CEO ชงรัฐบาลสร้าง ‘บิ๊กเชนจ์’ โจทย์ใหญ่ ‘รัฐบาล’ เปลี่ยนประเทศ

CEO ชงรัฐบาลสร้าง ‘บิ๊กเชนจ์’ โจทย์ใหญ่ ‘รัฐบาล’ เปลี่ยนประเทศ

8 ซีอีโอ มองเศรษฐกิจปี 2567 ปีแห่งความท้าทาย “ศุภชัย” หนุนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ฟื้นเชื่อมั่นต่างชาติ “จรีพร“ ย้ำโจทย์ใหญ่รัฐบาลสร้างบิ๊กเชนจ์จุดเปลี่ยนประเทศ “คงกระพัน“ แนะเร่งดึงการลงทุน “บีไอจี” ชี้ธุรกิจเติบโตไม่ง่ายเหมือนเดิม “บิทคับ” รับมือคริปโทขาขึ้น

 “เอ็กซิมแบงก์” แนะปรับพอร์ตส่งออกรับมือภูมิรัฐศาสตร์ “แสนสิริ” หนุนเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ

ความท้าทายในปี 2567 เพิ่มขึ้นจากปี 2566 อย่างชัดเจนเมื่อเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ายังชะลอตัว ในขณะที่ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์เกิดขึ้นในหลายภูมิภาค โดย “กรุงเทพธุรกิจ” ได้สำรวจความเห็นซีอีโอ 8 องค์กร เกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในปี 2567 ที่กำลังมีผลต่อการขับเคลื่อนแผนธุรกิจ

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด กล่าวว่า ทิศทางเศรษฐกิจโลกปี 2567 มีความผันผวนและเปลี่ยนแปลงเยอะมาก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศขั้วมหาอำนาจของโลก ซึ่งการปรับตัวของระบบเศรษฐกิจโลกส่งผลถึงเศรษฐกิจไทยให้ต้องปรับตาม

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยความท้าทายหลายเรื่องที่กระทบเศรษฐกิจโลกทั้งเรื่องความยั่งยืน ภัยแล้ง น้ำท่วม ผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการแบ่งขั้วของการเมืองโลก กระทั่งการเกิดสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-ฮามาส ซึ่งมีโอกาสจะขยายตัวได้ แต่มองว่าคงจะไม่รุนแรงถึงกับเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3

ขณะเดียวกันเศรษฐกิจไทยยังคงมีความท้าทายในทุกมิติ หากปี 2567 เศรษฐกิจไม่ดีขึ้นจะส่งผลต่อเนื่องให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมทั้งหมดเกิดการชะลอตัว

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด

“การเติบโตของรายได้ประชากรต่อหัวของไทยยังอยู่ระดับต่ำ ดังนั้นการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระยะสั้น กลางและยาวต้องทำไปพร้อมกันเพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นกลับขึ้นมาได้ดีกว่าประเทศอื่น หรืออย่างน้อยเติบโตในระดับอาเซียน”

ทั้งนี้ การสร้างพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจที่ดีตั้งแต่ระบบการศึกษา และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่องเป็นเรื่องที่จำเป็น แม้ว่าเศรษฐกิจในภาพรวมในปี 2567 ยังไม่เห็นผล แต่จะสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนต่างประเทศดึงดูดทุนโลกไหลกลับเข้าไทย

“การสร้างความมั่นใจว่าไทยจะเดินหน้าในเรื่องพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มรายได้ประชากร คมนาคม เกษตร ชลประทาน รถไฟความเร็วสูงและแลนด์บริดจ์ แม้เศรษฐกิจปีหน้าอาจยังไม่โต แต่การลงทุนเหล่านี้จะดึงความมั่นใจของทุนให้กลับมาไทย เพราะนักลงทุนประเมินทั้งระยะสั้นและยาว”

นายศุภชัย กล่าวว่า การผลักดันภาคการเกษตรและชลประทานได้ดีจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตก้าวกระโดดได้ รวมทั้งต้องเร่งผลักดันการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีทั้งภาครัฐ (E-Government) และอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ AI ให้เกิดขึ้นควบคู่กันเป็นหยินและหยาง

เศรษฐกิจไทยมีความไม่แน่นอนสูง

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายจะต้องมีความระมัดระวัง โดยยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวไปได้ต่อ แต่ยังคงมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้รวมทั้งยังคงมีปัจจัยที่มีความไม่แน่นอนสูง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ผู้ประกอบการและฝ่ายนโยบายจะต้องมีการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง รวมถึงการระมัดระวังของฝ่ายนโยบายในการออกนโยบายสำหรับการดำเนินการในปี 2567

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีความท้าทายที่หลายฝ่ายจะต้องจับตามองรวม 3 ประเด็น ประกอบด้วย

1.สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลกระทบเศรษฐกิจไทย

2.สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นสุดท้ายได้ขยับเข้าใกล้ประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น เช่น สถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศเมียนมา ซึ่งในปัจจุบันยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าความขัแดย้งจะไปสู่ระดับใด

3.ราคาพลังงานที่มีทิศทางผันผวน

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)

ส่วนนโยบายการตรึงราคาพลังงานที่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยเฉพาะการตรึงค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 ไว้ที่หน่วยละ 4.10-4.20 บาท ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่าจะมีการดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป รวมทั้งพร้อมที่จะรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และ ปตท.พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ

“จรีพร” แนะ “บิ๊กเชนจ์” โจทย์ใหญ่รัฐบาล

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น หรือ WHA กล่าวว่า เศรษฐกิจปี 2567 มีทิศทางดีขึ้นแต่มีความท้าทายมาก โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลคือจะทำอย่างไรที่จะเดินหน้านโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ดีกว่านี้เพื่อหลุดพ้นจากจุดที่เรียกว่า “วิกฤติ”

“ไทยผ่านช่วงโควิด-19 มาแล้ว แต่จากนี้จะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจเติบโตในปี 2567 จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ได้ (A Big Change) ไม่อย่างนั้นถ้าเศรษฐกิจไทยยังนิ่งๆ แบบนี้เพื่อนบ้านจะแซงไปหมด”

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น หรือ WHA 

ทั้งนี้ 3 ปัจจัยความท้าทายหลักของเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ประกอบด้วย 

1.การดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ให้เข้ามาในไทยมากที่สุด 

2.กระตุ้นการลงทุนตลาดทุนไทย 

3.การดูแลเศรษฐกิจรากหญ้า โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงกว่า 90% รวมถึงช่วยเหลือรายย่อยและเอสเอ็มอีให้เติบโต

นางสาวจรีพร กล่าวว่า ยังมีการเจรจากับนักลงทุนต่างประเทศต่อเนื่องทั้งจีน ญี่ปุ่นและสหรัฐ โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ รวมถึงกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และคอนซูเมอร์ที่ดีต่อเนื่อง

“การเดินทางไปเชิญชวนนักลงทุนเชิงรุกโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำคณะ สร้างความเชื่อมั่นให้กลุ่มบริษัทระดับโลก ซึ่งเอกชนมีความพร้อมรับการลงทุนใหม่แน่นอน”

เร่งดึงลงทุน-อัดมาตรการกระตุ้น

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยค่อนข้างพึ่งเศรษฐกิจโลกพอสมควร ซึ่งปี 2567 มีความไม่แน่นอนสูง ดังนั้นการเดินหน้านโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศต้องทำเต็มที่ทั้งการลงทุนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ความท้าทายที่ต้องจับตาในปี 2567 ประกอบด้วย 1.ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ 2.ความผันผวนของราคาพลังงาน ซึ่งมองว่าราคาน้ำมันยังคงผันผวนสูง 3.เศรษฐกิจถดถอยในประเทศต่างๆ ที่ยังต้องจับตาดูว่าจะดีขึ้นมากน้อยเพียงใด

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC

ธุรกิจปี 67 เติบโตไม่ง่ายเหมือนเดิม

นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บีไอจี กล่าวว่า การเติบโตของธุรกิจปี 2567 ไม่ง่ายเหมือนเดิม ต่อไปธุรกิจต้องคำนึงบริบทความยั่งยืนด้วย แม้หลายคนมองเป็นต้นทุนแต่บีไอจีมองเป็นโอกาส

รวมทั้งที่ผ่านมาไทยเติบโตจากภาคอุตสาหกรรมที่ผลิตปริมาณมาก (Mass Production) เพื่อให้มีต้นทุนถูกและขายปริมาณมาก แต่ปัจจุบันสินค้าไทยเริ่มแข่งขันราคาไม่ได้ทั้งเวียดนาม อินโดนีเซียและจีน แต่หากดึงจุดเด่นไทยในบริบทความยั่งยืนเชื่อว่ามีโอกาสอีกมาก

นายปิยบุตร กล่าวว่า ความท้าทายปี 2567 ยังต้องจับตา คือ 1.ราคาพลังงานที่อาจกลับมาสูงขึ้นอีก 2.ภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ 3.ความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งต้องทำให้เป็นโอกาสและอย่าเห็นเป็นภัยคุกคาม

ปรับพอร์ตส่งออกรับมือ “ภูมิรัฐศาสตร์”

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) กล่าวว่า แนะนำผู้ส่งออกให้เร่งปรับพอร์ตการส่งออกจากตลาดหลักในกลุ่มประเทศขนาดใหญ่มาสู่ตลาดเอเชียใต้มากขึ้น เพื่อรองรับความขัดแย้งทางการเมืองของกลุ่มประเทศมหาอำนาจที่ส่งผลต่อกำลังซื้อ

สำหรับผู้ส่งออกไทยต้องมีตลาดใหม่ โดยตลาดเอเชียใต้ที่มีอินเดียมีประชากรถึง 2 พันล้านคน ส่วนตลาดอาเซียนมีประชากรถึง 700 ล้านคน ในจำนวนนี้อินโดนีเซียที่เศรษฐกิจกำลังปังมีประชากรถึง 200 ล้านคน ดังนั้นแทนที่จะอยู่กับตลาดเก่าที่ยังทะเลาะกันจึงควรยึดตลาดใหม่ที่เริ่มมีกำลังซื้อ ซึ่งมีทีมไทยแลนด์ในตลาดใหม่ที่จะให้ข้อมูล และขอแนะนำให้ผู้ส่งออกไทยเร่งออกไปหาตลาดใหม่ด้วยตนเอง

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์)

“บิทคับ” เตรียมรับคริปโทขาขึ้น 

นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด กล่าวว่า ทิศทางองค์กรปี 2567 มุ่งเป้าเป็นผู้บริการโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย ที่จะพัฒนาองค์กรด้วยระบบสตาร์ตอัปแบบเดิมไม่ได้อีก โดยจะเป็น "เอ็กซ์เชนจ์พร็อกซี” ศูนย์กลางของดิจิทัลแอสเสทในไทย

ดังนั้น บิทคับต้องมีทุกใบอนุญาตในการทำธุรกิจครบวงจร และเป็นช่วงเริ่มต้นสำหรับจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) เพื่อขออนุญาตเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไป (IPO) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ใน 1-2 ปี

ทั้งนี้ ทำให้กลุ่มบริษัทย่อยของบิทคับทั้ง 5 แห่ง และบริษัทร่วมทุนอีก 2 แห่ง ต้องมีโรดแมปและ KPI ดัชนีชี้วัดความสำเร็จ 6 เดือนแรกในปี 2567 ว่าจะเติบโตอย่างไรเพื่อเคลื่อนไหวตามตลาดที่กลับมาคึกคัก ถึงขั้นเตรียมหาพื้นที่ขยายออฟฟิศเพื่อรองรับพนักงาน

นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด

แน่นอนว่าช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา บิทคับประสบความสำเร็จ แต่ยังมีอีกเป้าหมาย คือ “การเติบโตแบบยั่งยืน" ในการเป็นที่พึ่งพาให้นักลงทุนและทุกคนในประเทศ ในฐานะผู้มีความรู้ในสินทรัพย์ดิจิทัลที่อาจทำให้บิทคับเติบโตในแง่ของรีเทิร์นที่ยั่งยืน

“บิทคับใช้เวลาช่วงตลาดขาลง ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงองค์กรให้สะอาดเสมือนการปรับฐานครั้งใหญ่เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคง ซึ่งการขยายธุรกิจในปี 2567 อยู่ท่ามกลางการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น"

“แสนสิริ” หนุนเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปี 2567 มีความไม่แน่นอนสูงหลายด้าน ขณะที่การขยายตัวของจีดีพีส่วนหนึ่งขึ้นกับเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งมีเอฟเฟกต์ 5.5 เท่า หากไม่ออกมาจะทำให้จีดีพีอยู่ที่2.6-3.0% แต่หากออกมาใช้จะขึ้นมาที่ 3.5%

“จีดีพี มีผลต่อการเติบโตของอสังหาริมทรัพย์ ถ้ากระตุ้นที่เหมาะสมจะทำให้เกิดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จะช่วยเศรษฐกิจฟื้นตัวได้”

รวมถึงการท่องเที่ยวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจต้องดูว่านักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาดีเหมือนก่อนโควิดหรือไม่ หากเข้ามาจะช่วยกระตุ้นอสังหาฯ ได้ดี เพราะชาวต่างชาติที่ซื้ออสังหาฯ มากที่สุดคือคนจีน

สำหรับปัจจัยลบที่สำคัญ คือ ดอกเบี้ยในประเทศที่ปรับขึ้นในภาวะเศรษฐกิจยังไม่ดี และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน หรือ อิสราเอล-ฮามาส ล้วนเป็นปัจจัยลบฉุดเศรษฐกิจโลกส่งผลถึงไทย

ส่วนปัจจัยบวกเป็นการท่องเที่ยวที่กลับมาดีขึ้น ยิ่งถ้ามีเงินดิจิทัล 10,000 บาท ออกมาจะดีเพราะทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน บริษัทเล็กอยู่รอดได้ และทำให้กำลังซื้อเพิ่มขึ้น โดยการรับมือเศรษฐกิจปี 2567 ต้องก้าวเดินอย่างระมัดระวัง มอนิเตอร์รายไตรมาส การลงทุนต้องมีข้อมูลถูกต้องแม่นยำทั้งดีมานด์ โลเคชั่น ก่อนเปิดตัวโครงการในราคาที่เหมาะสมเพราะกำลังซื้อลดลง

นายอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)