จับตา 'ไทย-กัมพูชา' ถกพื้นที่ทับซ้อน 'ปตท.สผ.' พร้อมลงทุนสำรวจปิโตรฯ

จับตา 'ไทย-กัมพูชา' ถกพื้นที่ทับซ้อน 'ปตท.สผ.' พร้อมลงทุนสำรวจปิโตรฯ

“เศรษฐา-ฮุน มาเนต” หารือทวิภาคี เจรจาพื้นที่ทับซ้อน “ไทย-กัมพูชา” 7 ก.พ. 67 จับตาตั้งประธานร่วมด้านเทคนิคคุมการเจรจา “พลังงาน” สนถกแยกพื้นที่มีปัญหาเขตแดนกับพื้นที่พัฒนาร่วม "พิชัย" เผยรัฐบาลชุดที่แล้วร่าง MOU ฉบับใหม่ หนุนแยกพื้นที่ "ปตท.สผ." พร้อมลงทุนสำรวจปิโตรฯ

Key Points

  • นายกรัฐมนตรีไทยและกัมพูชากำลังจะหารือทวิภาคีครั้งสำคัญ และประเด็นพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลเป็นวาระร้อนที่หลายฝ่ายจับตา
  • การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนยังต้องยึด MOU ปี 2544 ที่เจรจาพื้นที่ที่มีปัญหาเขตแดนควบคู่พื้นที่ที่จะพัฒนาปิโตรเลียมร่วมกัน
  • รัฐบาลชุดที่แล้วได้มีการร่าง MOU ฉบับใหม่ ที่แยกการเจรจา 2 ส่วนออกจากกัน เพื่อให้มีข้อสรุปการพัฒนาที่พื้นทับซ้อน
  • ปตท.สผ.ที่ได้สิทธิสำรวจและผลิตในอดีตยืนยันว่าหากรัฐบาลเจรจาสำเร็จก็พร้อมที่จะลงทุนผลิตและสำรวจปิโตรเลียม

นายฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่มีกำหนดการเดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 ก.พ.2567 ในฐานะแขกของรัฐบาล เพื่อหารือกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี รวมถึงจะมีการหารือกันในด้านความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศ ในหลายด้าน

ประเด็นการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนเป็นหนึ่งในประเด็นที่นายกรัฐมนตรีระบุว่าจะมีการเจรจาร่วมกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องยกขึ้นมาหารือและควรตกลงกันขุมทรัพย์พลังงานที่มีมูลค่าระดับล้านล้านบาท เพื่อให้มีส่วนผลักดันเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ

สำหรับการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางพลังงาน (Overlapping Claims Area : OCA) ยังอยู่ในกรอบการเจรจาตามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (MOU ปี 2544) ซึ่งลงนามกันเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2544 มีแนวทางในการเจรจา 2 ส่วน คือ

1.จัดทำความตกลงสำหรับการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียมที่อยู่ในพื้นที่ทับซ้อนให้มีการพัฒนาร่วม

2.ตกลงแบ่งเขตทางทะเลในพื้นที่ทับซ้อนที่กำหนดให้มีการแบ่งเขตทางทะเลบนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

สำหรับการดำเนินการดังกล่าวจะทำในลักษณะที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ โดยทั้ง 2 ฝ่ายจะใช้กลไกคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านมามี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา ส่วนรัฐบาลปัจจุบันยังไม่มีการแต่งตั้งประธานคนใหม่

ส่วนการดำเนินการในช่วงที่ผ่านมามีการตั้งคณะทำงาน 2 ชุด คือ 1.คณะทำงานว่าด้วยการแบ่งเขตทางทะเล มีอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้า และ 2.คณะทำงานว่าด้วยระบอบการพัฒนาร่วม มีอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน เป็นหัวหน้า

“พลังงาน”เตรียมโมเดลพัฒนาร่วม

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้จัดเตรียมข้อมูลสำหรับการเจรจาตามนโยบายของรัฐบาล โดยได้มีการพิจารณาหลักเกณฑ์เงื่อนไขของสัญญาหรือสัมปทานปิโตรเลียม และยกร่างรูปแบบการบริหารและการจัดการที่จะนำมาใช้ในการสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมในเขตพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-กัมพูชา

แหล่งข่าว กล่าวว่า ข้อมูลที่กระทรวงพลังงานจัดเตรียมครอบคลุมการเจรจาจัดทำข้อตกลงสำหรับการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียม ซึ่งอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนกันใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ พื้นที่ 16,000 ตารางกิโลเมตร โดยมีเป้าหมายทำความตกลงพัฒนาปิโตรเลียมร่วมกัน (JDA

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานเห็นว่าควรมีการแยกเจรจาระหว่างส่วนที่เกี่ยวข้องกับเขตแดนทางทะเลกับส่วนที่เป็นพื้นที่พัฒนาร่วมทางทะเล ซึ่งแนวทางดังกล่าวจำเป็นต้องปรับแนวทางการเจรจาและแนวทางการดำเนินทำงานใหม่ เพราะแนวทางตาม MOU ปี 2544 กำหนดให้เจรจาทั้ง 2 ส่วน แยกกันไม่ได้ โดยกระทรวงพลังงานเห็นว่าควรเน้นการใช้ประโยชน์ทางด้านพลังงานที่ไม่เกี่ยวกับการแบ่งเขตแดน

เผยรัฐบาลประยุทธ์ร่าง MOU ใหม่ไว้

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในการหารือวันที่ 7 ก.พ. 2567 เกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อน ไทย-กัมพูชา หวังว่าจะได้ข้อยุติ

ทั้งนี้ การเจรจาเพื่อพัฒนาพื้นที่ร่วมกันจำเป็นต้องลืมข้อตกลง MOU ปี 2544 และร่าง MOU ฉบับใหม่ ซึ่งในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มอบหมายให้ พล.อ.ประวิทย์ วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ขณะนั้น เป็นผู้ดำเนินการเจรจาและร่าง MOU ฉบับใหม่ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป ดังนั้น เมื่อถึงรัฐบาลนายเศรษฐา คงเห็นความสำคัญด้านทรัพยากรพลังงานในอ่าวไทยจึงไม่ต้องการให้สูญเปล่า

“ร่าง MOU ฉบับใหม่ทำไว้แล้ว แต่สุดท้ายกระทรวงการต่างประเทศก็ล้มเลิก โดยจะเน้นการนำก๊าซธรรมชาติมาแบ่งกัน และไม่เน้นเส้นแบ่งเขตแดน เพราะถ้าหารือเขตแดนไม่ว่าประเทศไหนก็คุยไม่จบ จึงต้องหาทางทำอย่างไรให้ได้ก๊าซมาในช่วงที่ยังมีราคาอยู่”

อย่างไรก็ตาม ในร่าง MOU ฉบับใหม่ สมัย พล.อ.ประยุทธ์ มีผู้แทนหลายฝ่ายร่วมดำเนินการทั้งความมั่นคงและกระทรวงพลังงาน แต่ไม่ได้ข้อยุติจนถึงขั้นลงนาม ซึ่งอาจติดขัดบางประเด็นโดยเฉพาะสิทธิของผู้รับสิทธิการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรายเดิมที่รัฐบาลไทยอนุมัติเมือปี 2511 และรัฐบาลกัมพูชาอนุญาตให้สิทธิสำรจและผลิตปิโตรเลียมเช่นกัน จึงต้องเจรจาว่าจะจัดการส่วนนี้อย่างไร

ทั้งนี้ ก๊าซจากแหล่งพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ไทย-กัมพูชา มีปริมาณมาก ซึ่งจะมีมากกว่าหรือเท่ากับแหล่งเดิมในอ่าวไทยที่ไทยใช้มาแล้วกว่า 30 ปี คาดกันว่ามีมูลค่ากว่า 10 ล้านล้านบาท  รวมทั้งในอ่าวไทยเป็นก๊าซเปียก (Wet Gas) ที่นำมาเข้าโรงแยกก๊าซและนำไปทำธุรกิจปิโตรเคมีได้ ซึ่งไทยมีโรงแยกก๊าซอยู่แล้ว 6 แห่ง และมีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขนาดใหญ่รองรับ จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้ 6-20 เท่า 

ปตท.สผ.พร้อมลงทุนสำรวจ

รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า พื้นที่ทับซ้อนกันใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ ที่มีพื้นที่เป้าหมายพัฒนาร่วมกัน 16,000 ตารางกิโลเมตร รัฐบาลไทยได้ให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม

ส่วนผู้ได้รับสัมปทานพื้นที่ทับซ้อนจากรัฐบาลไทยเมื่อปี 2511 แบ่งเป็น 5 ส่วน ประกอบด้วย

1.แปลง B5 และ B6 คือ Idemitsu Oil เป็นผู้ดำเนินงานหลัก (Operator) ถือสัดส่วน 50% และพันธมิตรมี Chevron E&P สัดส่วน 20% ,Chevron Blocks 5 and 6 สัดส่วน 10% ,Mitsui Oil Exploration Co.Ltd. สัดส่วน 20%

2.แปลง B7,B8 และ B9 คือ British Gas Asia เป็นผู้ดำเนินงานหลักถือสัดส่วน 50% และพันธมิตร คือ Chevron Overseas สัดส่วน 33.33% และ Petroleum Resources สัดส่วน 16.67%

3.แปลง B10 และ B11 คือ Chevron Thailand E&P เป็นผู้ดำเนินการหลัก ถือสัดส่วน 60% และพันธมิตร คือ Mitsui Oil Exploration สัดส่วน 40%

4.แปลง B12 และ B13 (บางส่วน) คือ Chevron Thailand E&P เป็นผู้ดำเนินการหลัก ถือสัดส่วน 80% และพันธมิตร คือ Mitsui Oil Exploration สัดส่วน 20%

5.แปลง G9/43 และ B14 ผู้รับสิทธิ คือบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ

สำหรับพื้นที่ที่ ปตท.สผ.ได้รับสิทธิเป็นแปลงที่อยู่ล่างสุดของพื้นที่ทับซ้อนซ้อน โดยสิทธิในการสำรวจและผลิตในพื้นที่ดังกล่าวได้หยุดนับเวลาไว้นับตั้งแต่มีการโต้แย้งของทั้ง 2 ประเทศ

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า หากรัฐบาลไทยสามารถเจรจาได้สำเร็จ ปตท.สผ.ก็พร้อมที่จะเข้าไปดำเนินการตามนโยบายของภาครัฐเพื่อนำเอาทรัพยากรที่เป็นประโยชน์มาสนับสนุนประเทศชาติ 

“ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่จะช่วยลดขั้นตอนการขุดเจาะสำรวจได้ดี และเชื่อว่าหากเป็นพื้นที่ติดกับแหล่งเอราวัณจะสามารถลดระยะเวลาจากระดับ 6-7 ปี ลดลงมาเหลือ 2-3 ปี ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าก็คงเป็นไปไม่ยาก” นายมนตรี กล่าว