จับตา 'สมรภูมิใหญ่' เขย่าภูมิรัฐศาสตร์โลก คลัง - สศช.เตือนปัจจัยเสี่ยงปี 67

จับตา 'สมรภูมิใหญ่' เขย่าภูมิรัฐศาสตร์โลก คลัง - สศช.เตือนปัจจัยเสี่ยงปี 67

รัฐบาลจับตาสมรภูมิใหญ่เขย่าภูมิรัฐศาสตร์โลก หลังเลือกตั้งส่งผลต่อความสัมพันธ์ไต้หวัน-จีน NATO ซ้อมรบใหญ่สุดหลังสงครามเย็น “คลัง-สศช.” เตือนจับตาความเสี่ยง “พิชัย” แนะเกาะติด 4 พื้นที่ รวมสถานการณ์เมียนมา หอการค้าฯชี้จีนเร่งโครงสร้างพื้นฐาน 3 ด่านขนส่งทางบก

Key points: 

  • ปี 2567 ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกเป็นความเสี่ยงลำดับต้นๆที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั่วโลกติดตามใกล้ชิด
  • หน่วยงานความมั่นคงรายงานสถานการณ์ในต่างประเทศให้นายกรัฐมนตรีรับทราบเป็นระยะ
  • พื้นที่ที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษคือ ทะเลจีนใต้ และยุโรป
  • หน่วยงานเศรษฐกิจทั้งกระทรวงการคลังและสภาพัฒน์ได้เสนอแนะรัฐบาลให้คำนึงถึงความเสี่ยงเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ที่จะกระทบกับเศรษฐกิจไทย

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่าเร็วๆนี้หน่วยงานความมั่นคงได้รายงานสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลก (world geopolitics) ในภาพรวมของปี 2567 ให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีรับทราบเป็นระยะถึงความขัดแย้งและความตึงเครียดที่มากขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งอาจะส่งผลกระทบทั่วโลกรวมถึงไทย 

โดยพื้นที่ความขัดแย้งและสถานการณ์ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษหลังจากมีความตรึงเครียดเพิ่มมากขึ้นจากเหตุการณ์ต่างๆ ดังนี้

1.พื้นที่ทะเลจีนใต้ ที่มีความอ่อนไหวมากขึ้นหลังจากที่การเลือกตั้งในไต้หวันได้รัฐบาลที่มีความแข็งกร้าวกับรัฐบาลจีน ประกอบกับต้นปีได้มีการตั้งกลุ่มไตรภาคีอินโด-แปซิฟิก (Trilateral United States-Japan-Republic of Korea Indo-Pacific Dialogue) ที่มีสหรัฐและพันธมิตร ได้แก่ เกาหลีใต้ และได้ออกแถลงการณ์ร่วมในประเด็นอ่อนไหวอย่างไต้หวัน และทะเลจีนใต้ ซึ่งทำให้จีนไม่พอใจและทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้อาจบานปลายได้

2.พื้นที่ในภูมิภาคยุโรป ที่นอกจากสงครามรัสเซียและยูเครนที่ดำเนินต่อเนื่องมากว่า 2 ปี และยังไม่มีท่าทีจะยุติ โดยมีการเตรียมพร้อมทำสงครามขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ซึ่งประกาศการซ้อมรบของกำลังพลเกือบ 1 แสนนาย ถือว่าเป็นการซ้อมรบครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ยุคสงครามเย็น และจะใช้เวลาซ้อมรบนานหลายเดือน ซึ่งมีความหมายว่ามีความเสี่ยงจะเกิดสงครามใหญ่ในยุโรปได้ 

 

จับตา \'สมรภูมิใหญ่\' เขย่าภูมิรัฐศาสตร์โลก คลัง - สศช.เตือนปัจจัยเสี่ยงปี 67

คลัง-สภาพัฒน์เตือนความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ

ก่อนหน้านี้หน่วยงานเศรษฐกิจของไทยได้เสนอผลกระทบจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ต่อรัฐบาล โดยกระทรวงการคลังระบุระหว่างการแถลงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566-2567 

กระทรวงการคลังให้ความเห็นว่าในปี 2567 ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่างๆ มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น อาจเป็นข้อจำกัดและกระทบการเติบโตของเศรษฐกิจไทยระยะถัดไป ดังนี้ 

1.การแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐ 

2.สถานการณ์สู้รบระหว่างอิสราเอลและฮามาสที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานให้ปรับตัวสูงขึ้น 

3.ความยืดเยื้อของสงครามระหว่างรัสเชียและยูเครน 

“การเตรียมพร้อมของหลายประเทศขณะนี้ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ แต่เป็นสถานการณ์การเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่สงคราม ซึ่งไทยต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด” แหล่งข่าวระบุ

ขณะที่สถานการณ์การเลือกตั้งผู้นำและสภานิติบัญญัติของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย เช่น สหรัฐ รัสเซีย อินเดีย ซึ่งอาจส่งผลต่อการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศของไทยเช่นกัน

ขณะที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุไว้ในรายงานการแถลงภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปี 2566 และแนวโน้มปี 2566-2567 ว่าการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคปี 2567 รัฐบาลต้องเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบและใช้ประโยชน์จากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการขยายตัวของความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การชะลอตัวของประเทศเศรษฐกิจหลัก และความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนโลก 

รวมทั้งควรให้ความสำคัญต่อมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบจากความขัดแย้งในตะวันออกกลางอาจกระทบเศรษฐกิจทั้งด้านแรงงาน ความผันผวนของราคาพลังงาน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และต้นทุนภาคเกษตร 

ขณะเดียวกันต้องดำเนินนโยบายการเงินการคลังอย่างเหมาะสมสอดคล้องเงื่อนไขทางเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ช่วงฟื้นตัว ท่ามกลางความเสี่ยงจากความผันผวนในระบบเศรษฐกิจที่อยู่ในเกณฑ์สูงและแรงกดดันทางด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจที่สูงขึ้นมาก โดยควรให้ควำมสำคัญต่อการเพิ่มพื้นที่การดำเนินนโยบาย (Policy space) ให้เพียงพอเพื่อรองรับ “ความเสี่ยง” ที่อาจเกิดขึ้นในระยะต่อไป

 

ที่ปรึกษานายกฯแนะจับตา 6 พื้นที่ความขัดแย้ง

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ไทยต้องเฝ้าระวังเพราะสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์เพราะมีความไม่แน่นอนมาก ซึ่งแม้ไม่กระทบไทยโดยตรงแต่อาจกระทบทางอ้อม ขณะเดียวกันหากไทยเตรียมความพร้อมจะมีโอกาสที่ดีเกิดขึ้นกับไทยได้ โดยสถานการณ์ความขัดแย้งที่ต้องติดตามผลกระทบกับไทยมีดังนี้ 

1.สถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ยังไม่ยุติและมีแนวโน้มจะยืดเยื้อออกไป 

2.สถานการณ์ระหว่างจีนและไต้หวัน ภายหลังการเลือกตั้งของไต้หวัน 

3.สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี ระหว่างเกาหลีใต้ และเกาหลีเหนือ ที่มีความตึงเครียดมากขึ้นตามลำดับ

4.อิสราเอล - ฮามาส ที่สงครามยังไม่ยุติ


5.ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ที่มีหลายประเทศเข้าไปเกี่ยวข้อง

และ 6 .สถานการณ์การสู้รบในเมียนมา ระหว่างทหารรัฐบาลกลางและกองกำลังชาติพันธุ์ ที่ปัจจุบันรัฐบาลกลางเพลี่ยงพล้ำหลายสมรภูมิรบ ซึ่งทำให้อำนาจของมิน ออง ล่าย ลดทอนลง และเหตุการณ์ในเมียนมาต้องจับตาเป็นพิเศษ เพราะเป็นประเทศเพื่อนบ้านไทยที่มีธุรกิจและการค้าชายแดน และที่สำคัญมีแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ส่งมายังประเทศไทยเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าด้วยบางส่วน

จับตา \'สมรภูมิใหญ่\' เขย่าภูมิรัฐศาสตร์โลก คลัง - สศช.เตือนปัจจัยเสี่ยงปี 67

“สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศตอนนี้มีหลายพื้นที่ในโลกที่ต้องติดตามว่าจะเกิดผลกระทบกับไทย และเศรษฐกิจไทยอย่างไร แต่ตอนนี้ผลกระทบยังจำกัด ยกเว้นจะเกิดสงครามขนาดใหญ่และลามจนเป็นสงครามโลก แบบนั้นจะกระทบวงกว้างทุกประเทศ”

ชี้ไทยมีโอกาสทางเศรษฐกิจเพิ่ม

นายพิชัย ระบุว่า เมื่อไม่นานได้หารือผู้นำต่างประเทศถึงโอกาสทางเศรษฐกิจของไทย ซึ่งผู้นำต่างชาติมองว่าไทยเป็นพื้นที่เหมาะสมรองรับการลงทุนเพราะเป็นมิตรกับทุกประเทศและไม่ขัดแย้งใคร 

รวมทั้งขณะนี้มีอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ที่จะย้ายฐานการลงทุนออกจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเกิดสงคราม ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมายรองรับการลงทุน แต่ไทยยังขาดความพร้อมบุคลากรและแรงงานที่จะรองรับอุตสาหกรรมนี้ จึงเตรียมเสนอการพัฒนาบุคลากรสาขานี้ให้รัฐบาล และประสานกระทรวงแรงงานให้พัฒนาฝีมือแรงงานสาขานี้มากขึ้นเพื่อให้พร้อมรองรับการลงทุนมากขึ้น

หอการค้าเชียงรายชี้จีนเร่งโครงสร้างขนส่งทางบก

นางสาวผกายมาศ เวียร์รา รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย กล่าวว่า จากสถานการณ์ความตึงเครียดที่เกิดมากขึ้นในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งที่สำคัญทางทะเลของจีนทั้งการนำเข้าสินค้าและการส่งออกสินค้าทำให้จีนเร่งขยายการลงทุน และพัฒนาเส้นทางการขนส่งทางบกมากขึ้น โดยเฉพาะด่านชายแดนที่เชื่อมต่อกับ สปป.ลาว และเมียนมา ลงมายังประเทศไทย

รวมทั้งมีเส้นทางที่เชื่อมต่อทางถนนไปถึงทางตอนใต้ของจีน โดยขณะนี้มีการเร่งก่อสร้าง ถนน สะพาน และปรับปรุงเส้นทางที่เชื่อมมาถึงด่านชายแดน 3 แห่งของไทย ที่ จ.เชียงราย ได้แก่ ด่าน แม่สาย ด่านเชียงแสน และด่านเชียงของ

นอกจากนี้ยังมีการหารือความร่วมมือกับหอการค้าไทยในการร่วมกันปรับปรุงกฎระเบียบ และข้อจำกัดในการขนส่งสินค้าข้ามแดนให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งเส้นทางจากจังหวัดเชียงราย ที่เชื่อมโยงผ่านประเทศเพื่อนบ้านไปยังตอนใต้ของประเทศจีนจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะหากในอนาคตเส้นทางการขนส่งทางทะเลมีปัญหาไม่สามารถขนส่งได้ หรือมีต้นทุนการขนส่งที่สูงขึ้นกรณีที่มีการสู้รบเกิดขึ้นจริง