‘แลนด์บริดจ์’ ติดสปีดปี ‘มังกรทอง’ ขายฝันดึงต่างชาติร่วมลงทุน

‘แลนด์บริดจ์’ ติดสปีดปี ‘มังกรทอง’ ขายฝันดึงต่างชาติร่วมลงทุน

จับตาปี2567 คมนาคมลุยต่อ “แลนด์บริดจ์” จัดตารางโรดโชว์ตะวันออกกลาง – ยุโรป ดึงเอกชนสายการเดินเรือเข้าร่วม พร้อมปักธงขายซองเอกสารปลายปี 2568

ในปี 2567 กระทรวงคมนาคม ตั้งเป้าเร่งผลักดันโครงการลงทุนด้วยเม็ดเงินส่วนอื่นๆ อาทิ กองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ (TFF) เพราะปัญหาใหญ่คือการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2567 ที่ต้องล่าช้าไปถึงกลางปี หรือราวเดือน พ.ค.2567 ทำให้การขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต้องสะดุด

ขณะเดียวกันโครงการเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน หรือ แลนด์บริดจ์ จะเป็นอีกหนึ่งโครงการชูโรงในปี 2567 ด้วยนโยบายของรัฐบาลที่เดินหน้าโรดโชว์ดึงนักลงทุนต่างชาติเข้าร่วมประมูลโครงการมูลค่าแสนล้านนี้ และไทม์ไลน์การทำงานก็ใกล้เข้ามาทุกที เพราะคาดว่าจะสามารถออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนในปี 2568

กระทรวงคมนาคมในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการ เผยผลสำเร็จของการโรดโชว์ในปี 2566 จากการเดินทางไปสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น พบว่ามีการตอบรับที่ดีเกินคาด โดยเฉพาะจากญี่ปุ่นที่เดิมคาดว่าจะมีเอกชนเข้าร่วมประมาณ 20 บริษัท แต่มีเอกชนเข้าร่วมเกือบ 30 บริษัท ขณะที่ในปี 2567 กระทรวงคมนาคมวางแผนจัดโรดโชว์แก่นักลงทุนต่างชาติ อาทิ จีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย สวีเดน สวิสเซอร์แลนด์ และหลายประเทศในตะวันออกกลาง

ชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า แลนด์บริดจ์เป็นโครงการที่ศึกษาและดำเนินการมานาน ซึ่งปี 2565 มีปริมาณขนส่งสินค้าทั่วโลก 37.7 ล้านล้านดอลลาร์ มีปริมาณขนส่งสินค้าในเอเชีย 40% และยุโรป 38% คิดเป็นการนำเข้าสินค้า 19 ล้านล้านดอลลาร์ และการส่งออกสินค้า 18.7 ล้านล้านดอลลาร์

ขณะที่เส้นทางการเดินเรือทั่วโลกมีหลายเส้นทาง อาทิ ช่องแคบฮอมูส คลองสุเอส คลองปานามา และช่องแคบมะละกาที่อยู่ใกล้ไทย และมีปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านไทยเข้าช่องแคบมะลากาจำนวนมาก โดยเฉพาะสินค้าด้านพลังงาน เช่น น้ำมันที่ผลิตจากตะวันออกกลาง มีอัตราการขนส่ง 16 ล้านบาร์เรลต่อวัน อีกทั้งมีโรงงานผลิตที่อยู่ในจีนตอนใต้ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และไต้หวัน ซึ่งสอดรับตลาดส่วนใหญ่ที่อยู่เอเชียกลาง เอเชีย ยุโรปและแอฟริกา

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีประเทศที่ผลิตน้ำมันเพื่อส่งออกผ่านช่องแคบมะละกาหลายประเทศ ดังนี้ 1.สหรัฐ 2.ซาอุดิอาระเบีย 3.รัสเซีย 4.แคนาดา 5.จีน 6.สหรัฐอาหรับเอมิเรต และ 7.อิหร่าน ส่งผลให้มีปริมาณเรือขนส่งสินค้าผ่านช่องแคบมะละกาอยู่ที่ 85,000 ลำต่อปี โดยในปี 2573 รองรับปริมาณเรือขนส่งสินค้าสูงสุดที่ 122,000 ลำต่อปี ทำให้ช่องแคบมะลากาเป็นจุดที่สำคัญต่อการขนส่งสินค้าทางทะเลโลกและมีอิทธิพลต่อภูมิภาค

โดยขณะนี้การจราจรทางเรือติดขัดขึ้นจึงเป็นปัจจัยกระตุ้นโครงการแลนด์บริดจ์ให้น่าสนใจขึ้น ขณะเดียวกันไทยมีจุดแข็ง คือ ตำแหน่งที่ตั้งที่อยู่ระหว่างกลางของเส้นทางการเดินเรือโลกที่มีความหนาแน่นมากแห่งหนึ่งของโลก ทั้งเส้นทางเรือขนส่งน้ำมันและตู้สินค้า ทำให้แลนด์บริดจ์ คือคำตอบในเรื่องนี้ เป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางน้ำของโลก

“ปัจจุบันโครงการแลนด์บริดจ์อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมรูปแบบธุรกิจ (Business Model) ทั้งการออกแบบเบื้องต้นท่าเรือ รถไฟ และศึกษา EHIA ท่าเรือและ EIA ทางรถไฟ ซึ่งกุญแจสำคัญที่จะทำให้โครงการแลนด์บริดจ์สำเร็จ ไม่ได้อยู่ที่ระยะเวลาการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน แต่อยู่ที่ Business Model”

ทั้งนี้ กลุ่มนักลงทุนที่มีศักยภาพจะเป็นสายเดินเรือ ซึ่งในปัจจุบันสายเดินเรือได้รวมกลุ่ม 3 กลุ่มใหญ่ ส่วนแบ่งตลาด 84.6% ของตลาดขนส่งตู้คอนเทนเนอร์โลก ดังนี้

1.กลุ่ม 2M ส่วนแบ่งการตลาด 35.6% ประกอบด้วย MAERSK และ msc

2.กลุ่ม Ocean Alliance ส่วนแบ่งการตลาด 30.3% ประกอบด้วย COSCO SHIPPING , OOCL , EVERGREEN และ CMA CGM

3.กลุ่ม The Alliance ส่วนแบ่งการตลาด 18.7% ประกอบด้วย Hapag-Lloyd , YANG MING และ ONE

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญของโครงการแลนด์บริดจ์ คือ การเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติมาร่วมลงทุน โดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนรับสัญญาสัมปทาน 50 ปี ซึ่งในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้เริ่มโรดโชว์ในต่างประเทศบ้างแล้ว และได้รับการตอบรับที่ดีทั้งจากนักลงทุนและสายการเดินเรือ ส่วนขั้นตอนดำเนินการหลังจากนี้ คาดว่าโรดโชว์จะแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2567

หลังจากนั้นจะดำเนินการเสนอร่าง พ.ร.บ.เขตพิเศษภาคใต้ (SEC) ต่อสำนักงาน SEC ภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 และดำเนินการออกประกาศเชิญชวนนักลงทุนภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2568 พร้อมเปิดประมูลได้ภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2569 ส่วนการเวนคืนที่ดินจะดำเนินการได้ภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2569 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายในปี 2569 โดยจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2573

ท้ายที่สุดโครงการแลนด์บริดจ์จะเกิดขึ้นจริงหรือแค่ขายฝัน คงต้องรอลุ้นจากผลตอบรับโรดโชว์ในปี 2567 ที่กำลังจะเกิดขึ้น