‘พรหมินทร์’ แจง 5 เหตุผล 'เศรษฐกิจวิกฤติ' พร้อมแจงข้อ กม.ดัน ดิจิทัล วอลเล็ต’

 ‘พรหมินทร์’ แจง 5 เหตุผล 'เศรษฐกิจวิกฤติ' พร้อมแจงข้อ กม.ดัน ดิจิทัล วอลเล็ต’

เลขาธิการนายกฯยก 5 ข้อ ยันเศรษฐกิจไทยวิกฤติ ชี้เศรษฐกิจโตต่ำ  ลงทุนหด สภาพคล่องหายทั้งตลาดเงิน - ตลาดทุน ปล่อยไว้เป็นกบต้ม จำเป็นที่รัฐบาลต้องออกดิจิทัลวอลเล็ต พร้อมแจงข้อกฎหมายได้ ชี้ ป.ป.ช.ไม่ได้มีหน้าที่บริหาร ระบุกม.ไปสภาฯหากตกไม่มีใครต้องรับผิดชอบทางการเมือง

Key points : 

  • รัฐบาลยืนยันยังเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 
  • เลขาธิการนายกฯระบุวงเงินโครงการยัง 5 แสนล้านบาทตามเดิม 
  • มั่นใจว่าสามารถอธิบายได้ว่าเศรษฐกิจไทยวิกฤติ 
  • มั่นใจว่าสามารถชี้แจงข้อกฎหมาย ม.53 พรบ.วินัยการเงินการคลังฯได้
  • ระบุตั้งงบประมาณใช้หนี้ปีละ 1.7 แสนล้านบาท มั่นใจใช้หนี้เสร็จใน 3 ปี 

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ของรัฐบาลว่านโยบายนี้ยังเป็นนโยบายที่รัฐบาลยังคงเดินหน้าต่อไปและยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงการจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลังได้เผยแถลงข่าวไป โดยรัฐบาลจะยังคงเดินหน้าออก พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 5 แสนล้านบาทเพื่อมาใช้ในการดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้เตรียมคำชี้แจงและคำอธิบายข้อมูล และเหตุผลที่มีความจำเป็นที่จะออก พ.ร.บ.กู้เงินฯ เพื่อใช้ในโครงการนี้

โดยพร้อมที่จะนัดหมายการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet หลังจากที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ส่งความเห็นเรื่องนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตมายังรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลพร้อมที่จะตอบคำถามทุกข้อโดยเฉพาะเรื่องของเศรษฐกิจว่าวิกฤติอย่างไร โดยพร้อมจะผลักดันให้สามารถแจกเงินดิจิทัลโดยเร็วที่สุด

นพ.พรหมินทร์ กล่าวว่าข้อมูลทางเศรษฐกิจที่เริ่มออกมาจากหน่วยงานเศรษฐกิจจะตอกย้ำภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่วิกฤติ ซึ่งตอนนี้เห็นข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่บอกว่าจีดีพีไทยปี 2568 ขยายตัวได้แค่ 1.8% เท่านั้น  

ยกข้อมูลเศรษฐกิจวิกฤติ

ทั้งนี้ข้อมูลเศรษฐกิจที่ตอกย้ำว่าเกิดวิกฤติเศรษฐกิจแล้วได้แก่

1.เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณเติบโตลดลงเรื่อยๆ โดยอัตราเฉลี่ยการขยายตัวของเศรษฐกิจลดลงต่อเนื่อง จากในช่วงปี 1994 – 1996 ที่เศรษฐกิจขยายตัวได้เฉลี่ย 7.3% ลดลงเหลือเฉลี่ย 5.2% ในช่วงปี 1999 – 2007 และในช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เฉลี่ยเพียง 3.6% ในช่วงปี 2010 – 2019

2.เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ามาก โดยหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่หลายประเทศนั้นเศรษฐกิจฟื้นตัวได้มากแล้ว โดยในปี 2020 นั้นเศรษฐกิจไทยเคยติดลบถึง 6.1% ซึ่งหลังจากปี 2020 แม้ว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวแต่เติบโตต่ำ เมื่อรวมกันแล้วหากเศรษฐกิจปีที่ผ่านมาโตได้แค่ 1.8% เท่ากับว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่กลับไปได้ในระดับเดิม

3.การลงทุนของไทยอยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน และต่ำกว่าหลายประเทศ ทั้งนี้เมื่อดูข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปี 2014 – 2019 สัดส่วนการลงทุนต่อจีดีพีของไทยอยู่ที่ 23.6% เท่านั้น ต่ำกว่าหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น อินโดนิเซียที่อยู่ที่ 32.5% เวียดนาม 30% เกาหลีใต้ 29.9% มาเลเซีย 24.9% และฟิลิปปินส์อยู่ที่ 24.7% ซึ่งการลงทุนที่อยู่ในระดับต่ำยาวนานสะท้อนปัญหาการใช้จ่ายในประเทศ ที่กำลังซื้อลดต่ำ ทำให้การผลิตสินค้าน้อย และตัวเลขการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมต่ำลง

 ‘พรหมินทร์’ แจง 5 เหตุผล \'เศรษฐกิจวิกฤติ\' พร้อมแจงข้อ กม.ดัน ดิจิทัล วอลเล็ต’

4.อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจนเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อติดลบในช่วง 2 – 3 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่อัตราดอกเบี้ยสูง ซึ่งภาวะแบบนี้ส่งผลกระทบต่อประชาชน เนื่องจากหนี้สินครัวเรือนอยู่ในระดับที่สูง โดยในช่วง10 ปีที่ผ่านมาเพิ่มจาก 70% ต่อจีดีพีมาอยู่ที่ 91.6% ต่อจีดีพีทำให้ประชาชนขาดกำลังซื้อและมีแรงกดดันเรื่องหนี้ครัวเรือนที่สูงมาก ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องมีการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

 ‘พรหมินทร์’ แจง 5 เหตุผล \'เศรษฐกิจวิกฤติ\' พร้อมแจงข้อ กม.ดัน ดิจิทัล วอลเล็ต’

5.วิกฤติในเรื่องของการขาดสภาพคล่อง (liquidities Crisis) ในตลาดเงิน และตลาดทุน เห็นได้จากการปล่อยกู้ของสถาบันการเงินลดลงต่อเนื่อง  จากการที่สถาบันการเงินปฏิเสธการปล่อยกู้เนื่องจากกลัวการผิดชัดชำระหนี้ รวมทั้งการระดมทุนผ่านตลาดทุนก็ลดลงอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน ซึ่งสถานการณ์แบบนี้บ่งบอกได้ถึงสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจที่รัฐบาลต้องเข้าไปแก้ไข

 ‘พรหมินทร์’ แจง 5 เหตุผล \'เศรษฐกิจวิกฤติ\' พร้อมแจงข้อ กม.ดัน ดิจิทัล วอลเล็ต’

“ทั้งหมดนั้นอธิบายได้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจนั้นวิกฤติแล้ว ดิจิทัลวอลเล็ตจึงมีความจำเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ คนที่ไม่เข้าใจว่าเกิดวิกฤติคือคนที่นั่งอยู่บนหอคอยสูง มีรายได้สูงมองไม่เห็นความลำบากของคนข้างล่าง เป็นคนที่อยู่รอดอยู่แล้ว”นพ.พรหมินทร์ กล่าว

 

เลขาธิการนายกฯกล่าวว่า จากปัจจัยบ่งบอกว่าเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในขณะนี้มีความชัดเจน และรัฐบาลสามารถอธิบาย 4 เรื่องสำคัญ ที่เป็นประเด็นทางข้อกฎหมายในการออกพ.ร.บ.เงินกู้ฯ 5 แสนล้านบาท ซึ่งตามมาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 ได้แก่

1.มีความจำเป็นต่อเนื่องที่จะต้องกู้เงินเพื่อรองรับวิกฤติที่เกิดขึ้น ซึ่งเห็นได้จากการเติบโตของเศรษฐกิจไทยลดลงต่อเนื่อง

2.มีความจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยที่เติบโตต่ำมานาน กระทบกับกำลังการผลิตสินค้า และการส่งออกที่ติดลบ

3.มีความจำเป็นที่จะต้องกู้เงิน เพื่อแก้ไขภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของประเทศ

และ 4.การตั้งบประมาณปกติ ไม่สามารถตั้งได้ทันจึงต้องมีการกู้เงินเพิ่มเติม

 ‘พรหมินทร์’ แจง 5 เหตุผล \'เศรษฐกิจวิกฤติ\' พร้อมแจงข้อ กม.ดัน ดิจิทัล วอลเล็ต’

“คำว่าวิกฤติไม่วิกฤตินั้นรัฐบาลจะเป็นคนตัดสินใจซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการทำนโยบายเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน และรัฐบาลยึดสภาพความเป็นจริงจึงต้องมุ่งแก้ไขด้วยมาตรการดิจิทัล วอลเล็ต ซึ่งเป็นการปั๊มหัวใจให้ประชาชนที่ยากลำบากสามารถดำเนินชีวิตต่อได้ และเกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงิน ทำให้ภาคส่วนอื่นๆของเศรษฐกิจดีขึ้นต่อเนื่อง เพราะหากไม่ทำอะไรเศรษฐกิจไทยก็เหมือนกับกบต้มที่รอวันตาย” นพ.พรหมินทร์ กล่าว

ตั้งงบใช้หนี้ 3 ปี ปีละ 1.7 แสนล้านบาท 

สำหรับข้อกังวลเรื่องวินัยการเงินการคลังว่านโยบายนี้อาจทำให้การคลังของประเทศมีความเสี่ยงเนื่องจากพื้นที่ทางการคลังของประเทศเหลือน้อยและหนี้สาธารณะใกล้แตะระดับ 70% ของจีดีพีแล้วนพ.พรหมินทร์ อธิบายว่ารัฐบาลทำนโยบายนี้โดยมีการวางแผนการใช้หนี้คืนครบเต็มจำนวนภายใน 3 ปี โดยการกู้เงิน 5 แสนล้านบาทนั้นจะตั้งงบประมาณปีละ 1.7 – 1.8 แสนล้านบาทใช้คืนหนี้ ทำให้ไม่กระทบกับหนี้สาธารณะต่อจีดีพี และเมื่อมีมาตรการนี้ก็จะทำให้จีดีพีขยายตัวด้วยจึงไม่น่ากังวลว่าจะทำให้หนี้สาธารณะพุ่งขึ้นเพราะปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ที่ 62% ต่อจีดีพี แต่นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มเป็น 64% ต่อจีดีพีเท่านั้น

ติง ป.ป.ช.ไม่ได้มีอำนาจบริหาร

เมื่อถามว่าข้อเสนอแนะโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จาก ป.ป.ช.ที่มีการตั้งข้อสังเกตเรื่องกฎหมายว่าหากรัฐบาลเดินหน้าจะสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายนั้นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าอำนาจในการบริหารประเทศ และการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจนั้นเป็นอำนาจของรัฐบาล ก็ต้องถามกลับว่า ป.ป.ช.นั้นมีหน้าในการตรวจสอบ ไม่ใช่หน้าที่ในการบริหาร ซึ่ง ป.ป.ช.นั้นสามารถที่จะเสนอแนะความเห็นมาได้เราก็จะรับฟัง เช่น เดียวกับที่รับฟังความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่การเดินหน้านโยบายนี้เป็นอำนาจของรัฐบาล และตอนนี้รัฐบาลใช้วิธีการออก พ.ร.บ.ซึ่งมีขั้นตอนในการที่ต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาฯ

หากไม่ผ่านความเห็นชอบของสภาฯร่างกฎหมายก็จะตกไป ไม่มีใครที่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองอะไร แต่ตนเองก็ไม่ได้คิดว่ากฎหมายฉบับนี้จะไม่ผ่านสภาฯ โดยรัฐบาลจะพยายามเดินหน้านโยบายนี้เต็มที่เพื่อให้สามารถแจกเงินดิจิทัลได้โดยเร็วที่สุด