“ภูมิรัฐศาสตร์”หลอนส่งออกไทยปี 67 ค่าระวางเรือเส้นหลักพุ่งหลายเท่าตัว

“ภูมิรัฐศาสตร์”หลอนส่งออกไทยปี 67  ค่าระวางเรือเส้นหลักพุ่งหลายเท่าตัว

สรท. รับส่งออกปี 67 เจอโจทย์ยาก เฝ้าระวัง 5 ปัจจัยสำคัญ เร่งเปิดตลาดใหม่ดึงตัวเลขส่งออก เตรียม ถก พาณิชย์-สายเดินเรือ 11 ม.ค.นี้ หาแนวทางรับมือค่าระวางเรือพุ่งหลังวิกฤตทะเลแดง ขณะที่ส่งออกปี 66 ติดลบ 1%

การส่งออกถือเป็นเสาหลักสำคัญของรายได้ประเทศไทย ทำให้เศรษฐกิจของไทยต้องขึ้นกับสถานการณ์โลกที่แม้ว่าปัญหาความขัดแย้งต่างๆในขณะนี้จะเกิดขึ้นไกลจากประเทศไทยมากแต่ผลกระทบได้ส่งมาถึงแหล่งรายได้ของไทยแม้ยังไม่ชัดเจนแต่ก็น่ากังวลในระดับที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด 

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า การส่งออกในปี 2567 คาดการณ์ว่าเติบโตที่ 1-2 % แม้จะดีว่าปี 2566 ที่ติดลบ 1 % แต่โจทย์ปีนี้ยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะดูจากปัจจัยเสี่ยงภายนอกที่รุมเร้า แถมเผชิญปัญหาเฉพาะหน้าที่คาดการณ์ไม่ได้ ดังนั้นจะต้องบริหารความเสี่ยงให้ดี โดยในปี 2567 คาดว่ากลุ่มสินค้าเกษตรและอุสาหกรรมยังคงเป็นสินค้าที่โดดเด่นและเติบโตต่อเนื่องได้ซึ่งจะเป็นแรงหนุนให้การส่งออกปีนี้ ขยายตัวได้ตามเป้าหมาย 1-2 % ส่วนตลาดที่เป็นความหวัง เช่น สหรัฐ ยุโรป อ่อนแอและชะลอตัว ดังนั้นจำเป็นต้องเน้นเปิดตลาดใหม่ให้เร็วที่สุด

ในปี 2567 ปัจจัยเฝ้าระวังที่สำคัญ ได้แก่ 1. การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย โดยค่าเงินบาทเคลื่อนตัวอยู่ในกรอบ 34-35 บาท เฝ้าติดตามสถานการณ์เงินเฟ้อในสหรัฐ ที่ทยอยปรับตัวลดลงต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ( FED)  อาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในไตรมาสที่ 1/2567

2. อัตราดอกเบี้ยนโยบายหลายประเทศยังคงทรงตัวระดับสูง แต่เริ่มมีแนวโน้มที่จะทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในบางประเทศแล้วจากสภาวะเงินเฟ้อที่เริ่มผ่อนคลายลง

ขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์กระทบขนส่ง

3. ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่ยืดเยื้อส่งผลกระทบต่อการค้าและเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะสถานการณ์วิกฤติในทะเลแดง (Red sea) บริเวณช่องแคบบับ อัล-มันเดบ (Bab el-Mandeb Strait) ซึ่งเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าหลักไปทวีปยุโรปและตะวันออกกลาง ส่งผลให้ค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้นและใช้ระยะเวลาการขนส่งสินค้านานขึ้น

“โดยค่าระวางเรือเดือน ธ.ค. 2566 ที่ปรับเพิ่มขึ้น มีอัตราที่สูงมาก เช่นเส้นทางยุโรป เพิ่มจาก 779 ดอลลาร์ต่อTEU มาอยู่ที่ 2,694 ดอลลาร์ เส้นทางสหรัฐฝั่งตะวันออก จาก 2,316 ดอลลาร์ต่อFEUมาอยู่ที่ 3,559 ดอลลาร์”

  4.ดัชนีภาคการผลิต (PMI) ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ณ ระดับ 47.9 44.4 และ47.9 ตามลำดับ  และ5. ความกังวลเรื่องต้นทุนภาคการผลิตที่ยังมีความไม่แน่นอน อาทิ ค่าไฟฟ้า (ธ.ค. 2566 ที่ 3.99 บาท กรอบใหม่ 4.68 บาท) และค่าแรงขั้นต่ำ คณะรัฐมนตรี(ครม.) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2-16 บาท  ค่าระวางเรือเส้นทางยุโรปเริ่มปรับตัวสูงขึ้น เป็นต้น

“ภูมิรัฐศาสตร์”หลอนส่งออกไทยปี 67  ค่าระวางเรือเส้นหลักพุ่งหลายเท่าตัว

ห่วงภัยแล้งซ้ำเติมปัญหาส่งออก

“นอกจากปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังแล้ว ยังต้องดูผลกระทบภัยแล้งที่จะเข้ามาซ้ำเติมปัญหาที่มีอยู่เดิมให้มากขึ้นไป ถือเป็นปีที่ท้าทายอีกปีหนึ่งที่จะต้องทำให้การส่งออกของไทยตามเป้าโต 1-2% ให้ได้ ”

นายชัยชาญ กล่าวว่า สำหรับวิกฤติสถานการณ์ทะเลแดง ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ในการขนส่งสินค้าเอเชียไปยังยุโรปนั้น ขณะนี้บริษัทเดินเรือรายใหญ่หลายรายมีการเปลี่ยนเส้นทางอ้อมแหลมกู๊ดโฮป ทวีปแอฟริกา ส่งผลกระทบต่อต้นทุนและระยะเวลาขนส่งสินค้า โดยในส่วนของเส้นทางยุโรปค่าระวางเรือปรับขึ้น 80-90 หรือประมาณ 1 เท่า เดิมอยู่ที่ 2,000 ดอลลาร์ต่อตู้ก็ขยับขึ้นเป็น 5,000 ดอลลาร์ต่อตู้ 

โดยในวันที่ 11 ม.ค.นี้ทางสรท. สายเดินเรือ และกระทรวงพาณิชย์ จะมีการประชุมเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา นอกจากนี้ในช่วงนี้เป็นช่วงที่จีนจะส่งออกสินค้ามากเนื่องจากในเทศกาลตรุษจีนทำให้มีการดึงตู้คอนเทนเนอร์ไปจีนมากขึ้นเพื่อรองรับสินค้าเพื่อการส่งออก ดังนั้นการหมุนเวียนตู้ก็จะลดลงและอาจล่าช้า แต่จะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆหลังวันที่ 10 ก.พ.สถานการณ์ก็น่าจะกลับสู่ภาวะปกติ

แนะบริหารจัดการขนส่งร่วมกัน

          ทั้งนี้สรท.มีข้อเสนอ ประกอบด้วย 1. จากวิกฤตสถานการณ์ทะเลแดง ภาครัฐและเอกชนต้องบริหารจัดการการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางทะเลร่วมกัน โดยขอให้นำเรือใหญ่เข้ามาขนถ่ายสินค้าในไทยมากขึ้น สนับสนุนกิจกรรม Transshipment และยกระดับท่าเรือสงขลาโดยการขุดลอกร่องน้ำลึก ทั้งนี้เพื่อลดต้นทุนทางอ้อมและเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ

       2.เพื่อให้การส่งออกปี 2567 อยู่ในทิศทางที่สามารถเติบโตได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องบริหารจัดการปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการโดยตรง อาทิ ต้นทุนพลังงาน ค่าไฟฟ้า ค่าจ้างขั้นต่ำ อัตราดอกเบี้ย ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ในขณะเดียวกันควรมีมาตรการ Soft Loan เพื่อเสริมสภาพคล่องโดยเฉพาะกลุ่ม SME จากความผันผวนที่คาดการณ์ได้ยาก

        3. สนับสนุนงบประมาณในการเปิดตลาดศักยภาพใหม่ ในปี 2567 รวมถึงส่งเสริมกิจกรรมการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยเพิ่มมากขึ้น