เทียบปมขาดคุณสมบัติ ‘อินชอน – นทลิน’ ประมูลเมกะโปรเจกต์คมนาคม

เทียบปมขาดคุณสมบัติ ‘อินชอน – นทลิน’ ประมูลเมกะโปรเจกต์คมนาคม

เทียบปมขาดคุณสมบัติสองผู้ประมูลโครงการภาครัฐ “อินชอน” หนึ่งในคู่ชิง “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” พบเอกสารทางการเงินบางรายการระบุไม่ชัดเจน และบางรายการไม่ได้เสนอเอกสารไว้ ขณะที่ “นทลิน” เคยถูกตัดสิทธิประมูล “แหลมฉบัง 3” เหตุเอกสารไม่ครบถ้วน

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) นับเป็นอีกหนึ่งโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2563 ได้มีมติอนุมัติการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในรูปแบบ PPP Net Cost แบ่งเป็น

  • ภาครัฐลงทุนค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินโครงการรถฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ -ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
  • ภาคเอกชนลงทุนค่างานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตก และค่างานระบบรถไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้า บริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาทั้งเส้นทาง ตั้งแต่ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) รวมทั้งค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ โดยมีระยะเวลาเดินรถ 30 ปี นับจากเริ่มเปิดให้บริการ

ขณะที่หลักเกณฑ์ในการพิจารณาการคัดเลือก วิธีการและหลักเกณฑ์ในการตัดสิน กำหนดในเอกสารประกาศเชิญชวนว่า การจัดทำข้อเสนอจะต้องจัดทำให้ครบถ้วนถูกต้อง ตามที่กำหนดในเอกสารประกอบการจัดทำข้อเสนอ โดยแบ่งเป็น 4 ซอง ดังนี้

ซองที่ 1 ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ

ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค

ซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน

ซองที่ 4 ข้อเสนออื่นๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการให้บริการ และการดำเนินงานของ รฟม.

โดยข้อมูลในข้อเสนอทั้งหมดต้องได้รับการตรวจสอบและรับรองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในกรณีที่เป็นนิติบุคคลต่างชาติจะต้องได้รับการรับรองโดยสถานเอกอัครราชทูตไทยในประเทศต้นทางนั้นด้วย

โดยภายหลัง รฟม.ได้เปิดรับซองข้อเสนอ พร้อมตรวจเอกสารยื่นข้อเสนอของเอกชนแล้ว พบว่ามีเอกชนผ่านเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือก และมีผลการยื่นข้อเสนอ ประกอบด้วย

- บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จํากัด (มหาชน) เสนอผลประโยชน์สุทธิ* (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ – 78,287.95 ล้านบาท

- ITD Group เสนอผลประโยชน์สุทธิ* (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ – 102,635.66 ล้านบาท

ขณะที่กระบวนการพิจารณาข้อเสนอเป็นที่สิ้นสุดเมื่อวันที่ 16 ก.ย.2565 โดยคณะกรรมการคัดเลือก ม.36 ได้พิจารณาผลการประเมินซองข้อเสนอซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน ซึ่งผลปรากฏว่า บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) เป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินสูงสุด

ท่ามกลางช่วงเวลาของการพิจารณาข้อเสนอของเอกชนที่มีการประกาศผลการคัดเลือกมีเอกชน 2 รายผ่านเกณฑ์ข้อกำหนดนั้น แต่กลับพบข้อมูลรายงานการประชุมคณะกรรมการคัดเลือก ม.36 เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2565 มีการระบุถึงข้อมูลการตรวจสอบเอกสารข้อเสนอของกลุ่ม ITD Group โดยระบุว่า

จากการตรวจสอบข้อเสนอด้านคุณสมบัติของ ITD Group เอกสารส่วนใหญ่มีความถูกต้อง ครบถ้วน มีการรับรองเอกสารถูกต้อง มีเอกสารเพียงบางรายการที่ต้องค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจากข้อมูลที่เสนอ รวมถึงจากเว็บไซต์ทางการของ Incheon Transit Corporation  (ITC) ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มนิติบุคคล โดยมีเอกสารที่ต้องค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจากข้อมูลที่เสนอ รวมถึงจากเว็บไซต์ของ ITC เอกสารจำนวน 4 รายการ ประกอบด้วย

 

1.โครงสร้างการจัดการของบริษัทหรือของกลุ่มนิติบุคคล

2.ข้อมูลเกี่ยวกับคดีฟ้องร้องหรือหารวินิจฉัย โดยอนุญาโตตุลาการในระยะ 5 ปี ที่ผ่านมาของ ITC

3.แบบฟอร์มสถานะการเงินของ ITC

4.เอกสารทางบัญชีที่ตรวจสอบและรับรองแล้วย้อนหลัง 3 ปี ของ ITC ซึ่งเอกสารบางรายการได้เสนอข้อมูลไว้แต่ไม่ระบุชัดเจน และบางรายการไม่ได้เสนอเอกสารไว้

ขณะเดียวกันยังมีรายงานที่ประชุมระบุไว้ด้วยว่า จากกรณีที่เอกสารของ ITC บางรายการได้เสนอข้อมูลไว้แต่ไม่ได้ระบุให้ชัดเจน และบางรายการไม่ได้เสนอเอกสารไว้ ที่ปรึกษาโครงการ คือ Bangkok Mass Transit Orange Line Consultants (BMTO) จึงได้ดำเนินการสืบค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ของ ITC เพื่อประกอบการพิจารณาเอกสารทั้ง 4 รายการ

ส่งผลให้ในการประชุมคณะกรรมการ ม.36 เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2566 มีความเห็นจากผู้สังเกตการณ์ด้วยว่า เอกสารทางบัญชีของ ITC ควรให้บริการเป็นผู้แปลและยืนยันเอกสารมา ที่ปรึกษา BMTO ไม่สามารถพิจารณาจากการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมทางเว็บไซต์ อีกทั้งข้อกำหนดใน RFP ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า ผู้ยื่นข้อเสนอต้องยื่นเอกสารทางการเงิน

รวมทั้งหาก RFP ระบุว่าต้องส่งเอกสารดังกล่าว ไม่ว่าเอกสารนั้นจะใช่หรือไม่ใช่ข้อมูลสาธารณะก็จะต้องยื่นเอกสารนั้นมา เมื่อเอกสารไม่ควรแล้วให้ ITC นำส่งเอกสารเพิ่มเติม จะผิดต่อเงื่อนไข RFP และเอกสารที่จะนำส่งมาประกอบการพิจารณาข้อเสนอเนื่องจากเป็นเอกสารจากต่างประเทศ ต้องถูกแปลมาและต้องได้การรับรองจาก Notary Public ด้วย

ทั้งนี้ จากกรณี ITC เอกสารบางรายการได้เสนอข้อมูลไว้แต่ไม่ระบุชัดเจน และบางรายการไม่ได้เสนอเอกสารไว้ และที่ปรึกษา BMTO ได้ใช้วิธีสืบค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ของ ITC อีกทั้งยังมีการตั้งข้อสังเกตจากผู้สังเกตุการณ์ที่เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการ ม.36 ว่าเอกสารที่จะนำส่งมาประกอบการพิจารณาข้อเสนอเนื่องจากเป็นเอกสารจากต่างประเทศ ต้องถูกแปลมาและต้องได้การรับรองจาก Notary Public ด้วย

จึงเป็นที่น่าจับตามองว่ากรณีที่เกิดขึ้นนี้ อาจขัดต่อข้อกำหนดในเอกสารเชิญชวน และเอกสารประกวดราคาที่ระบุไว้ว่า “การจัดทำข้อเสนอจะต้องจัดทำให้ครบถ้วนถูกต้อง” นอกจากนี้ ยังกำหนดด้วยว่า “ข้อมูลในข้อเสนอทั้งหมดต้องได้รับการตรวจสอบ และรับรองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในกรณีที่เป็นนิติบุคคลต่างชาติจะต้องได้รับการรับรอง โดยสถานเอกอัครราชทูตไทยในประเทศต้นทางนั้นด้วย” 

โดยหากเทียบเคียงกับกรณีเอกชนประมูลโครงการภาครัฐ และพบว่านำส่งเอกสารไม่ครบถ้วนตามข้อกำหนด เฉพาะในส่วนของโครงการที่เกี่ยวข้องกับเมกะโปรเจกต์ของกระทรวงคมนาคมก็พบว่า “โครงการแหลมฉบัง ระยะที่ 3” มีเอกชนในชื่อ กลุ่มกิจการร่วมค้า เอ็นพีซี (NCP) ประกอบด้วย

บริษัท นทลิน จำกัด, บริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด, บริษัท พีเอชเอส ออแกนิค ฮีลลิ่ง จำกัด, บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นผู้ไม่ผ่านการประเมินเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 ซองคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ เนื่องจากสัญญากิจการร่วมค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ของกลุ่มฯ ลงนามไม่ครบถ้วน และไม่ถูกต้อง ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารคัดเลือกเอกชนของโครงการ

เนื่องจากตามระเบียบกำหนดไว้ว่า บริษัทที่มาร่วมกันเป็นกิจการร่วมค้าต้องลงลายมือชื่อร่วมกัน “สมาชิกแต่ละรายต้องให้ผู้มีอำนาจลงนามลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัท เพื่อยืนยันความถูกต้องของเอกสารข้อเสนอด้านคุณสมบัติของตน และอีกทั้งสมาชิกทุกราย ต้องให้ผู้มีอำนาจลงนามลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัท เพื่อยืนยันว่าเอกสารฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของเอกสารข้อเสนอ”