เปิด 5 กลยุทธ์ดันส่งออกปี 67 โต 2% เร่งทูตพาณิชย์ลุย 10 ตลาดเป้าหมาย

เปิด 5 กลยุทธ์ดันส่งออกปี 67 โต  2% เร่งทูตพาณิชย์ลุย 10 ตลาดเป้าหมาย

ปี 67 ส่งออกไทยยังเจอปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า "พาณิชย์-เอกชน "ตั้งเป้าส่งออกปี 67 โต 2 % เปิดแผนกิจกรรมการส่งออก 417 กิจกรรม พร้อมลุย 10 ตลาดเป้าหมาย

การส่งออกสินค้าของไทยในปี 2566 เผชิญปัจจัยลบหลายด้านจนทำให้การส่งออกในช่วง 11 เดือน แรกของปี 2566 ติดลบ 1.5% ในขณะที่การส่งออกปี 2567 ทั้งกระทรวงพาณิชย์และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ตั้งเป้าการส่งออกในปีนี้ขยายตัวได้ 2% 

รวมทั้งหวังว่าตลาดส่งออกสำคัญของไทยเริ่มพลิกกลับมาเป็นบวก ทิศทางค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบทิศทางไม่แข็งจนเกินไปซึ่งเอื้อต่อการส่งออกของไทย วัฏจักรการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มยุติลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว ประกอบกับความเชื่อมั่นในการบริโภคและการลงทุนกลับมา

ทั้งนี้ การส่งออกในปี 2567 ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ดัชนีภาคการผลิต (PMI) หลายประเทศยังทรงตัวและมีแนวโน้มหดตัวในบางตลาดสำคัญ และความกังวลต้นทุนภาคการผลิตมีความไม่แน่นอน

เปิด 5 กลยุทธ์ดันส่งออกปี 67 โต  2% เร่งทูตพาณิชย์ลุย 10 ตลาดเป้าหมาย

"ชัยชาญ เจริญสุข" ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.)กล่าวว่า ปี 2567 จะเป็นปีที่ยากอีกปีของการส่งออกไทย โดยไม่อยากเรียกว่า ”เผาจริง” แต่ขอเรียกว่าโหดกว่าปี 2566 ถึง 20% เพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวชัดเจนจากหลายปัญหาและปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ล้วนกดดันการส่งออกไทยในปีนี้

ตลาดการค้าจะลดลง การแข่งขันจะสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกเหนือจากปัจจัยที่กล่าวมาคงต้องจับตามาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเข้ามากดดันการส่งออกของไทยเพิ่มเติมนอกจากมาตราการซีแบม ยังมีกฎระเบียบ EU Deforestation Free Production Regulation (EUDR) ว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทําลายป่า เพื่อควบคุมสินค้าที่วางจําหน่ายในสหภาพยุโรปและที่ส่งออกจากสหภาพ ยุโรป ที่เชื่อมโยงกับการตัดไม้ทําลายป่าและการทําให้ป่าเสื่อมโทรม” ชัยชาญ กล่าว

"กีรติ รัชโน" ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เป้าหมายการส่งออกปี 2567 กำหนดไว้ที่ 2% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หลังจากที่เงินเฟ้อชะลอลงกลับสู่เป้าหมาย วัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มจะยุติลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว 

พร้อมกับความเชื่อมั่นในการบริโภคและการลงทุนที่กลับมาและจาการหารือร่วมกับภาคเอกชน และผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ที่ประจำอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกแล้ว

ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ประเมินว่า ในปี 2567 ปัจจัยท้าทายการส่งออกของไทย ประกอบด้วย 

1.สภาพอากาศแปรปรวนจากภาวะโลกเดือด (Global boiling) คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตการเกษตรของประเทศต่างๆ และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่จะผันผวนมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาวัตถุดิบนำเข้า และต้นทุนการดำเนินธุรกิจของไทย

2.อัตราเงินเฟ้อทั่วไป แม้จะปรับตัวลดลง แต่ยังคงอยู่ในระดับสูง ท่ามกลางกันชนทางการคลังของหลายประเทศร่อยหรอลง พร้อมระดับหนี้ที่สูงขึ้น ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงทั่วโลก ทำให้หลายประเทศมีความเสี่ยงต่อภาวะวิกฤตมากขึ้น

3.ความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องที่เศรษฐกิจโลกจะแยกออกเป็นบล็อค ท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และมาตรการจำกัดทางการค้าที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนแร่หายากที่เป็นสินค้ายุทธศาสตร์ ซึ่งการแข่งขันแย่งชิงทรัพยากรระหว่างประเทศจะรุนแรงขึ้น ไม่ใช่แค่เพียงระหว่างชาติมหาอำนาจเท่านั้น 

แต่ประเทศกำลังพัฒนาที่มีทรัพยากรแร่ธาตุที่อุดมสมบูรณ์ ได้เริ่มการจำกัดการส่งออกแร่หายาก เพื่อใช้ในการพัฒนาพลังงานทดแทน รถยนต์ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของตนเอง รองรับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ

สำหรับแผนเร่งรัดการส่งออกปี 2567 กระทรวงพาณิชย์ได้วาง 5 กลยุทธ์ ประกอบด้วย 

1.การเปิดประตูโอกาสทางการค้า เชิงรุก สู่ตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ ควบคู่ไปกับการรักษาตลาดเดิม โดยเดินสายสร้างสัมพันธ์ทั่วโลก เร่งผลักดันการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) เจาะตลาดเมืองรองศักยภาพ บูรณาการการทำงานระหว่างทูตพาณิชย์กับพาณิชย์จังหวัดให้เข้มข้นขึ้น เพื่อเชื่อมโยงสินค้าจากท้องถิ่นสู่ตลาดโลก เร่งสร้างรายได้ภาคการเกษตร

2.การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการส่งออก ด้วยแบรนด์ นวัตกรรม การออกแบบ และการสอดแทรกคุณค่าอัตลักษณ์ความเป็นไทย โดยมุ่งผลักดัน 11 สาขา soft power เป้าหมาย รุกสู่เวทีโลก

3.การผลักดันภาคธุรกิจไทยปรับตัวเข้าสู่การค้าโลกในยุคดิจิทัล และส่งเสริม Cross-border E-Commerce

4.การสานต่อนโยบาย Carbon Neutrality ผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อสร้างโอกาสทางการค้า ภายใต้มาตรการกีดกันทางการค้าที่เชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อม โดยเดินหน้าบ่มเพาะผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจตามแนวคิด BCG และส่งเสริมออกสู่ตลาดโลก

5.การยกระดับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย (Logistics Service Providers) และส่งเสริมการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงกับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในภูมิภาค เพื่อยกระดับประเทศไทยเป็น Logistics Hub ของภูมิภาค 

นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายทูตพาณิชย์ใน 10 ประเทศเป้าหมาย ภายใต้นโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก คือ สหรัฐ จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี  ฝรั่งเศส อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เกาหลีใต้ ซาอุดิอาระเบีย และแอฟริกาใต้ จัดทำแผนขับเคลื่อนการส่งออกไปยังตลาดเป้าหมายดังกล่าวเพิ่มเติมด้วย

ทั้งนี้ปี 2567 กระทรวงพาณิชย์กำหนดแผนกิจกรรมการส่งออก 417 กิจกรรม คาดการณ์มูลค่าส่งออก 65,700 ล้านบาท ประกอบด้วย 

1.ตลาดตะวันออกกลางและแอฟริกา 29 กิจกรรม 2.ตลาดจีนและฮ่องกง จำนวน 38 กิจกรรม 3.ตลาดเอเชียใต้ 12 กิจกรรม 4.ตลาดอาเซียน 29 กิจกรรม 5.ตลาดอเมริกา 24 กิจกรรม 6.ตลาดยุโรป 59 กิจกรรม 7.ตลาดเอเชียตะวันออกและโอเชียเนีย 25 กิจกรรม และ 8.ทุกตลาด รวม 132 กิจกรรม เช่น จัดงานแสดงสินค้านานาชาติในประเทศไทย กิจกรรมจับคู่ธุรกิจทั้งออนไลน์ และออฟไลน์

รวมทั้งมีแผนส่งเสริมการค้าการลงทุนชายแดนและเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยจัดมหกรรมการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านร่วมกับภาคเอกชนและเกษตรกร กำหนดมาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 2567 (6 มาตรการ 24 แผนงาน) ได้แก่ ด้านผลิต-แปรรูป ด้านตลาดในประเทศ ต่างประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพทางการค้า อำนวยความสะดวกทางการค้า และมาตรการทางกฎหมาย (เป้าหมาย 900,000 ตัน)

“การส่งออกปี 2567 แม้กระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนเชื่อว่าจะขยายตัวได้ 2% แต่เส้นทางตลอดทั้งปีอาจต้องเจอกับอุปสรรคที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับส่งออกไทย”