ครม.ไฟเขียวโอนพิกัดศุลกากรเขตการค้าเสรี "TAFTA" ตามข้อตกลง "WTO"

ครม.ไฟเขียวโอนพิกัดศุลกากรเขตการค้าเสรี "TAFTA" ตามข้อตกลง "WTO"

ครม.ไฟเขียวปรับโอนพิกัดศุลกากรของกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายการสินค้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ตามข้อตกลง WTO

นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (2 มกราคม 2567) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ให้ความเห็นชอบบัญชีกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้า (Product-Specific Rules of Origin : PSRs) ในพิกัดศุลกากรกรระบบฮาร์โมไนซ์ ฉบับปี 2022 (Harmonized System 2022 : HS 2022) ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (Thailand-Australia Free Trade Agreement : TAFTA)

และให้ความเห็นชอบการลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนของฝ่ายไทยเพื่อดำเนินการแก้ไขภาคผนวก  เรื่อง กฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้า ของความตกลง TAFTA โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนของฝ่ายไทย และมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ(กต.) ดำเนินการออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนของฝ่ายไทย

นอกจากนี้ยังมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลัง  ดำเนินกระบวนการภายในเพื่อให้บัญชีกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้าภายใต้ความตกลง TAFTA ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 1 มีนาคม 2567 โดยกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่าการดำเนินกระบวนการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน จึงขอเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อเรื่องดังกล่าวโดยเร็วที่สุด

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะกรรมการด้านกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Committee on Rules of Origin : CROO) ภายใต้ความตกลง TAFTA ซึ่งมีกรมศุลกากรเป็นหัวหน้าผู้แทนไทย ได้หารือกับฝ่ายออสเตรเลียเพื่อดำเนินการปรับโอนพิกัดศุลกากรของบัญชี PSRs จากระบบฮาร์โมไนซ์ ฉบับปี 2002 (HS 2002) เป็นระบบอาร์โมไนซ์ ฉบับปี 2022 (HS 2022) เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับโอนพิกัดศุลกากรขององค์การศุลกากรโลก (World Customs Organization : WCO) ในปัจจุบัน โดยการดำเนินการดังกล่าวจำเป็นต้องแก้ไขภาคผนวก 4.1 ของความตกลง TAFTA ซึ่งจะต้องดำเนินการตามข้อ 1902 และข้อที่ 1903 ของความตกลง 4.1 ของความตกลง TAFTA  ซึ่งจะต้องดำเนินการตามข้อ 1902 และข้อที่ 1903 ของความตกลง TAFTA

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2566 ที่ประชุมคณะกรรมาธิการร่วมความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย ครั้งที่ 4 ให้ความเห็นชอบในหลักการต่อบัญชี PSRs ฉบับ HS 2022 และเห็นพ้องให้ดำเนินการแลกเปลี่ยนหนังสือ (exchange of letter) ซึ่งเป็นการดำเนินการตามข้อที่ 1903 ของความตกลง TAFTA เพื่อยืนยันข้อตกลงในการแก้ไขภาคผนวก 4.1 (เรื่อง กฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้า) ของความตกลง (TAFTA รวมทั้งมอบหมายให้ทั้งสองฝ่ายดำเนินกระบวนการภายใน ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บัญชี PSRs ฉบับ HS2022 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มีนาคม 2567 และเนื่องจาก WCO มีการจัดประเภทสินค้าใหม่ มีการรวมสินค้าที่มีปริมาณการซื้อขายน้อยมาอยู่ในพิกัดศุลกากรอื่นที่มีอยู่ และมีการยกเลิกพิกัดศุลกากรเดิม จึงทำให้ต้องดำเนินการปรับโอนพิกัดศุลกากรของบัญชี PSRs ภายใต้ความตกลง TAFTA จากฉบับ HS 2002 เป็นฉบับ HS 2022

ซึ่งประกอบด้วย พิกัดศุลกากรของสินค้า จำนวน 5,612 รายการ (เพิ่มขึ้น 388 รายการ จากพิกัดศุลกากรเดิม HS 2002 ที่มีจำนวน 5,224 รายการ  ทั้งนี้ การปรับรายการพิกัดศุลกากรในครั้งนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อรายการสินค้าภายใต้ความตกลง TAFTA เนื่องจากไม่มีการปรับเพิ่มหรือลดรายการสินค้าแต่อย่างใด)

โดยสามารถแบ่งการปรับโอนเป็น 3 กลุ่มได้แก่

(1) พิกัดศุลกากรและ PSRs ไม่เปลี่ยนแปลง 4,408 รายการ

(2) พิกัดศุลกากรไม่เปลี่ยนแปลงแต่ PSRs เปลี่ยนแปลง 84 รายการ

และ (3) พิกัดศุลกรกรและ PSRs ใหม่ 1,120 รายการ

 

ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี โดยมีความเห็นสรุปได้ ดังนี้

1.กรมศุลกากร พิจารณาแล้วเห็นว่าการปรับโอนพิกัดศุลกากรในครั้งนี้ไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงพันธกรณีที่ไทยผูกพันไว้เดิมในด้านการลดภาษีหรือยกเลิกอากรศุลกากร

2.สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) พิจารณาแล้วเห็นว่าร่างหนังสือแลกเปลี่ยนของฝ่ายไทยเข้าลักษณะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่โดยที่ พณ. (กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ) แจ้งว่าการปรับโอนพิกัดศุลกากรของบัญชี PSRs ภายใต้ความตกลง TAFTA เป็นการดำเนินการทางเทคนิคเพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินการของ WCO ไม่ได้เปลี่ยนแปลงข้อผูกพันในการเปิดตลาดสินค้า และเป็นการปรับปรุงในระดับเทคนิคที่ไม่ได้มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม การค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างกวาง กรณีจึงไม่เข้าลักษณะเป็นหนังสือสัญญาตามที่มีการกำหนดขอบเขตและความหมายไว้ในมาตรา 178 วรรคสาม อีกทั้งไม่เข้าลักษณะเป็นหนังสือสัญญาประเภทอื่นตามมาตรา 178 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงไม่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันรัฐบาลไทยตามมาตรา 4(7) แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 กรณีจึงต้อเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ พณ. ยังเห็นว่าการจัดทำหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างไทยและออสเตรเลีย เพื่อแก้ไขภาคผนวก 4.1 ของความตกลง TAFTA เข้าข่ายเป็นการทำหนังสือสัญญาเกี่ยวกับการค้าเสรีตามมาตร 178 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแหงราชอาณาจักรไทย อย่างไรก็ดี ไม่เข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง ที่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาตามมาตรา 178 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เนื่องจากมีสาระสำคัญเป็นเพียงการปรับโอนพิกัดศุลกากรของกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้า จากพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ ฉบับปี 2002 (HS 2002) เป็น ฉบับปี 2022 (HS 2022)

ซึ่งเป็นการดำเนินการทางเทคนิคเพื่อให้สอดคล้องกับการปรับโอนพิกัดศุลกากรขององค์การศุลกากรโลก และการปรับโอนพิกัดศุลกากรดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานของเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าเดิม ตามที่ตกลงกันไว้ภายใต้ความตกลง TAFTA จึงไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงพันธกรณีที่ฝ่ายไทยและออสเตรเลียมีอยู่เดิม