กรมพัฒน์ฯ กางแผนปี 67 ลุยสอบธุรกิจ 2.6 หมื่นราย เข้าข่ายเสี่ยงนอมินี

กรมพัฒน์ฯ กางแผนปี 67  ลุยสอบธุรกิจ 2.6 หมื่นราย เข้าข่ายเสี่ยงนอมินี

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผย ปี 67 เตรียมเข้าตรวจสอบธุรกิจเสี่ยงนอมินี รวม 2.6หมื่นราย ธุรกิจท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ โรงแรมและรีสอร์ต ใน 9 จังหวัดเป้าหมาย ใน 9 จังหวัดโฟกัสธุรกิจท่องเที่ยว คาด ก.ย.67 รู้ผล รับสถิติสูงกว่าทุกปีเนื่องจากธุรกิจท่องเที่ยวเติบโตกว่า 64 %

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ปีงบประมาณ2566(ก.ย.2566-ต.ค.2567) กรมฯ วางแนวทางการป้องปรามธุรกิจนอมมินี บริษัทที่ใช้คนไทยถือหุ้นแทนเพื่อหลีกเลี่ยงการขออนุญาตประกอบธุรกิจตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวพ.ศ. 2542   อย่างต่อเนื่อง  เบื้องต้นเตรียมเข้าตรวจสอบธุรกิจที่มีสัดส่วนคนต่างด้าวถือหุ้นเกินกว่า 40% จำนวนรวม  2.6หมื่นราย ว่าเข้าข่ายกระทำความผิดหรือไม่ หากเข้าข่ายจะตรวจสอบเชิงลึกต่อไป คาดว่าภายในก.ย.2567 จะได้ผลสอบเบื้องต้น    

กลุ่มธุรกิจเป้าหมายที่จะเข้าไปตรวจสอบ ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ต  ในพื้นที่เป้าหมาย 9 จังหวัด คือเชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ชลบุรี ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และกรุงเทพฯ

“ยอมรับว่าเป้าหมายการตรวจสอบนอมินีปีปีงบประมาณ 2566/67  ที่ 2.5หมื่นราย นั้นมีจำนวนเพิ่มสูงกว่าปี งบประมาณก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 1.5 หมื่นราย  แต่สาเหตุที่เพิ่มขึ้น เป็นเพราะปีนี้ธุรกิจในกลุ่มท่องเที่ยวมีอัตราการเติบโตสูงมากถึง 64%  ทำให้มีบริษัทต่างด้าวในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว จัดตั้งธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้นมาก”

ทั้งนี้ การตรวจสอบนิติบุคคลดังกล่าว พิจารณาจากการถือหุ้นของคนต่างด้าว ตั้งแต่ 40% ขึ้นไป เป็นธุรกิจที่มีคนต่างด้าวเป็นผู้มีอำนาจกระทำการ มีการกำหนดให้สิทธิ์คนต่างด้าวมากกว่าคนไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิ์การออกเสียงลงคะแนน สิทธิ์การรับเงินปันผล รวมทั้งสิทธิ์การรับคืนทุนเมื่อเลิกกิจการ เป็นต้น และยังได้นำเรื่องแหล่งที่มาของเงินที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น การกู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงินแก่คนต่างด้าวโดยมีเงื่อนไขที่ผิดปกติในทางการค้าหรือทางธุรกิจการเงินทั่วไป มาประกอบการพิจารณาด้วย

นางอรมน กล่าวว่า  ส่วนผลการตรวจสอบนอมินีในปี 2566 กรมได้ตรวจสอบนิติบุคคลที่มีความเสี่ยงรวม 15,000 ราย และเมื่อตรวจสอบแล้ว เห็นว่า ต้องตรวจสอบเชิงลึกประมาณ 400 ราย จึงได้ทำการตรวจสอบ จนพบพฤติกรรมน่าสงสัย และได้ส่งดำเนินคดีรวม 8 ราย ตามความผิดของ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ส่วนรายอื่น ๆ ที่ไม่ผิดกฎหมายที่กรมดูแลอยู่ แต่ผิดกฎหมายของหน่วยงานอื่น เช่น การตรวจคนเข้าเมือง หรือภาษี ได้ส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อแล้ว

ล่าสุดกรมได้ร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรในการแก้ไขปัญหาการประกอบธุรกิจท่องเที่ยว ระหว่าง 6 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการท่องเที่ยว สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมสอบสวนคดีพิเศษ กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยได้มีการลงนามใน MOU ร่วมกัน เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2566 ที่ผ่านมา เพื่อให้การดำเนินงานด้านการประสานแลกเปลี่ยนข้อมูล การกำกับดูแลและการป้องปราม การส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยว และการจัดศูนย์ปฏิบัติการร่วมแก้ไขปัญหามีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น และจะมีการหารือร่วมกันในแผนการปฏิบัติงานร่วมกันต่อไป