยสาร 150 ล้านคนต่อปี
  • ยืนยันกระแสเงินสดในมือเพียงพอ
  • ประมูลอาคารด้านทิศตะวันออก พ.ค.นี้

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ปัญหาของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่พบอยู่ในปัจจุบัน คือ ความแออัดของปริมาณผู้โดยสาร ซี่งเป็นปัญหาสะสมมาตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดโควิด-19 จำนวนผู้โดยสารเข้ามาใช้บริการท่าอากาศยานแห่งนี้มากถึง 60 ล้านคนต่อปี เกิดขีดความสามารถที่รองรับได้ 45 ล้านคนต่อปี

โดยปัจจุบัน ทอท.มีแผนขยายขีดความสามารถท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งประเมินวงเงินลงทุนอยู่ที่ 1.8 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย ส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก วงเงินราว 9 พันล้านบาท และส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันตก วงเงิน 9 พันล้านบาท โดย ทอท.ประเมินว่าหากพัฒนาโครงการเหล่านี้แล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 90 ล้านคนต่อปี เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่รองรับได้ 60 ล้านคนต่อปี ภายหลังเปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1

อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน ทอท.ศึกษาพบว่าปริมาณผู้โดยสารมีแนวโน้มจะเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และพบว่าหากจะลงทุนเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยาน ปัจจัยสำคัญต้องลดความแออัดในบริการส่วนของด่านตรวจคนเข้าเมือง ไม่เพียงการเพิ่มพื้นที่เพื่อรองรับผู้โดยสารบริเวณจุดเช็คอิน หรือพักคอย เพราะปัจจุบันปัญหาความแออัดส่วนใหญ่ เกิดจากคอขวดบริเวณหน้าด่านตรวจคนเข้าเมือง อีกทั้งปัญหามักเกิดขึ้นในชั่วโมงการบินของเส้นทางระหว่างประเทศเป็นหลัก

ทั้งนี้ ทอท.จึงเตรียมว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อทบทวนแผนแม่บทพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิฉบับใหม่ ระยะ 10 ปี (2568 - 2578) คาดว่าจะได้ข้อสรุปและเดินหน้าแผนได้ภายในต้นปี 2568 ซึ่งโจทย์สำคัญตอนนี้ ทอท.มองว่าปัญหาเร่งด่วน คือ การเพิ่มพื้นที่รองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ แก้ปัญหาคอขวดบริเวณด่านตรวจคนเข้าเมือง และต้องเพิ่มขีดความสามารถให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 150 ล้านคนต่อปี

ส่งผลให้ขณะนี้ ทอท.ประเมินความจำเป็นเร่งด่วน จะพัฒนาส่วนต่ออาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Expansion) พื้นที่ก่อสร้างจะติดกับถนนบางนาตราด จากเดิมที่อยู่ในแผนลงทุนระยะสุดท้ายของแผนแม่บทท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมีแนวโน้มจะเร่งพัฒนาต่อจากส่วนต่อขยายอาคารด้านทิศตะวันตก เนื่องจากอาคารด้านทิศใต้ จะตอบโจทย์เรื่องของพื้นที่บริการผู้โดยสาร ด่านตรวจคนเข้าเมือง ไม่เพียงการเพิ่มพื้นที่เช็คอิน

“อาคารด้านทิศใต้ เคยอยู่ในแผนที่ ทอท.จะพัฒนาขยายขีดความสามารถของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอยู่แล้ว แต่ก่อนหน้านี้ ทอท.มองว่าจะพัฒนาอาคารด้านทิศเหนือก่อน เนื่องจากต้องการรองรับผู้โดยสารทั้งในและต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่สถานการณ์ปัจจุบันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีปัญหาความแออัดอย่างมากในส่วนของผู้โดยสารระหว่างประเทศ ดังนั้นการพัฒนาอาคารด้านทิศใต้ เพิ่มรันเวย์ 4 รองรับเที่ยวบินขนาดใหญ่ จะแก้ปัญหาความแออัดของเที่ยวบินระหว่างประเทศได้”

นอกจากนี้ ต้องยอมรับว่าปัจจุบันการพัฒนาอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ (North Expansion) ยังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาความเหมาะสมจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ปัจจุบันยังไม่ได้รับการตอบรับพิจารณาผลการศึกษาจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) ดังนั้นเมื่อโจทย์ขยายขีดความสามารถของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นเรื่องเร่งด่วน ทอท.จึงมองว่าการหยิบยกเอาอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ พร้อมกับรันเวย์ที่ 4 มาพัฒนาทันที จะแก้ไขปัญหาสะสมส่วนนี้ได้โดยเร็ว

สำหรับการลงทุนส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ และรันเวย์ 4 เบื้องต้นประเมินวงเงินลงทุนรวม 1.2 แสนล้านบาท โดย ทอท.ยืนยันความพร้อมในการลงทุน จากภาพรวมอุตสาหกรรมการบินที่กลับมาเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้รายรับของ ทอท.มีแนวโน้มปรับตัวสอดคล้องกัน ซึ่งปัจจุบันมีกระแสเงินสดในมือประมาณ 4 -5 พันล้านบาท และคาดว่าในปี 2567 จะมีรายรับเข้ามากว่า 7 หมื่นล้านบาท เมื่อหักรายจ่ายคาดว่าจะเหลือเงินสดในมือราว 3 หมื่นล้านบาท

นายกีรติ กล่าวด้วยว่า แผนลงทุนขยายขีดความสามารถของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โครงการที่มีความชัดเจนและยืนยันต้องลงทุนทันที คือ อาคารส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออก (East Expantion) รองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคนต่อปี งบประมาณลงทุน 9 พันล้านบาท เพิ่มพื้นที่ 66,000 ตารางเมตร เนื่องจากอาคารแห่งนี้จะแก้ปัญหาความแออัดเร่งด่วนได้ โดย ทอท.คาดว่าจะเปิดประมูลงานก่อสร้างได้ในเดือน เม.ย. - พ.ค.นี้ และเริ่มตอกเสาเข็มในเดือน ก.ค.2567 ใช้เวลาก่อสร้างกว่า 2 ปี เปิดให้บริการในปี 2570

สำหรับคอนเซ็ปต์ของการพัฒนาส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออก นอกจากต้องเพิ่มพื้นที่รองรับผู้โดยสาร  66,000 ตารางเมตร ทอท.ยังต้องการพัฒนาอาคารแห่งนี้ให้เป็นพื้นที่พักคอยก่อนการเดินทาง โดยจะนำโมเดลพัฒนามาจากท่าอากาศยานชิโตะเซะ ประเทศญี่ปุ่น ด้วยจุดเด่นในเรื่องของการบริหารพื้นที่สร้างประสบการณ์ร่วมกับผู้โดยสาร มีร้านอาคารประเภทสตรีทฟู้ด ร้านนวดสปา ตลอดจนแหล่งช็อปปิ้ง และพื้นที่ความบันเทิงร้านเกมส์ต่างๆ

หลังจากนั้น ทอท.มีแผนจะพัฒนาส่วนต่อยายอาคารด้านทิศตะวันตก (West Expansion) ที่อยู่ระหว่างการทบทวนรูปแบบการพัฒนา เพราะต้องยอมรับว่าแม้ส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลังเดิมทั้งด้านทิศตะวันออก และด้านทิศตะวันตกจะมีพื้นที่เท่ากัน แต่จำเป็นต้องศึกษาออกแบบรายละเอียดใหม่ เนื่องจากมีบางรายละเอียดของพื้นที่ที่อาจไม่เหมือนกัน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 1 ปีหลังจากนี้