‘เหตุพลุระเบิด’ จุดอ่อนกฎหมาย สถานประกอบการแค่ 4 แห่ง ได้ใบอนุญาตโรงงาน

‘เหตุพลุระเบิด’ จุดอ่อนกฎหมาย สถานประกอบการแค่ 4 แห่ง ได้ใบอนุญาตโรงงาน

“รัฐ” เร่งแก้ปัญหาสถานประกอบการพลุ ชี้มี พ.ร.บ.เกี่ยวข้องหลายฉบับ ทั้งกฎหมายอาวุธ กฎหมายโรงงาน กฎหมายวัตถุอัตราย “พิมพ์ภัทรา” พร้อมโยกสถานประกอบการพลุ ให้กฎหมายโรงงานกำกับดูแล

เหตุระเบิดที่สถานประกอบการผลิตพลุ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาหาทางแก้ไข โดยการประกอบกิจการที่เกี่ยวกับพลุมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย

1.การขออนุญาตทำ สั่ง นำเข้า หรือค้าดอกไม้เพลิงประเภทประทัดไฟ ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ของกระทรวงมหาดไทย

2.การขอใบอนุญาตโรงงาน ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม

3.พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม 

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ตรวจสอบสถานประกอบกิจการดังกล่าว ประกอบกิจการผลิตประทัดลูกบอลไล่นก และพลุประเภทอื่น มีคนงานประมาณ 30 ราย และไม่ใช้เครื่องจักรในการประกอบกิจการ ให้คนงานใช้มือในการบรรจุดินปืนและประกอบส่วนต่างๆ จึงไม่เข้าข่ายเป็นโรงงานที่ต้องมีคนงานเกิน 50 ราย และใช้เครื่องจักรประกอบกิจการ

ทั้งนี้ ผู้ประกอบกิจการรายดังกล่าวมีใบอนุญาตเกี่ยวกับดอกไม้เพลิง เป็นการออกให้ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 อยู่ในอำนาจของกระทรวงมหาดไทย 

รวมทั้งได้ตรวจสอบตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 และไม่พบว่ามีสารโพแทสเซียมคลอเรต ที่ใช้ในการจัดทำดอกไม้เพลิงนี้จัดอยู่ในบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายที่ออกตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว

"เรื่องนี้เป็นความปลอดภัยของประชาชนรอบสถานประกอบการ กระทรวงฯ จึงอยู่ระหว่างประสานหน่วยงานที่กำกับดูแลอย่างใกล้ชิด หากมีความจำเป็น อาจต้องกำหนดให้การประกอบกิจการประเภทนี้ เข้าข่ายเป็นโรงงาน ตาม พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม"

รายงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ระบุว่ามีสถานประกอบการที่ได้ยื่นขอใบอนุญาตและยังประกอบกิจการผลิตประทัดไฟ พลุ ดอกไม้เพลิง รวมถึงดินประสิวและธูป อยู่ทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่ 

1.บริษัท แปซิฟิคไพโร จำกัด ตั้งอยู่ที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ประกอบกิจการผลิตประทัดไฟและดอกไม้เพลิงทุกชนิด และดินประสิว เงินทุน 5 ล้านบาท คนงาน 65 คน เครื่องจักร 94 แรงม้า (HP)

2.บริษัท สยามไฟร์เวอร์ค จำกัด ในพื้นที่ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ประกอบกิจการผลิตดอกไม้เพลิงและประทัด เงินทุน 1.8 ล้านบาท คนงาน 57 คน เครื่องจักร 5 HP

3.บริษัท สยามอินเตอร์เนชั่นแนลไฟร์เวอร์ค จำกัด ตั้งอยู่ที่ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรปราการ ประกอบกิจการทำพลุ และดอกไม้เพลิง เงินทุน 2.5 ล้านบาท คนงาน 53 คน เครื่องจักร 5 HP

4.บริษัท วี แอนด์ เจ ทู เก็ทเตอร์ จำกัด ตั้งอยู่ที่ อ.บางกล่ำ จ.สงขลา ประกอบกิจการผลิตธูป ตลังสินค้า แบ่งบรรจุ ซื้อมาขายไปและดอกไม้เพลิง เงินทุน 31.8 ล้านบาท คนงาน 36 คน เครื่อจักร 52 HP

นอกจากนี้ การกํากับดูแลโรงงานผลิต การกํากับดูแลโรงงานผลิต ดอกไม้เพลิงด้านความปลอดภัย การพิจารณาด้านความปลอดภัยในการออกใบอนุญาตประกอบกิจการ โรงงานหรือขยายโรงงานในขั้นตอนการขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตดอกไม้เพลิง จะพิจารณา ความปลอดภัยตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน โดยมีรายละเอียดที่ต้องพิจารณา ดังนี้

1.รายงานการวิเคราะห์ความเสี่ยงจากอันตรายที่อาจเกิดจากการประกอบกิจการ โรงงานต้องผ่านความเห็นชอบจากสํานักเทคโนโลยีความปลอดภัย กรมโรงงานอุตสาหกรรม

2.แบบแปลนแสดงการติดตั้งระบบไฟฟ้าในโรงงานตามความเป็นจริง (as-built drawing) และรายการประกอบแบบแปลน โดยมีคํารับรองของวิศวกร

3.วัสดุอุปกรณ์และส่วนประกอบต่าง ๆ ของระบบไฟฟ้าที่ใช้ในโรงงานต้องมี ลักษณะและคุณสมบัติเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วย มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือมาตรฐานอื่นที่ยอมรับกัน โดยมีคํารับรองของ วิศวกร

4.สถานที่จัดเก็บวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นวัตถุที่ติดไฟได้ที่มีพื้นที่ต่อเนื่อง ติดต่อกันตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องติดตั้งระบบดับเพลิงอัตโนมัติ

สำหรับการตรวจสอบโรงงานด้านความปลอดภัยนั้น การตรวจสอบโรงงานจะตรวจสอบความถูกต้องและความพร้อมของโรงงาน ก่อนที่จะเริ่มประกอบกิจการโรงงานหรือประกอบกิจการโรงงานส่วนขยาย รวมทั้งตรวจสอบในคราวต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน เพื่อให้โรงงานมีความปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อพนักงาน และชุมชนที่อยู่ข้างเคียง