10 ข้อควรรู้ก่อนใช้ ‘Easy E-Receipt‘ ใช้จ่ายลดหย่อนภาษีสูงสุด 50,000 บาท

10 ข้อควรรู้ก่อนใช้ ‘Easy E-Receipt‘  ใช้จ่ายลดหย่อนภาษีสูงสุด 50,000 บาท

เปิด 10 ข้อควรรู้ก่อนใช้ ‘Easy E-Receipt‘ ใช้จ่ายสูงสุด 50,000 บาท โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจต้นปี67 เผยแต่ละคนลดหย่อนภาษีได้ไม่เท่ากันขึ้นกับฐานรายได้สุทธิ โฆษกรัฐบาลหวังประชาชนใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจ

โครงการ "Easy E-Receipt" เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศในช่วงต้นปี 2567 โดยมีระยะเวลา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 โดยผู้ใช้สิทธิ์จะต้องซื้อสินค้าจากร้านค้าที่สามารถออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice หรือ e-Receipt) ซึ่งขอลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 50,000 บาท (ตามฐานภาษีจากรายได้สุทธิของแต่ละคน)

ทั้งนี้แต่ละคนจะได้รับการลดหย่อนภาษีไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับรายได้สุทธิที่ต้องยื่นเสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคลของแต่ละคน โดยถ้าใช้สิทธิเต็ม 50,000 บาท ได้สิทธิ์ลดหย่อนดังนี้

  • ได้ภาษีคืน 5,000 บาท ถ้ามีรายได้สุทธิ 300,001-500,000 บาทต่อปี
  • ได้ภาษีคืน 7,500 บาท ถ้ามีรายได้สุทธิ 500,001-750,000 บาทต่อปี
  • ได้ภาษีคืน 10,000 บาท ถ้ามีรายได้สุทธิ 750,001-1,000,000 บาทต่อปี
  • ได้ภาษีคืน 12,500 บาท ถ้ามีรายได้สุทธิ 1,000,001-2,000,000 บาทต่อปี
  • ได้ภาษีคืน 15,000 บาท ถ้ามีรายได้สุทธิ 2,000,001-5,000,000 บาทต่อปี
  • ได้ภาษีคืน 17,500 บาท ถ้ามีรายได้สุทธิ 5,000,001 บาทขึ้นต่อปี

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สนับสนุนให้เกิดการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ เชื่อมั่นว่าจะเป็นแรงส่งกระตุ้นภาพรวมเศรษฐกิจประเทศให้ขยายตัว และต้องการสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีให้ใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษี และการใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ จึงได้กำหนดมาตรการ “Easy E-Receipt” กระตุ้นการใช้จ่าย โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งมีหลักเกณฑ์ และเงื่อนไข ตามกฎกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 391 (พ.ศ. 2566) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร

ทั้งนี้ โฆษกรัฐบาลได้เผยแพร่คำตอบเพื่อคลายข้อสงสัย ดังนี้

1.สินค้า และบริการที่ร่วมโครงการ

สินค้าและบริการที่ซื้อและเข้าร่วมโครงการ

  • ค่าซื้อหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร
  • ค่าบริการหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร ที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
  • ค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว

  สินค้าและบริการที่ไม่สามารถร่วมโครงการได้

  •  ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์
  • ค่าซื้อยาสูบ
  • ค่าซื้อน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
  • ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
  • ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ และค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
  • ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาตามที่กำหนดในข้อ 1
  • ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย

2.ผู้ใช้สิทธิประโยชน์ ตามมาตรการ Easy E-Receipt คือบุคคลธรรมดา เท่านั้น ไม่รวม ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือ คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

3.ใบกำกับภาษีต้องมีชื่อผู้ซื้อสินค้าหรือชำระค่าบริการเพียงคนเดียว

4. ผู้ซื้อมีที่อยู่ตามบัตรประชาชน กับที่อยู่ในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลแตกต่างกันจะใช้ที่อยู่ตามบัตรประชาชน หรือ ที่อยู่ปัจจุบันก็ได้

5.ต้องเป็นการชำระค่าบริการและใช้บริการ ในช่วง 1 มกราคม 2567 ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2567เท่านั้น

6.ค่าซื้ออาหารในโรงแรม สามารถนำมาลดหย่อนได้ หากโรงแรมสามารถออกใบกำกับภาษีแบบเต็ม ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ e-Tax Invoice ของค่าซื้ออาหารได้

7.ค่าซื้อแพคเกจทัวร์ท่องเที่ยวในประเทศ สามารถนำมาลดหย่อนได้ หากเป็นค่าที่พักโรงแรมหรือบริการนำเที่ยวระหว่าง 1 มกราคม 2567 ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2567 และผู้ประกอบการสามารถออกใบกำกับภาษีแบบเต็ม ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ e-Tax Invoice ได้

8.ค่าซ่อมรถ สามารถนำมาลดหย่อนได้ หากเป็นการซ่อมและจ่ายค่าซ่อม ระหว่าง 1 มกราคม 2567 ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2567 และผู้ประกอบการสามารถออกใบกำกับภาษีแบบเต็ม ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ e-Tax Invoice ได้

9.การซื้อทองรูปพรรณสามารถนำมาลดหย่อนเป็นค่าซื้อสินค้าได้ เฉพาะค่ากำเหน็จ (ตามมูลค่าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม) หากผู้ประกอบการสามารถออกใบกำกับภาษีแบบเต็ม ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ e-Tax Invoice ได้

และ 10. ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ไม่สามารถนำมาลดหย่อนเป็นค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศได้