'คมนาคม' อัดงบ 3.89 แสนล้าน ปูพรมโปรเจกต์ขนส่งไร้รอยต่อ

'คมนาคม' อัดงบ 3.89 แสนล้าน ปูพรมโปรเจกต์ขนส่งไร้รอยต่อ

“คมนาคม” กางแผนลงทุนปี 2567 อัดงบ 3.89 แสนล้านบาท เข็น 31 โครงการเริ่มตอกเสาเข็ม “สุริยะ” ระบบรางหนุนท่องเที่ยว พร้อมแก้ปัญหาการเดินทางไร้รอยต่อ ครม.เคาะงบประมาณโครงการเกิน 1 พันล้านบาท 10 หน่วยงาน 69 โครงการ วงเงิน 1.8 แสนล้านบาท

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงผลการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ขับเคลื่อนนโยบายคมนาคมเพื่อความอุดมสุขของประชาชน” ปี 2567 และปี 2568 โดยระบุว่า ภาพรวมโครงการลงทุนด้านคมนาคม ในปี 2567 มีโครงการที่จะเปิดให้บริการ จำนวน 64 โครงการ และมีโครงใหม่ที่จะเริ่มก่อสร้างในปี 2567 จำนวน 31 โครงการ รวมมูลค่าลงทุนรวม 389,750 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังมีโครงการลงทุนใหม่ในปี 2568 จำนวน 57 โครงการ รวมมูลค่าลงทุนรวม 263,016 ล้านบาท

สำหรับโครงการใหม่ที่จะเริ่มก่อสร้างในปี 2567 จำนวน 31 โครงการ แบ่งออกเป็น การขนส่งทางบก จำนวน 21 โครงการ อาทิ มอเตอร์เวย์ M9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ตอนบางบัวทอง – บางปะอิน วงเงิน 15,260 ล้านบาท

เร่งวางโครงข่ายขนส่งทางราง

ขณะที่โครงการลงทุนการขนส่งทางรางในปี 2567 มีจำนวน 6 โครงการ อาทิ รถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต – มธ. ศูนย์รังสิต วงเงิน 6,468 ล้านบาท, รถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงตลิ่งชัน – ศาลายา 10,670 ล้านบาท, รถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน – ศิริราช 4,616 ล้านบาท และรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ – อุบลราชธานี วงเงิน 37,527 ล้านบาท

นอกจากนี้ แผนพัฒนาโครงการด้านคมนาคมยังให้ความสำคัญในการลงทุนการขนส่งทางน้ำ โดยมีโครงการใหม่ที่เตรียมก่อสร้างในปี 2567 จำนวน 2 โครงการ คือ เปลี่ยนเครื่องจักรสำหรับยกขนตู้สินค้าในท่าเรือ (RTG) เป็นพลังงานไฟฟ้า ศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 2 จำนวน 913 ล้านบาท และพัฒนาท่าเรือภูมิภาคเชื่อมโยงกระบี่ - พังงา - ภูเก็ต (วงแหวนอันดามัน) ได้แก่ ท่าเรือมาเนาะห์ และท่าเรือช่องหลาด จังหวัดพังงา

ขณะเดียวกันยังมีโครงการลงทุนการขนส่งทางอากาศ จำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ด้านทิศตะวันออก วงเงิน 9,000 ล้านบาท และก่อสร้างขยายทางขับและลานจอดเครื่องบิน พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบินและองค์ประกอบอื่นๆ ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช วงเงิน 500 ล้านบาท

\'คมนาคม\' อัดงบ 3.89 แสนล้าน ปูพรมโปรเจกต์ขนส่งไร้รอยต่อ

ขนส่งหนุนท่องเที่ยวบูม

นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า กระทรวงฯ ได้วางแผนพัฒนาโครงข่ายด้านคมนาคม เป็นการพัฒนาโครงการใหม่ในปี 2568 เบื้องต้นจำนวน 57 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 263,016 ล้านบาท ซึ่งหากจะมีการแบ่งอันดับความสำคัญที่จะต้องเร่งลงทุนของกระทรวงคมนาคมในปี 2568 กระทรวงฯ จะเน้นทิศทางการลงทุนเมกะโปรเจคทางระบบราง เพราะนับเป็นโครงการตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยว โครงการแก้ปัญหา Missing Link รวมถึงโครงการเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง ลดอุบัติเหตุในการขนส่ง

สำหรับการลงทุนด้านระบบรางที่จะเกิดขึ้นนั้น กระทรวงฯ จะเดินหน้าเร่งรัดการลงทุนก่อสร้างรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) โดยเฉพาะการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2565 – 2569) จำนวน 7 เส้นทาง เพื่อเพิ่มโครงข่ายระบบรางระยะทาง 1,479 กิโลเมตร และเร่งรัดการก่อสร้างรถไฟสายใหม่ เด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ และบ้านไผ่ - มุกดาหาร – นครพนม ให้แล้วเสร็จตามแผน

นอกจากนี้ จากนโยบายรัฐบาลได้เดินหน้าระบบรางสร้างรถไฟฟ้าครบ 500 กิโลเมตร ยังคงมีแผนพัฒนารถไฟฟ้า ระยะที่ 2 ยกตัวอย่างเช่น ทางเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่สถานีบางหว้า ไปสายสีม่วง ซึ่งเป็นเส้นทางที่ผ่านหมู่บ้านจัดสรร ประชาชนอาศัยอยู่จำนวนมาก เป็นเส้นทางที่ควรเร่งดำเนินการ

เคาะงบผูกพัน 1.8 แสนล้าน ปี 68

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการเสนอขอการตั้งรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ วงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป รวม 10 หน่วยงาน ทั้งหมด 69 โครงการ มีวงเงินผูกพันข้ามปีงบประมาณรวมกันกว่า 1.81 แสนล้านบาท ซึ่งจะผูกพันงบตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ที่ประชุมครม.ได้รับทราบข้อเสนอของทั้ง 10 หน่วยงาน โดยมอบหมายให้สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปพิจารณาว่า งบผูกพันทั้งหมดที่เสนอเข้ามาเป็นไปตามข้อกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องหรือไม่ และต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้วย

สำหรับหน่วยงานที่ ครม.อนุมัติการผูกพันงบประมาณได้แก่ 1.กระทรวงคมนาคม เสนอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 รวม 42 โครงการ ระยะเวลาดำเนินการ ปี 2568-2575 รวมวงเงิน 91,653.3 ล้านบาท โดยมีวงเงินที่จะขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ก่อนวงเงิน 15,627.9 ล้านบาท

2.กระทรวงการคลังเสนอ 1 โครงการ วงเงิน 1.66 พันล้านบาท  3.กระทรวงยุติธรรมเสนอ 2 โครงการ วงเงิน 3,390 ล้านบาท  4.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอ 9 โครงการ วงเงิน 3,572 ล้านบาท

ซื้อเฮลิคอปเตอร์พันล้านบาท

5.กระทรวงมหาดไทยเสนอ ตั้งงบประมาณให้กับเทศบาลนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ดำเนินโครงการจัดหาน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาที่โรงกรองน้ำบ้านมะขามเฒ่า (จากแหล่งน้ำลำตะคองมายังโรงกรองน้ำบ้านมะขามเฒ่า) วงเงิน 1,995 ล้านบาท

6.กระทรวงมหาดไทยเสนอโครงการผูกพันงบประมาณเพิ่มเติม 4 โครงการ วงเงินรวมทั้งทั้งสิ้น 5,618 ล้านบาท เช่น โครงการของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จำนวน 1 โครงการเพื่อซื้อเฮลิคอปเตอร์ปีกหมุน วงเงิน 1.2 พันล้านบาท 7.กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตรกรรมเสนอขอผูกพันงบประมาณจำนวน 2 โครงการวงเงินรวม 6,120 ล้านบาท  8.สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอขอตั้งบผูกพันข้ามปีฯ 68 สำหรับการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ขนาดกลาง รับ-ส่ง บุคคลสำคัญ จำนวน 2 เครื่อง