คณะกรรมการระดับชาติ ‘SEC’ กุญแจสำคัญเคลื่อน‘แลนด์บริดจ์’

คณะกรรมการระดับชาติ ‘SEC’  กุญแจสำคัญเคลื่อน‘แลนด์บริดจ์’

ผ่านปี 2567 ไปเกือบ 1 เดือน“โครงการแลนด์บริดจ์”อภิมหาโปรเจ็กต์ 1 ล้านล้านบาท ยังแทบไม่ได้นับหนึ่งโครงการอย่างแท้จริงในประเทศไทยทั้งๆที่นายกรัฐมนตรี“เศรษฐา ทวีสิน”มีการไปโรดโชว์โครงการนี้แล้วในหลายประเทศทั่วโลก

แม้จะมีการโรดโชว์โครงการต่อเนื่อง แต่โครงการนี้ยังไม่ได้เริ่มต้นขั้นตอนทางกฎหมาย หรือการขับเคลื่อนโครงการที่พอจะเห็นว่ารัฐบาลเอาจริงเอาจังกับโครงการนี้ อยากให้โครงการนี้สามารถพลิกเศรษฐกิจไทยได้อย่างแท้จริง

ทั้งนี้หากเราย้อนดูโครงการขนาดใหญ่ในประเทศไทยในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น“โครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด”ในยุค“โชติช่วงชัชวาลย์”หรือ“โครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)”ที่มีการขับเคลื่อนโครงการเมกะโปรเจ็กต์ จนมีเอกชนเข้ามาประมูลโครงการหลัก 4 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 2.2 ล้านล้านบาท เกิดขึ้นได้ก็จากการมีคณะกรรมการระดับชาติ และมีกฎหมายที่รองรับการพัฒนาโครงการ

“คณะกรรมการระดับชาติ”ถือเป็นหัวใจหลักของการเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และเมื่อเป็น“โครงการใหญ่”ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ“นายกรัฐมนตรี”ต้องลงมานั่งเป็นประธานขับเคลื่อนด้วยตัวเอง เหมือนกับสมัยที่ประเทศไทยทำโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นก็ลงมานั่งเป็นประธานกรรมการขับเคลื่อนโครงการด้วยตัวเอง ระดมคนเก่งจากทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนเข้ามาเป็นกรรมการ ช่วยกันพัฒนาโครงการจนเป็นรากฐานในการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจของไทย

ต่อมาเมื่อมีการเดินหน้าโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ “EEC”ที่เริ่มในสมัยรัฐบาล คสช.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีก็นั่งเป็นประธานบอร์ดอีอีซีเอง รับฟังข้อมูล สั่งการแก้ปัญหา อุปสรรคต่างๆ ตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ รวมทั้งออกกฎหมายสำคัญคือ พ.ร.บ.อีอีซี ที่ให้อำนาจกับคณะกรรมการ และสำนักงานอีอีซีในการดำเนินการ อนุมัติ อนุญาต เรื่องต่างๆพอสมควร ทำให้โครงการเดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว

คณะกรรมการระดับชาติ ‘SEC’  กุญแจสำคัญเคลื่อน‘แลนด์บริดจ์’

กลับมาที่โครงการแลนด์บริดจ์ที่รัฐบาลต้องการให้เป็นเมกะโปรเจ็กต์ใหญ่ดึงการบลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามามหาศาล ก็ต้องเดินตามรอยของอีสเทิร์นซีบอร์ด และ EEC ทั้งในแง่ของการตั้งคณะกรรมการระดับชาติ และออกกฎหมายเตรียมพร้อมรองรับการลงทุนและพัฒนาพื้นที่

การเดินหน้าโครงการแลนด์บริดจ์นั้นจำเป็นที่รัฐบาลต้องฉายภาพรวมการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ว่ารัฐบาลจะพัฒนาในรูปแบบระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือ“Southern Economic Corridor”หรือ“SEC”โดยมีแลนด์บริดจ์เป็นหนึ่งในโครงการใหญ่ในพื้นที่ ซึ่งเป็นภาพรวมการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ ไม่ใช่มีแค่โครงการเดียว

ตามไทม์ไลน์แล้วในปี 2567 รัฐบาลต้องทำร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ พ.ศ...ให้แล้วเสร็จ และตั้งสำนักงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ“สำนักงานSEC”ให้เป็นรูปธรรม เพื่อขับเคลื่อนโครงการต่างๆรวมทั้งโครงการแลนด์บริดจ์ แต่ขณะนี้ปี 2567 ผ่านไปเกือบเดือนแล้วยังไม่เห็นวี่แวว การดำเนินการในเรื่องกฎหมายในเรื่องนี้แต่อย่างใด

ที่นายกฯพูดว่า“เวลาที่เสียไป”มี“ต้นทุนค่าเสียโอกาส”แฝงอยู่นั้นถูกต้องทุกประการ ดังนั้นถ้าอยากให้แลนด์บริดจ์เกิดขึ้นจริง รัฐบาลอย่าลืมเริ่มที่หัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนที่ต้องใช้ ที่ต้องให้ความสำคัญพอๆกับการออกไปโรดโชว์โครงการในต่างประเทศเพื่อให้โครงการนี้สามารถเกิดขึ้นได้จริง ไม่ใช่แค่ขายฝัน