ดอกเบี้ยสูง เศรษฐกิจทรุด กำลังทำหนี้เสียปะทุ!

ดอกเบี้ยสูง เศรษฐกิจทรุด กำลังทำหนี้เสียปะทุ!

แม้ยังไม่เป็นที่แน่นอนว่า กนง. จะตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยลงหรือไม่ เพราะอาจรอดูท่าทีของเฟดก่อน แต่สำนักวิจัยต่างๆ ก็ยังมองว่า ไม่จำเป็นต้องรอ เพราะเศรษฐกิจไทยกับสหรัฐมีความแตกต่างกัน และหากดอกเบี้ยยังคงสูงต่อไปเรื่อยๆ กลุ่มเศรษฐกิจฐานรากย่อมได้รับผลกระทบ

วันนี้ช่วงบ่ายๆ น่าจะรู้ผลแล้วว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะตัดสินใจอย่างไรกับดอกเบี้ยนโยบายไทย ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า จะยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับเดิม คือ 2.5% ...อันนี้ต้องย้ำก่อนว่าเป็นการคาดการณ์ผลตัดสินของ กนง. เพราะถ้าถามความเห็นของตัวสำนักวิจัยต่างๆ เองแล้ว หลายที่เริ่มมองว่า “ควรต้องลด” เพราะเศรษฐกิจไทยเวลานี้ถือว่าอาการหนัก โดยเฉพาะกลุ่มฐานรากและผู้ประกอบการขนาดกลางย่อม ซึ่งกลุ่มนี้โดนผลกระทบเต็มๆ จากอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่า กนง. จะเริ่มเอาดอกเบี้ยลงหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ปรับลดดอกเบี้ย คำถามคือ ทำไมเราต้องรอให้ เฟด ลดดอกเบี้ยลงก่อน ในเมื่อภาพเศรษฐกิจไทยกับสหรัฐแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ...ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 4 ปี 2566 ของสหรัฐที่ประกาศออกมาเติบโต 3.3% สูงกว่าตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 1.8% ขณะที่ของไทยไตรมาส 4 เดิมคาดว่าจะเติบโตในระดับ 4% แต่ล่าสุดดูเหมือนหน่วยงานต่างๆ ยอมรับแล้วว่าอาจเติบโตใกล้เคียงกับช่วงไตรมาส 3 คือระดับ 1.5% เท่านั้น แถมเงินเฟ้อยังติดลบ 1.1% เป็นระดับต่ำสุดในรอบ 35 เดือน ...แบบนี้เราควรต้องรอให้สหรัฐลดดอกเบี้ยก่อนหรือไม่?

อาจมีคนห่วงว่าถ้า “ไทย” ลดดอกเบี้ยลงในตอนนี้จะยิ่งทำให้ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐถ่างจากกันมากขึ้น ปัจจุบันสหรัฐอยู่ที่ 5.25-5.5% ส่วนของไทย 2.5% ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงหนัก ซึ่งประเด็นนี้น่าคิดต่อว่า เศรษฐกิจไทยเวลานี้ต้องการเห็นเงินบาทอ่อนค่าหรือแข็งค่ามากกว่ากัน การที่เงินบาทอ่อนค่าลงน่าจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการกลุ่มส่งออกของไทยที่จะมีรายได้เป็นเงินบาทเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่การท่องเที่ยวก็น่าจะได้อานิสงส์เชิงบวกจากค่าเงินที่อ่อนค่าลงด้วยหรือไม่

ประเด็นที่อยากชวนคิดไปไกลกว่านั้น คือ ทำไมเราต้องคงดอกเบี้ยในระดับสูงท่ามกลางเศรษฐกิจที่กำลังจะเป็นโรคซึมเศร้า ...ขอย้อนกลับไปดูอดีต ปกติแล้วสินเชื่อธนาคารพาณิชย์มักโตเกือบๆ 2 เท่าของจีดีพี เช่น ถ้าจีดีพีประเทศโต 3% สินเชื่อมักโตราว 6% ทำให้แบงก์ชาติกลัวว่าจะสร้างความไม่มีเสถียรภาพในระบบการเงิน คนใช้จ่ายเกินตัว ลงทุนเกินตัว จึงต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดับความร้อนแรง แต่ปัจจุบันถ้าดูการเติบโตของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์เรียกว่าตรงกันข้ามกับอดีตเลย ในปี 2566 คาดการณ์ว่าสินเชื่อธนาคารพาณิชย์อาจโตได้เพียง 0.2% เรียกว่าเกือบจะติดลบ ขณะที่จีดีพีแม้โตต่ำคาดก็น่าจะอยู่ในระดับราวๆ 2% จึงไม่เห็นความจำเป็นที่แบงก์ชาติจะคุมดอกเบี้ยในระดับสูงเพื่อสกัดความร้อนแรงของสินเชื่อ เพราะแทบจะไม่เติบโตเลย

อีกเหตุผลที่แบงก์ชาติมักหยิบมาใช้ในการปรับขึ้นดอกเบี้ย คือ เพื่อต้องการเก็บกระสุนทางการเงินไว้รับมือกับความไม่แน่นอนหรือวิกฤติที่อาจเผชิญในระยะข้างหน้า ซึ่งประเด็นนี้เราเห็นด้วย 100% เพียงแต่มีข้อสงสัยว่า สถานการณ์ในขณะนี้ถึงเวลาที่ต้องหยิบกระสุนมาใช้บ้างแล้วหรือยัง เพราะคนกลุ่มล่างจะไม่ไหวกันแล้ว และยังมีความเสี่ยงว่าดอกเบี้ยที่สูงกำลังจะทำให้หนี้เสียปะทุ!