"ไทย”เร่งสกัดสินค้าจีนตีตลาดชงรัฐคุมฟรีโซน-มาตรฐานนำเข้า

"ไทย”เร่งสกัดสินค้าจีนตีตลาดชงรัฐคุมฟรีโซน-มาตรฐานนำเข้า

หอการค้าไทย รับ สินค้าจีนทะลักไทย เพราะต้นทุนต่ำ ซ้ำเติมเอสเอ็มอีไทย ด้านพาณิชย์พร้อมใช้มาตรการ AD แนะคนไทยเลือกใช้สินค้าคุณภาพ “พาณิชย์” ประสาน “กรมศุลกากร” สกัดสินค้าลักลอบนำเข้า พร้อมศึกษาผลกระทบเอฟทีเออาเซียน-จีน

สินค้าจีนเข้ามาทำตลาดในไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งช่องทางการนำเข้าปกติ รวมถึงการนำเข้าผ่านช่องทางการค้าออนไลน์ โดยในปี 2566 ไทยและจีนมีมูลค่าการค้าร่วมกัน 104,964 ล้านดอลลาร์ โดยไทยส่งออกไปจีน 34,164 ล้านดอลลาร์ และไทยนำเข้าจากจีน 70,800 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 36,635 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นมูลค่าการขาดดุลการค้าที่สูงที่สุด

การที่สินค้าจีนเข้ามาทำตลาดในไทยเพิ่มขึ้นได้สร้างความกังวลต่อผู้ประกอบการไทย โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ได้ประเมินผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว

ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในไทย แต่กระทบกับตลาดภายในของอาเซียนและมีผลทำให้การส่งออกของไทยไปอาเซียน 9 ประเทศ ในปี 2566 มีมูลค่า 66,847 ล้านดอลลาร์ เทียบกับปีก่อนหน้า ติดลบ 7.1% เป็นการกลับมาติดลบครั้งแรกในรอบ 3 ปี นับจากปี 2563 ปีที่เริ่มมีวิกฤติโควิด-19 ไทยส่งออกไปอาเซียนติดลบ 11.75%

นอกจากนี้ กกร.กังวลปัญหาสินค้าราคาถูกที่เข้ามาทุ่มตลาดในไทยจากสินค้าออนไลน์ และการเข้ามาใช้ประโยชน์จาก Free Trade Zone เพื่อขายสินค้าในประเทศ รวมถึงการลักลอบนำเข้าสินค้าผ่านด่านศุลกากรโดยการสำแดงข้อมูลเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ซึ่งทำให้สินค้าราคาถูกรวมถึงสินค้าที่ไม่มีมาตรฐานทะลักเข้าตลาดในประเทศ ส่งผลกระทบต่อยอดขายสินค้าของผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs ที่ไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุนได้ 

นอกจากนี้ กกร.ได้มีข้อเสนอให้ภาครัฐพิจารณาดำเนินการ 5 แนวทาง ประกอบด้วย 1.ทบทวนกรณีข้อยกเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับการซื้อสินค้าออนไลน์ที่ไม่เกิน 1,500 บาท เพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับผู้ประกอบการไทย 

 

2.ทบทวนนโยบายและเงื่อนไขในการใช้สิทธิประโยชน์ใน Free Trade Zone 3.การออกมาตรการปกป้องผู้ประกอบการในประเทศ เช่น การนำมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนตลาด (Anti-Circumvention: AC) มาบังคับใช้ การเพิ่มความเข้มงวดการตรวจจับสินค้าที่นำเข้าผ่านด่านศุลกากร 5.การเร่งออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ให้ครอบคลุมมากขึ้น

หวั่นสินค้าจีนกระทบเอสเอ็มอี

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กกร.มีความเป็นห่วงและกังวลกับปัญหาสินค้าจีนราคาถูกที่เข้ามาทุ่มตลาดในไทยและในตลาดอาเซียน เพราะจะเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการ SMEs ไทยเพิ่มเติมขึ้นไปอีก 

ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า ประเทศจีนเป็นโรงงานของโลกมีความพร้อมทั้งวัตถุดิบ ซัพพลายเชน ในการผลิตสินค้า ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำ ส่งให้ราคาสินค้าถูก ประกอบกับการค้าขายในสมัยใหม่ใช้อีคอมเมิร์ซในการซื้อขายสินค้ามากขึ้น ก็ยิ่งทำให้สินค้าที่มีราคาถูกกว่าสินค้าไทยเข้ามาขายในประเทศไทยมากขึ้น ทำให้สินค้าจีนมีแต้มต่อทำให้สินค้าไทยสู้ยาก

นอกจากนี้สินค้าบางอย่างโดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ก็เป็นเรื่องที่น่ากังวลเพราะสินค้าหลายตัวไม่ได้รับการรับรอง    จากสำนักงานมาตราฐานสินค้าอุตสาหกรรม (สมอ.) แต่มีราคาถูก บางตัวก็ย้อมแมวมาขาย ซึ่งไม่ปลอดภัยกับผู้บริโภค ซึ่งเจ้าหน้าที่เองก็มีกำลังไม่เพียงพอที่จะไปเข้มงวดกวดขัน 

ขณะเดียวกันหากเข้มงวดเกินไปก็จะมีการร้องเรียนว่ากลั่นแกล้ง ดังนั้นจำเป็นที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำงานร่วมกัน และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งต้องทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย

ประสาน“กรมศุล”สกัดสินค้าลักลอบ

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กรณีที่ กกร.มีความกังวลกับปัญหาสินค้าราคาถูกที่เข้ามาทุ่มตลาดในไทยและในตลาดอาเซียน ทั้งจากสินค้าออนไลน์และการเข้ามาใช้ประโยชน์จาก Free Trade Zone เพื่อขายสินค้าในประเทศ ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

“อยากให้ผู้บริโภคคนไทยเลือกซื้อสินค้าทั้งอุปโภคและบริโภคให้คำนึงคุณภาพ เพราะสินค้าจีนราคาถูกมักมีปัญหาเรื่องคุณภาพ เช่น กางเกงช้าง ที่ของจีนมาขายในไทย แต่ของไทยมีคุณภาพมากกว่า ความแข็งแรงคงทนมีมากกว่า” 

นอกจากนี้กระทรวงประสานความร่วมมือกับกรมศุลกากรป้องกันและควบคุมการนำเข้าสินค้าผ่านแดน ให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเข้มงวดไม่ให้ลักลอบนำเข้ารวมถึงสินค้าเกษตรด้วย 

ศึกษาผลกระทบเอฟทีเออาเซียน-จีน

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สินค้าจีนเข้าสู่เมืองไทยในเวลานี้ มาจากกฎระเบียบต่างๆที่สร้างขึ้น เช่น เรื่องของภาษีเป็นศูนย์จากข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ทำให้สินค้าทะลักเข้ามามาก โดยการนำเข้าสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะของการนำเข้ามาเป็นตู้ ขณะที่สินค้าที่ขายผ่านอีคอมเมิร์ชก็เติบโตเพิ่มขึ้นถึง 20% บางวันเป็นล้านชิ้น แต่การนำเข้าผ่านเขตปลอดภาษีอากรยังไม่มากนัก

อย่างไรก็ตามขณะนี้มีคณะกรรมการที่มีผู้ช่วยรัฐมนตรีเป็นประธานคณะทำงานในส่วนของการค้าระหว่างไทย อาเซียนและจีน กำลังศึกษาสินค้าไทยว่า มีสินค้าอะไรบ้างที่ขายผ่านเขตการค้าเสรีบ้าง ขณะนี้อยู่ระหว่างการสรุปข้อมูล  

“ยืนยันว่ากระทรวงพาณิชย์พยายามศึกษาทำอย่างไรให้โอกาสของ SMEs ไทยได้เติบโตได้และไม่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าและมีการแข่งอย่างเสรีและเป็นธรรมและเร็วๆนี้ คณะทำงานจะลงพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร เพื่อติดตามการนำเข้าสินค้าต่างๆว่ามีมาตรฐานอย่างไร”

นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์มีกฏหมายดูแลการทุ่มตลาดทั้งมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty:CVD)มาตรการปกป้องทางการค้า (Safeguards) มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping) 

ทั้งนี้หากผู้ประกอบการพบว่า นำเข้าสินค้าที่ราคาถูกกว่าที่ขายในประเทศผู้ผลิต มาทุ่มตลาดในไทยทางผู้ผลิตหรือผู้ประการภายในประเทศ สามารถร้องเรียนได้ที่กรมการค้าต่างประเทศ เพื่อขอเปิดไต่สวนตามกฎหมาย ซึ่งกระทรวงไม่สามารถที่จะดำเนินไต่สวนได้ด้วยตัวเอง