SME D Bank ดันสินเชื่อปี 66 พุ่ง 7 หมื่นล้าน กดหนี้เสียเหลือ 8.38%

SME D Bank ดันสินเชื่อปี 66 พุ่ง 7 หมื่นล้าน กดหนี้เสียเหลือ 8.38%

SME D Bank ปล่อยสินเชื่อปี 66 พุ่ง 7 หมื่นล้านบาท กดหนี้เสียลงมา อยู่ที่ 8.38% วางเป้าปีนี้ปล่อยกู้ใหม่ 9 หมื่นล้านบาท เล็งตัดขายหนี้เสียเข้าเอเอ็มซีรัฐ 8 พันล้าน โชว์ 4 ปี สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 1 ล้านล้านบาท

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME D Bank เปิดเผยว่า ธนาคารสามารถบริหารจัดการหนี้เสียให้ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด สิ้นปี 2566 ยอดหนี้เสียอยู่ที่ 8.28% ของสินเชื่อคงค้าง 1.3 แสนล้านบาท จากที่เคยอยู่ในระดับสูงสุดราว 22% ของสินเชื่อคงค้าง ทั้งนี้ หนี้เสียดังกล่าว ธนาคารได้ดำเนินการตั้งสำรองมาตรฐานบัญชีสูงกว่า 103% ถือว่า มีความแข็งแกร่งแล้ว

สำหรับปัจจัยที่ทำให้ระดับหนี้เสียของธนาคารได้ทยอยลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น โดยในปี 2566 สามารถปล่อยสินเชื่อแก่เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนได้กว่า 7 หมื่นล้านบาท สร้างสถิติใหม่สูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งธนาคารมาใน 22 ปี และมีกำไร 613 ล้านบาท ส่วนปี 2567 ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ราว 9 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ดี ธนาคารยังมีลูกหนี้เอสเอ็มอีที่มีความอ่อนแอและอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

กรณีนโยบายการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์(เอเอ็มซี)ของสถาบันการเงินของรัฐนั้น ธนาคารยังไม่ได้มีการพูดคุยกันในกรณีดังกล่าว แต่ถ้าในสมาคมสถาบันการเงินของรัฐมีการเชิญชวน แบงก์เราก็สนใจ โดยมีแผนจะตัดหนี้ขายให้เอเอ็มซีประมาณ 8 พันล้านบาท จากมูลหนี้ที่มีการปรับโครงสร้างหนี้อยู่ 2 หมื่นล้านบาท

ตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (2563-2566) ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องอยู่ภายใต้สถานการณ์โควิด ธนาคารได้ช่วยเหลือดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องให้สามารถประคับประคองธุรกิจ โดยเติมทุนช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 2.3 แสนล้านบาท ก่อให้เกิดประโยชน์สร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 1 ล้านล้านบาท และช่วยรักษาการจ้างงานได้ประมาณ 7.5 แสนราย ควบคู่กับช่วยพัฒนาเสริมศักยภาพ

นอกจากนั้น ยังได้มีการเพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการด้วยการจัดอบรมสัมมนา ช่วยขยายตลาด ยกระดับมาตรฐาน สนับสนุนเข้าถึงนวัตกรรม พาจับคู่เพิ่มช่องทางขายในและต่างประเทศเป็นต้น มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าร่วมและได้รับประโยชน์มากกว่า 75,000 ราย

สำหรับปี 2567 การทำงานของ SME D Bank ยกระดับไปอีกขั้น นำระบบดิจิทัลใหม่ หรือ Core Banking System (CBS) ที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่องกว่า 2 ปี มาใช้งานอย่างเป็นทางการ สามารถให้บริการทางการเงินแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ครบวงจร ทุกที่ ทุกเวลา ตลอด 24 ชั่วโมง สะดวกรวดเร็ว และปลอดภัย

นอกจากนั้น ยังมีแพลตฟอร์ม DX (Development Excellent) ที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการภายในเดือนมี.ค. 2567 ซึ่งเป็นระบบพัฒนาผู้ประกอบการอัจฉริยะสร้างสังคมของการเรียนรู้ e-Learning ศึกษาได้ด้วยตัวเอง 24 ชม. สามารถปรึกษาโค้ชมืออาชีพแบบตัวต่อตัวรวมถึง ยังช่วยเพิ่มช่องทางขยายตลาด ขณะเดียวกัน จะให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมด้วย