“ทีดีอาร์ไอ”แนะโยกงบช่วยชาวนา ตั้งกองทุนวิจัยพันธุ์ข้าว

“ทีดีอาร์ไอ”แนะโยกงบช่วยชาวนา ตั้งกองทุนวิจัยพันธุ์ข้าว

“ชาวนา” มีสัดส่วนประชากรสูงและมีการใช้จ่ายงบประมาณไปกับการดูแลชาวนามากกว่า 3 แสนล้านบาทในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ความเป็นอยู่ของชาวนาไทยก็ยังไม่ดีขึ้น

 นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในการประชุมเวทีข้าวไทย ปี 2566 เรื่อง “อนาคตข้าวไทย : โอกาสและความท้าทาย”   ว่า   อุตสาหกรรมข้าวไทยต้องขับเคลื่อนทั้งขบวนการโดยมีเป้าหมายเพื่อให้ชาวนามีรายได้สูงขึ้นและให้ข้าวไทยกลับมาแข่งขันได้อีก โดยใช้เทคโนโลยี เป็นเครื่องมือ 

 

“ทีดีอาร์ไอ”แนะโยกงบช่วยชาวนา ตั้งกองทุนวิจัยพันธุ์ข้าว

ทั้งนี้ โครงสร้างการผลิตและการค้าข้าวไทย หยุดชะงัก ซึ่งเป็นความท้าทายที่ใหญ่มาก โดยมีเหตุผลสำคัญๆทั้ง คู่แข่งมีเทคโนโลยีที่ดีกว่า และปัญหาภายในประเทศที่ยังต้องมีการอุดหนุน และการเปลี่ยนของภูมิอากาศ

 "โครงสร้างของข้าวไทยมันหยุดชะงัก ตั้งแต่หลังวิกฤติ ทำให้อัตราการลงทุนต่อจีดีพีของไทยลดลงมาก และมีปัญหาเรื่องคุณภาพแรงงาน สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือภาคการเกษตรยังจ้างงาน 25 - 28% ในขณะที่จีดีพีภาคการเกษตรมีเพียง 8 - 9% เท่านั้นเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างรายได้ต่อหัวของเกษตรกรกับคนที่ทำงานนอกการเกษตร สูงถึง 4.5 เท่า"

“ทีดีอาร์ไอ”แนะโยกงบช่วยชาวนา ตั้งกองทุนวิจัยพันธุ์ข้าว

 

กรมการข้าวมีงบวิจัยน้อยเพียง 50-80  ล้านบาทต่อปี   นักวิจัยมีน้อย ขาดนักปรับปรุงพันธุ์ข้าวเก่งๆอันนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก จำนวนเกษตรกรสูงอายุมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศทำให้ผลผลิตแปรปรวนและต่ำลง ที่สำคัญคือใช้น้ำสิ้นเปลือง ทั้งที่มูลค่าเพิ่มจากการใช้น้ำเพื่อผลิตข้าวต่ำกว่าพืชอื่นๆ และยังมีภัยคุกคามจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  เสี่ยงถูกจัดเก็บภาษีกรณีส่งออก  

นอกจากนี้การอุดหนุนซ้ำซ้อน ทำลายแรงจูงใจการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆโดยรัฐบาลใช้เงินอุดหนุนชาวนา กลุ่มสหกรณ์ กลุ่มโรงสีเบ็ดเสร็จในปี 2564 - 65 กว่า 1.8 แสนล้านบาท  ส่วนปี 2565 -66  การประกันรายได้กับเรื่องช่วยเหลือต้นทุน  วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท สูงกว่างบประมาณกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 1 แสนล้านบาทเท่านั้น  

การแก้ปัญหา  เกษตรกรต้องมืออาชีพบริหารจัดการข้าวเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพเปลี่ยนจากการใช้มือถือ เป็นแปลงขนาดใหญ่ เป็นพันธมิตรกับธุรกิจ นักวิชาการ เพื่อให้ข้าวมีหลากหลายผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีความเป็นไปได้มากกว่าการขยายแหล่งน้ำชลประทาน ที่มีเพียง  22 ล้านไร่ ไม่เพียงพอต่อการขยายนาข้าว และไม่สามารถจะพลักดันการส่งออกได้มากกว่าที่เป็นอยู่ เนื่องจากระบบชลประทานไม่เอื้ออำนวย

ดังนั้นเป้าหมายของไทย คือจะเป็นผู้ส่งออกอันดับที่  1 ในปริมาณที่ทรงตัวอยู่ได้ในระดับใกล้เคียงกับปัจจุบันหรือสูงกว่าปัจจุบันเล็กน้อย  และแม้ว่าการปริมาณส่งออกข้าวไทยจะลดลงในอนาคต แต่มูลค่าการส่งออกจะเพิ่มขึ้น เพราะ ผลิตภัณฑ์ข้าวที่หลากหลาย 

ทั้งนี้เกษตรกรต้องร่วมมือกับพันธมิตรการตลาด เพราะผู้ประกอบการขายเก่งกว่า โดยเฉพาะรู้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ตลาดต้องการ หรือมาร์เก็ตอิน  เช่น ผลิตภัณฑ์ข้าวเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

ตลาดในอนาคต ชาวนาและพันธมิตรต้องมีศักยภาพในการเจาะตลาดใหม่ๆที่มีขนาดเล็กจำนวนมาก ซึ่งจำเป็นต้องมีงบอุดหนุนด้านการตลาดมากขึ้น เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ต้องอาศัยสมาร์ทฟาร์มเมอร์หรือพวกค้าขายคนหนุ่มคนสาวที่คล่องตัวในการแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ๆและเจาะตลาด"  

โดยรัฐบาลต้องแก้อุปสรรคด้านกฎหมายเช่าที่นา กฎหมายบังคับคดีที่เกี่ยวข้องกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ในการกู้เงินซื้อที่ดิน ภาษีที่ดิน   สร้างแรงงานที่มีทักษะ โดยรัฐบาลและเอกชนลงทุนครั้งใหญ่ ด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่และพัฒนาเกษตรกร

"ข้อเสนอคือตัดเงินอุดหนุนที่ซ้ำซ้อนกันของมาตรการค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกร เพียง 5.5 หมื่นล้านบาทมาตั้งกองทุน แล้วโยกเงินประกันรายได้มาใช้วิจัยส่งเสริมในกิจกรรมต่างๆเป็นกิจกรรมที่เพิ่มผลิตภาพแรงงานและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดต้นทุนการผลิตลดกรีนเฮาส์แก๊สทำนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  "  

 รวมทั้งต้อง ยกเครื่องนโยบายพัฒนาการวิจัย โดยต้องมีงบวิจัยเรื่องข้าว 1% ของจีดีพี ประมาณ3,000- 3500 ล้านบาทต่อปีภายใน 5 ปีต้องทำให้ได้  อีกทั้งต้องเปลี่ยนสถานะกองวิจัยข้าว เป็นสถาบันวิจัยข้าว รวมกับกรมวิชาการงาน เป็นสถาบันอิสระออกกฎหมายพิเศษเป็นกฎหมายองค์กรมหาชนจะได้มีแรงจูงใจให้นักวิจัย รัฐบาลให้ทุนสร้างนักปรับปรุงพันธุ์รุ่นใหม่ ให้กรรมสิทธิ์เพื่อสร้างแรงจูงใจ  

ส่งเสริมเรื่องการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีและพัฒนาเรื่องสตาร์ทอัปจากปัจจุบันรายเล็กเพียง 5 % เท่านั้นที่รู้จักที่เหลือไม่รู้และไม่นำมาใช้ ทำให้ผลผลิตไม่มีมูลค่า เป็นเรื่องใหญ่ ที่บทบาทของรัฐบาลต้องสร้างแพลตฟอร์มผลักดันให้เกษตรกรเรียนรู้และใช้ข้อมูลบิ๊กดาต้าที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริงเพราะระบบราชการยังหวงข้อมูลมาก   

นอกจากนี้ต้องปรับปรุงและเร่งรับรองผลิตเมล็ดพันธุ์รวมทั้งมาตรฐานข้าวหอมมะลิ ขยายฐานพันธุกรรม อนุญาตให้นำพันธุ์ข้าวจากนอกประเทศมาวิจัย กระทรวงพาณิชย์ปรับปรุงมาตรฐาการส่งออกหอมมะลิไทยที่กำหนดให้มีดีเอ็นเอบริสุทธิ์ 92% ซึ่งเป็นข้อผูกมัดเกินไป ปิดกั้นโอกาสการค้นพบสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ดีกว่า เพราะฉะนั้นไม่แปลกใจที่ไทยจะแพ้รายการประกวดข้าวโลก

การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบนี้ ไทยไม่สามารถใช้ ระบบการผลิตข้าวลูกผสม (Hybrid rice)ได้ เพราะภูมิอากาศไม่เอื้อ เพราะฉะนั้นต้องสู้ตามข้อจำกัดที่มีบนพื้นที่ที่ไม่หลากหลาย

ไทยเคยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก แต่ปัจจุบันความท้าทายต่างๆ กำลังทำให้ข้าวไทยที่ยืนอยู่กับที่ต้องกลายเป็นผู้ที่อยู่ข้างหลังโดยมีคู่แข่งแซงหน้าไป หากไทยไม่ทำอะไรต่อไป อันดับของไทยอาจไปอยู่รั้งท้าย นั่นหมายถึงโอกาสรายได้ที่จะเข้าสู่กระเป๋าชาวนาไทยต้องค่อยๆลดและหายไปได้ในที่สุด