เปิดแผนลงทุน ‘ปตท.สผ.’ ก๊าซยังเป็นเชื้อเพลิงสำคัญของไทย

เปิดแผนลงทุน ‘ปตท.สผ.’ ก๊าซยังเป็นเชื้อเพลิงสำคัญของไทย

ปตท.สผ.เปิดเแผนลงทุนปี 67 กว่า 2.3 แสนล้านบาท ลุยเพิ่มปริมาณก๊าซอ่าวไทย ตั้งเป้าเดินเครื่องกำลังผลิตตามสัญญาแหล่งเอราวัณ เม.ย.นี้ จ่อเพิ่มปริมาณซื้อ-ขายแหล่งอาทิตย์ ยืนยันเทรนด์อีวีไม่กระทบดีมานด์ก๊าซ

key points :

  • ปตท.สผ. มั่นใจแม้เทรนด์การใช้รถอีวีมา ไม่กระทบปริมาณความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในไทย
  • อัดงบลงทุนปีนี้กว่า 70% ลุยเพิ่มหลุ่มผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย สร้างความมั่นคงด้านพลังงานประเทศ 
  • เร่งเจรจาทำสัญญาซื้อขายก๊าซแหล่งอาทิตย์เพิ่มเป็น 350 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ลดการนำเข้า LNG 

บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ดำเนินธุรกิจจัดหาปิโตรเลียมเพื่อสนองความต้องการใช้พลังงานทั้งในประเทศ และประเทศที่ไปลงทุน ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีหลังทั่วโลกเผชิญโควิด-19 ผนวกกับสงครามระหว่างประเทศ โดยเฉพาะรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาพลังงานทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น

ในขณะที่ปตท.สผ.ผู้รับสัญญาดำเนินการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติแหล่งเอราวัณต่อจากผู้รับสัมปทานเดิมต้องเผชิญปัญหาการเข้าพื้นที่ล่าช้าถึง 2 ปี ทำให้กำลังผลิตก๊าซช่วงเปลี่ยนผ่านลดมาอยู่ระดับ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากที่ต้องส่งมอบ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

นอกจากนี้เทรนด์การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานสะอาด ทั่วโลกต่างมุ่งเป้าหมายลดการปลดปล่อยคาร์บอน และกำหนดเป้าหมาย Net Zero ส่งผลให้ ปตท.สผ.ต้องปรับแผนดำเนินงานเพื่อเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด และกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 (Net Zero Greenhouse Gas Emissions by 2050)

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท.สผ. เปิดเผยว่า การดำเนินธุรกิจของบริษัทพลังงานในปัจจุบันต้องให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน

สำหรับเทรนด์การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ขณะนี้แม้จะมียอดการใช้งานเพิ่มขึ้น แต่ยืนยันว่าไม่กระทบความต้องการก๊าซในไทย เพราะการผลิตไฟฟ้ามาจากก๊าซสัดส่วน 70% อีกทั้งเทรนด์พลังงานทั่วโลกนั้นก๊าซจะช่วยลดปริมาณการใช้ถ่านหิน และพลังงานหมุนเวียนยังไม่คงที่และต่อเนื่อง ดังนั้นยืนยันว่าก๊าซยังสำคัญ

ปตท.สผ.ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสม 2.47 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จากปีฐาน 2563 ผ่านโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมคาร์บอนต่ำ การจัดการหลุมผลิตที่เหมาะสม และจัดทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจก เช่น การนำก๊าซส่วนเกินจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียมกลับมาใช้ใหม่ การปรับปรุงกระบวนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการใช้พลังงานหมุนเวียน

สำหรับความคืบหน้าการศึกษาโครงการ CCS กับบริษัทระดับโลก จะเป็นโอกาสในการศึกษาและเรียนรู้การพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับพลังงานรูปแบบใหม่แห่งอนาคต รวมถึงเทคโนโลยีลดปัญหาโลกร้อน ซึ่งจะทำ ปตท.สผ.มีความชำนาญมากขึ้น

ทั้งนี้ โครงการ CCS มีข้อกังวล 2 เรื่อง คือ

1.การดูแลภาระผูกพันที่อาจต้องรับผิดชอบหลังนำก๊าซคาร์ลงไปเก็บไว้ใต้ดิน ซึ่งเมื่อสัมปทานหมดอายุจะเกิดภาระผูกพันที่ต้องการแก้ที่ยังไม่มีกฎระเบียบออกมาชัดเจน

2.ผลตอบแทนการลงทุนที่พาร์ทเนอร์ต้องร่วมลงทุน ซึ่งอย่างน้อยต้องได้เท่ากับโครงการเดิมที่ลงทุน

ลุยเพิ่มปริมาณก๊าซอ่าวไทย

สำหรับแผนดำเนินการปี 2567 ตั้งงบลงทุน 230,194 ล้านบาท กว่า 70% ลงทุนในประเทศ เพื่อเพิ่มการผลิตก๊าซธรรมชาติจากโครงการจี 1/61 (แหล่งเอราวัณ ปลาทอง สตูลและฟูนาน) ให้ได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ในเดือน เม.ย.2567

นอกจากนี้ ยังคงรักษากำลังการผลิตก๊าซโครงการจี 2/61 (แหล่งบงกช) โครงการอาทิตย์และพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย รวมทั้งเร่งสำรวจปิโตรเลียมในไทยและต่างประเทศ โดยปี 2567 จะเพิ่มการผลิตปิโตรเลียมอีก 9% มาอยู่ที่ 505,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน รองรับการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น

ปตท.สผ.สำรองงบประมาณเพิ่มเติมอีก 67,822 ล้านบาท ช่วง 5 ปี (2567-2571) เพื่อพัฒนาพลังงานสะอาดรูปแบบต่างๆ โดยปี 2568 ตั้งงบลงทุนกว่า 2.7 แสนล้านบาท”

เม.ย.เดินเครื่องกำลังผลิตตามสัญญา

นายมนตรี กล่าวว่า แหล่งเอราวัณผลิตก๊าซได้เฉลี่ย 450 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยสัปดาห์สุดท้ายของเดือน มี.ค.2567 แตะ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งปีนี้งบสร้างแท่นเจาะหลุมวางท่อเพื่อเพิ่มปริมาณก๊าซในอ่าวไทยเบื้องต้นที่ 42,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มก๊าซในอ่าวไทย

ทั้งนี้ การเจาะหลุมก๊าซแหล่งเอราวัณเฉลี่ยปีละ 300 หลุ่ม เพื่อรักษากำลังผลิตเพราะอ่าวไทยต้องเจาะหลายหลุ่ม และมั่นใจว่าปริมาณก๊าซจะไม่น้อยลง ด้วยการศึกษาศักยภาพโครงสร้าง ความดัน โลเคชั่นแล้ว มั่นใจว่าผลิตก๊าซได้ตามสัญญาซื้อขาย 10 ปี และสัญญาใบอนุญาติ 20 ปี และขอต่อสัญญาได้อีก 10 ปี

สำหรับแหล่งบงกชตามสัญญาการผลิตอยู่ที่ 750 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ผลิตได้ 840 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนแหล่งอาทิตย์ตามสัญญา 280 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ผลิตได้ 340-350 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพื่อชดเชยกำลังผลิตแหล่งเอราวัณที่ไม่ได้ตามเป้า

จ่อเพิ่มปริมาณซื้อ-ขายแหล่งอาทิตย์

“ปตท.สผ.มีแผนเจรจาทำสัญญาซื้อขายก๊าซแหล่งอาทิตย์เพิ่มเป็น 350 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพราะด้วยศักยภาพทำได้และจะเป็นประโยชน์กับประเทศที่จะได้ก๊าซเพิ่ม อีกทั้งสัญญาสัมปทานจะหมดปี ค.ศ.2038”

นายมนตรี กล่าวว่า จากการดำเนินธุรกิจทั้งในและต่างประเทศปี 2566 ชนะประมูลแปลงสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยรอบที่ 24 ในแปลงจี 1/65 และแปลงจี 3/65 ซึ่งอยู่ใกล้โครงการของบริษัทจึงพัฒนาโครงการได้เร็วขึ้น

นอกจากนี้ ยังขยายฐานการเติบโตในมาเลเซียเพิ่มขึ้นจากสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงใหม่ในแปลงสำรวจเอสเค 325 รวมทั้ง สำรวจพบแหล่งปิโตรเลียมใหม่ 3 แหล่งนอกชายฝั่งซาราวัก จากหลุมสำรวจเชนด้า-1 หลุมสำรวจ บังสะวัน-1 และหลุมสำรวจบาบาด้อน-1 ซึ่งวางแผนเร่งรัดพัฒนาแหล่งที่ค้นพบในรูปแบบ Cluster เพื่อเริ่มการผลิตปิโตรเลียมได้เร็วขึ้น

ทั้งนี้ บริษัทร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อร่วมโครงการความร่วมมือด้านมีเทนของอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ (The Oil & Gas Methane Partnership 2.0 หรือ OGMP 2.0) ภายใต้โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และร่วมลงนามกฎบัตรของกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซในการประชุม COP28 ร่วมกับ 52 บริษัทผู้ก่อตั้ง โดยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซมีเทน

สำหรับผลประกอบการปี 2566 ปตท.สผ.มีรายได้รวม 315,216 ล้านบาท ลดลง 6% เมื่อเทียบปี 2565 มีปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ย 462,007 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ใกล้เคียงปีก่อนหน้า ขณะที่ราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยอยู่ที่ 48.21 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เทียบเท่าน้ำมันดิบ ลดลง 10% ตามราคาน้ำมันดิบตลาดโลก

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีรายจ่ายจากรายการที่ไม่ใช่การดำเนินงานปกติลดลง เช่น การประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน การบันทึกการด้อยค่าของสินทรัพย์ ซึ่งส่งผลให้มีกำไรสุทธิในปี 2566 จำนวน 76,706 ล้านบาท ทั้งนี้ 40% ของกำไรสุทธิมาจากโครงการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกกลาง