เศรษฐกิจสหรัฐ เงินเฟ้อ ดอกเบี้ยและการลงทุน | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

เศรษฐกิจสหรัฐ เงินเฟ้อ ดอกเบี้ยและการลงทุน | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

เมื่อต้นปีนี้ (2023) นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า ธนาคารกลางสหรัฐจะต้องปรับลดดอกเบี้ยลงตอนกลางปี หลายฝ่ายมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่สภาวะถดถอยในช่วงสั้น (ในไตรมาส 3) และจะเข้าสู่ภาวะฟื้นตัวในปี 2024

แต่การคาดการณ์ดังกล่าวผิดพลาดทั้งหมด เศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่งอย่างมาก จีดีพีไตรมาส 3 ของสหรัฐแทนที่จะถดถอย กลับขยายตัวสูงถึง 5.2% และธนาคารกลางสหรัฐแทนที่จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย กลับต้องปรับดอกเบี้ยขึ้น

และล่าสุด ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐก็ยัง “ปากแข็ง” บอกว่ายังไม่มีแนวคิดที่จะปรับลดดอกเบี้ยแต่อย่างใด

ในความเห็นของผมนั้น ผลกระทบกับประเทศไทยที่ตามมาคือ การที่คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแบบผิดคาดของตลาดจาก 1.25% มาเป็น 2.5%

แม้ว่าเงินเฟ้อในประเทศไทยจะปรับตัวลดลงจาก 6% ตอนต้นปี มาติดลบติดกัน 2 เดือนในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน แปลว่า ดอกเบี้ยจริงปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ผลที่ตามมา คือ การที่ลูกหนี้ กำลังประสบปัญหาในการบริหารจัดการหนี้

พร้อมกันนี้ จีดีพีไทยชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ต้นปี คือจีดีพีไตรมาส 1 ขยายตัว 2.6% ไตรมาส 2 ลดลงมาที่ 1.8% และไตรมาส 3 ไหลลงมาอีกที่ 1.5% ทั้งนี้ เป็นการลดลงจากปี 2022 ที่จีดีพีขยายตัวเพียง 2.6% ต่ำกว่าจีดีพีโลกที่ขยายตัว 3.5% ในปี 2022

การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจไทยนั้น น่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยปรับตัวลดลงทั้งปีนี้จาก 1,679 ตอนต้นปี ลดลงมาเหลือ 1,372 ณ วันที่ 12 ธ.ค 66 ลดลง 18% เทียบกับ S&P ของสหรัฐที่ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 20% ในช่วงเดียวกัน

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2024 ไม่สู้จะดีนักเพราะ 4 เหตุผลหลักคือ

1.เศรษฐกิจหลักคือสหรัฐและยุโรปจะขยายตัวลดลง (ยุโรปร่อแร่ที่จะเข้าสู่สภาวะถดถอย) 2 กลุ่มประเทศนี้ จีดีพีรวมกัน 40% ของจีดีพีโลก

2.เศรษฐกิจจีนก็ฟื้นตัวต่ำกว่าคาด Moody’s เพิ่งปรับแนวโน้มหนี้รัฐบาลเป็นลบ แต่ที่สำคัญคือคาดการณ์จีดีพีโตช้าลงจากประมาณ 5% ในปีนี้ เหลือ 4% ต่อปีในปี 2024  และ 2025

3.นโยบายการเงินของไทยตึงมาก (restrictive) เพราะดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจาก 1.25% เป็น 2.5% ในปีนี้ แปลว่าต้นปี ดอกเบี้ยจริงเท่ากับ 1.25-6.0 = -4.75% แต่ตอนปลายปีเท่ากับ 2.5+0.4 = 2.9%

อย่างที่ทราบกันดี การขึ้นดอกเบี้ยนั้นใช้เวลาประมาณ 12 เดือนหรือมากกว่า ในการส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจริง แปลว่าดอกเบี้ยที่สูงขึ้น จะทำให้เศรษฐกิจไทยในปีหน้าชะลอตัวลงต่อไปอีก ประมาณกลางปีหน้า

4.นโยบายการคลังที่รัฐบาลพยายามผลักดันการกระตุ้นผ่าน  Digital Wallet นั้น ตลาดมองว่า มีความไม่แน่นอนสูงและเสียงที่จะทำไม่ได้ หรือหากทำได้ก็คงต้องรอไปถึงกลางปีหน้า จึงเป็นไปได้สูงว่าแรงกระตุ้นจะมาช้ามากกว่ามาเร็ว

แต่มุมมองของการลงทุนนั้น ก็มีการมองภาพปี 2024 ในแง่ดีว่า ธนาคารกลางสหรัฐจะต้องปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงในไตรมาส 2 ของปีหน้าและอาจลดลงมากถึง 1%-1.5% ในปี 2024 ก็เป็นไปได้

ตลาดมั่นใจมากจึงกดผลตอบแทน (ดอกเบี้ย) พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐลงอย่างมากจาก 4.9% ในวันที่ 19 ต.ค. เหลือเพียง 4.1% ในวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา ความเชื่อมั่นดังกล่าวทำให้ดัชนี S&P 500 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 11.4% ในช่วงเดียวกัน

การที่ธนาคารกลางสหรัฐจะต้องปรับลดดอกเบี้ย (หากเป็นจริง) ในปี 2024 เป็น “เรื่องใหญ่” มาก เพราะจะทำให้ราคาสินทรัพย์เพิ่มขึ้น (จากการคำนวณ discount cash flow ของสินทรัพย์หลายประเภท) ตลาดหุ้นจะ คาดการณ์ อนาคตอยู่เสมอ ดังนั้น ราคาหุ้นที่สหรัฐและตลาดหลักปรับตัวเพิ่มขึ้นไปรอ

สำหรับประเทศตลาดเกิดใหม่ นั้นสามารถมองได้ว่า ราคาหุ้นยังต่ำ และมองได้ว่าน่าลงทุน นอกจากนั้นเมื่อธนาคารกลางสหรัฐลดดอกเบี้ย เงินดอลลาร์ก็จะมีแนวโน้มอ่อนค่า ซึ่งเป็นประโยชน์กับประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มักจะมีหนี้สินเป็นเงินดอลลาร์

2 ประเด็นนี้ ผมเชื่อว่าจะทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่แนะนำว่าตลาดเกิดใหม่เป็นตลาดที่น่าลงทุนในปี 2024 รวมไปถึงประเทศไทยด้วย

ทั้งนี้ผมเข้าใจว่าตลาดคาดการณ์ในปี 2024 ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย น่าจะต้องปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงประมาณ 0.50-0.75% อีกด้วย แต่การลดดอกเบี้ยดังกล่าวนั้น ยังไม่น่าจะช่วยเศรษฐกิจจริงในปี 2024 เพราะการลด (หรือเพิ่ม) ดอกเบี้ยจะต้องรอผลกระทบเศรษฐกิจประมาณ 12-18 เดือนให้หลัง

แน่นอนว่าการที่นักวิเคราะห์กำลังมอง “โลกในแง่ดี” สำหรับปี 2024 นั้น อาจคาดการณ์ผิดพลาดได้เช่นที่ได้เกิดขึ้นตอนต้นปีนี้ โดยปัจจัยสำคัญคือ การคาดการณ์เงินเฟ้อที่ถูกต้อง

กล่าวคือหากเงินเฟ้อสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 3% นั้น อาจปรับลดลงยากและช้ากว่าที่ตลาดคิด การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐนั้นอาจต้องรอให้เงินเฟ้อของสหรัฐลดลงไปอีก และจะต้องลดลงไปให้ใกล้กับเป้าเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐคือที่ 2% ต่อปี

ทั้งนี้หมายถึงเงินเฟ้อที่วัดจาก Personal Consumption Expenditure Inflation และ Core PCE  ซึ่งปรับลดลงมามากจากจุดสูงสุดตอนกลางปี 2022 ที่เกือบ 7% แต่การลดลงจาก 3.5% ให้เหลือ 2.0% นั้น อาจไม่ง่ายดังที่ตลาดคิด

เพราะสหรัฐยังขาดแคลนแรงงานอยู่ (และค่าจ้างแรงงานก็ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราประมาณ 4% ต่อปี) นอกจากนั้น เมื่อหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นและดอกเบี้ยระยะยาวปรับลดลง ก็จะส่งผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ (ทั้ง ๆ ที่ธนาคารกลางสหรัฐยังไม่ได้ลดดอกเบี้ยนโยบาย) ทำให้เศรษฐกิจไม่ชะลอตัวลงมากและเงินเฟ้อไม่ปรับตัวลดลงดังที่คาด

การที่รัฐบาลสหรัฐยังต้องขาดดุลงบประมาณจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเพื่อสนับสนุนการทำสงครามของยูเครนและอิสราเอลนั้น ก็มีส่วนร่วมในการกระตุ้นเงินเฟ้ออีกด้วย

การลงทุนในปี 2024 จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องง่ายครับ.