“ธรรมนัส”เสริมแกร่งจีดีพีภาคเกษตร รับแรงกระแทกจุดเสี่ยงทางเศรษฐกิจ

“ธรรมนัส”เสริมแกร่งจีดีพีภาคเกษตร   รับแรงกระแทกจุดเสี่ยงทางเศรษฐกิจ

ธรรมนัส เร่งขับเคลื่อนงานกระทรวงเกษตรฯ หลังจีดีพี ปี66ขยายตัว0.3% เหตุอากาศร้อน ฝนน้อย ทำสาขาพืช หด 1.3% หวัง นโยบายของภาครัฐ ดันแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศขยายตัว ดีมานด์โลกช่วยดันราคา หนุน จีดีพี เกษตรปี67ขยายตัว 0.7 – 1.7 %

ปัจจุบันเนื้อที่ทางการเกษตรอยู่ที่ 149.75 ล้านไร่ คิดเป็น 46.7 %ของเนื้อที่ทั้งประเทศ มีจํานวนครัวเรือนเกษตร 7.8 ล้านครัวเรือน และแรงงานที่อยู่ในภาคเกษตร สูงถึง 51%ของจํานวนแรงงานทั้งประเทศ

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในการปาฐกถาพิเศษ “ก้าวใหม่เกษตรไทย สู่รายได้ที่มั่นคง” ในสัมมนา เรื่อง “Grow Strong Beyond the Future : เสริมแกร่งเกษตรไทย สู่ก้าวใหม่ที่มั่นคง” ว่า ภาคเกษตรเป็นรากฐานสําคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้า  และในวิกฤติต่าง ๆ ภาคเกษตรยังช่วยรองรับและโอบอุ้มเศรษฐกิจไทย

“ธรรมนัส”เสริมแกร่งจีดีพีภาคเกษตร   รับแรงกระแทกจุดเสี่ยงทางเศรษฐกิจ

โดยเป็นแหล่งรองรับแรงงานที่ถูกเลิกจ้างจากภาคเศรษฐกิจอื่น และในช่วงปี 2565-2566 หลายประเทศมีความกังวลเกี่ยวกับ ความมั่นคงทางอาหารจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทานของโลก

ไทยคงศักยภาพผลิตอาหารให้โลก

“แต่ประเทศไทยยังคง สามารถผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่สําคัญได้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ และมีศักยภาพในการส่งออกไปยัง ต่างประเทศ โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.50 ล้านล้านบาทต่อปี จึงถือว่า ภาคเกษตรเป็นอีกหนึ่งแหล่งรายได้ที่สําคัญของประเทศ”

“ธรรมนัส”เสริมแกร่งจีดีพีภาคเกษตร   รับแรงกระแทกจุดเสี่ยงทางเศรษฐกิจ

ที่ผ่านมา การดําเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร เพิ่มมูลค่าให้กับ สินค้าเกษตร และทําการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงพัฒนาและแก้ไขปัญหาในหลายด้าน โดยใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) เศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) 

สําหรับแนวทางการขับเคลื่อน การเสริมความแข็งแกร่งให้ภาคเกษตร สู่รายได้ที่มั่นคง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เน้นการนําเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ ในการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตร เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนสร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดี แก่เกษตรกร

จีดีพีเกษตรปี66โตแค่0.3% 

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก. )กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2566 พบว่า ขยายตัว 0.3 %เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยสาขาปศุสัตว์ สาขาประมง สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ ขยายตัว 

ขณะที่สาขาพืชหดตัว และเมื่อจําแนกแต่ละสาขา จะเห็นได้ว่า สาขาพืช ปี 2566 หดตัว 1.3 %เนื่องจากปริมาณฝนน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ประกอบกับมีช่วงอากาศร้อน ยาวนานตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนพ.ค. 2566 และภาวะฝนทิ้งช่วงในบางพื้นที่ ทําให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำสำคัญและ แหล่งน้ํำตามธรรมชาติลดลง

     สาขาปศุสัตว์ ปี 2566 ขยายตัว 4.7 %เป็นผลจากความต้องการบริโภคสินค้าปศุสัตว์ที่มีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ได้มาตรฐานและมีการควบคุมเฝ้าระวังโรคระบาดได้ดี สาขาประมงในปี 2566 ขยายตัว 2.2 %โดยกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงมีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกร มีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี แม้ว่าเกษตรกรยังคงประสบปัญหาด้านต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูง และบางพื้นที่ยังพบ โรคระบาดกุ้ง

สาขาบริการทางการเกษตร ปี 2566 ขยายตัว 0.6 %โดยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ สภาพอากาศทั่วไปเอื้ออำนวยและมีปริมาณน้ำเพียงพอ ทำให้เกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะปลูกข้าวนาปรัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่งผลให้มีการจ้างบริการเตรียมดินและเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชดังกล่าวเพิ่มขึ้น  สาขาป่าไม้ ปี 2566 ขยายตัว 2.5 %โดยไม้ยางพาราเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการตัดโค่นสวนยางพาราเก่ามากขึ้น

คาดปี67 จีดีพีเกษตรโต 0.7-1.7% 

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 0.7 – 1.7 %จากปัจจัยสนับสนุน ทั้งการดำเนินนโยบายของภาครัฐ ความต้องการสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดยังอยู่ในเกณฑ์ดี และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะขยายตัว โดย สาขาพืช ปี 2567 คาดว่าจะขยายตัว 0.6 - 1.6 %สาขาปศุสัตว์ ขยายตัว 1.7 - 2.7 %สาขาประมง ขยายตัว 0.5 - 1.5 %สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัว 0.3 - 1.3 %และสาขาป่าไม้ ขยายตัว 2.4 - 3.4 %

“ธรรมนัส”เสริมแกร่งจีดีพีภาคเกษตร   รับแรงกระแทกจุดเสี่ยงทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนการพัฒนาภาคเกษตรในอนาคตต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายภายใต้ข้อจำกัดและโอกาสหลายด้าน ซึ่งจะต้องมีการดำเนินการ อาทิ บริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เตรียมการรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและภัยพิบัติต่าง ๆ