เปิดโรดแมพ 3 เฟส ดันเป้าหมายไทย ‘ฮับการบิน’

เปิดโรดแมพ 3 เฟส ดันเป้าหมายไทย ‘ฮับการบิน’

กางแผน “คมนาคม” ขับเคลื่อนไทยสู่เป้าหมาย “ฮับการบิน” หลังนายกฯ ประกาศชัด มี.ค.นี้ จ่อยกระดับ “Aviation upgrade” ครั้งใหญ่ ด้าน กพท.ชูแผนปฏิบัติการ 3 ระยะ หนุนอันดับประเทศด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศในทวีปเอเชียแปซิฟิกติด 1 ใน 5

“มี.ค.นี้ รัฐบาลจะประกาศแผนยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นฮับการบินของภูมิภาค (Aviation upgrade) ครั้งใหญ่” นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวบางช่วงของปาฐกถาพิเศษในงาน TNN DINNER TALK Thailand Level Up ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งครั้งของการประกาศนโยบายรัฐบาลสู่การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบิน ที่มีบทบาทสำคัญสร้างรายได้ให้กับประเทศ จากการเดินทางท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปัจจุบัน

โดยภายใต้แผนยกระดับประเทศไทยสู่การเป็น “ฮับการบินของภูมิภาค” นายกฯ ยังระบุด้วยว่า จะมีแผนการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ และปรับปรุงท่าอากาศยานเดิมทั่วประเทศ เช่น ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานเชียงใหม่ นอกจากนี้จะมีการเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ด้วยแผนก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) ที่ 3 และ 4

อีกทั้งอุตสาหกรรมการบินจะมีการปรับปรุงระบบซอฟต์แวร์ของท่าอากาศยานหลายแห่งในการให้บริการแก่ผู้โดยสาร รองรับต่อการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยว นอกจากนี้นายกฯ ยังมีแนวคิดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับเปลี่ยนนโยบายส่วนของค่าลงจอดอากาศยาน (Landing Fee) กับค่าปรับกรณีลงจอดล่าช้า ซึ่งประเทศไทยคิดค่า Landing Fee สูง แต่ค่าปรับการลงจอดช้าในอัตราที่ต่ำ

ซึ่งตรงนี้ต้องปรับเปลี่ยนสลับกันเป็นการคิดค่า Landing Fee ให้ต่ำ แต่คิดค่าปรับลงจอดช้าหรือดีเลย์ให้แพงขึ้น โดยมองว่าการปรับเปลี่ยนมาตรการลักษณะนี้ จะสามารถดึงดูดสายการบินมาลงที่ท่าอากาศยานในไทยได้เพิ่มขึ้น และจูงใจให้คนมาใช้บริการท่าอากาศยานในไทยมากขึ้น

ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมการบินของไทย จะต้องบริหารท่าอากาศยาน เพิ่มอัตราการเปลี่ยนเครื่อง การต่อเที่ยวบิน (Transit) ของผู้โดยสารให้มากขึ้น เพราะปัจจุบัน Transit ของผู้โดยสารในไทยยังน้อยอยู่มาก เช่น ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในปีที่มีผู้โดยสารสูงถึง 40 ล้านคน แต่กลับพบว่ามีอัตราการ Transit แค่ 1.5% ขณะที่ท่าอากาศยานชั้นนำอื่นๆ ในโลกมีอัตราการ Transit อยู่ที่ 20 – 30% ภาพรวมมากกว่าไทยหลายเท่าตัว

อย่างไรก็ดี บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. หน่วยงานผู้กำกับดูแล 6 ท่าอากาศยานหลักของประเทศไทย ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ และท่าอากาศยานเชียงราย

ขณะนี้มีแผนลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยาน และพัฒนาบริการผู้โดยสาร ระหว่างปี 2566 - 2570 รวมวงเงินลงทุนกว่า 2.4 แสนล้านบาท ประกอบด้วย

ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

โครงการก่อสร้างอาคารส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลัก ด้านทิศตะวันออก (East Expansion)

  • เพิ่มพื้นที่ 66,000 ตารางเมตร
  • รองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคนต่อปี
  • วงเงินลงทุน 7,830 ล้านบาท

โครงการก่อสร้างอาคารส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันตก (West Expansion)

  • เพิ่มพื้นที่ 66,000 ตารางเมตร
  • รองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคนต่อปี
  • วงเงินลงทุน 7,830 ล้านบาท

โครงการพัฒนาอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ (North Expansion)

  • เพิ่มพื้นที่ 348,000 ตารางเมตร
  • รองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคนต่อปี
  • วงเงินลงทุน 40,000 ล้านบาท

โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3

  • เพิ่มพื้นที่ 160,000 ตารางเมตร
  • รองรับผู้โดยสาร 50 ล้านคนต่อปี
  • วงเงินลงทุน 36,829 ล้านบาท

ท่าอากาศยานล้านนา

  • รองรับผู้โดยสาร 20 ล้านคนต่อปี
  • วงเงินลงทุน 70,000 ล้านบาท

ท่าอากาศยานอันดามัน

  • รองรับผู้โดยสาร 20 ล้านคนต่อปี
  • วงเงินลงทุน 80,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ทอท.ได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาให้บริการ ได้แก่ เครื่อง CUSS (Common Use Self Service) สำหรับผู้โดยสารสามารถเช็กอินด้วยตนเอง และเครื่อง CUBD (Common Use Bag Drop) สำหรับให้ผู้โดยสารสามารถโหลดกระเป๋าสัมภาระได้เอง รวมไปถึงระบบส่งคืนถาดใส่สัมภาระอัตโนมัติ(Automatic Return Tray System: ARTS) ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาความคับคั่งในการรอต่อคิว ณ เคาน์เตอร์ตรวจบัตรโดยสาร และบริเวณจุดตรวจค้นผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ รวมไปถึงการเชื่อมต่อข้อมูลการบริการต่างๆ ของสนามบินไปไว้บนแอปพลิเคชัน SAWASDEE by AOT เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ตลอดเวลา

ขณะที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) วางแผนผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค โดยประเมินไทม์ไลน์ของการดำเนินงาน แบ่งเป็น

ระยะสั้นปี 2567 – 2568

  • ขยายขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบิน 1.2 ล้านเที่ยวบินภายในปี 2568
  • ขยายขีดความสามารถในการองรับผู้โดยสาร 180 ล้านคนภายในปี 2568
  • มีกลยุทธ์ด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศ
  • ลดระยะเวลาการต่อเครื่อง MCT (Minimum connecting time) 75 นาที
  • การบริการจัดการอากาศยานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ระยะกลางปี 2569 – 2571

  • ขยายขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบิน 1.4 ล้านเที่ยวบินภายในปี 2571
  • ขยายขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร 210 ล้านคนภายในปี 2571
  • อันดับของประเทศด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศในทวีปเอเชียแปซิฟิกดีขึ้น
  • ลดระยะเวลาการต่อเครื่อง MCT (Minimum connecting time) 60 นาที

ระยะยาวปี 2572 – 2580

  • ขยายขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบิน 2.1 ล้านเที่ยวบินภายในปี 2580
  • ขยายขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร 270 ล้านคนภายในปี 2580
  • อันดับของประเทศด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศในทวีปเอเชียแปซิฟิก อันดับ 1 ใน 5
  • ลดระยะเวลาการต่อเครื่อง MCT (Minimum connecting time) 45 นาที

โดยการขับเคลื่อนโครงการมุ่งสู่ Aviation Hub อุตสาหกรรมการบินจะต้องเพิ่มขีดความสามารถของห้วงอากาศผ่านการคำนวณเส้นทางบินที่เหมาะสม ลดเวลาทำการบิน ลดการใช้เชื้อเพลิง และลดจุดตัดทางการบิน นอกจากนี้ต้องเดินหน้าขยายการลงทุนท่าอากาศยานหลัก และภูมิภาคให้รองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินได้มากขึ้น

อีกทั้งส่วนสำคัญต้องบริหารจัดการตารางการบิน (Slot) อย่างมีประสิทธิภาพ ขยายขีดความสามารถของทางวิ่งเพื่อรองรับการจัดสรรเวลา (Slot) เพิ่มเติม ตลอดจนปรับปรุงกระบวนการเชื่อมต่อระบบขนส่งผู้โดยสารและสัมภาระระหว่างอาคารเพื่อลดระยะเวลาในการเปลี่ยนเที่ยวบิน และการเพิ่มขีดความสามารถในด้านบริการผู้โดยสารด้วยระบบเทคโนโลยี การจัดหาและติดตั้งระบบกล้อง CCTV อัจฉริยะ สำหรับหอควบคุมจราจรทางอากาศเพื่อให้การจัดการการบินมีประสิทธิภาพสูงสุด