การรถไฟฯ เตรียมลงนาม 'ซีพี' พ.ค.นี้ แก้สัญญาร่วมทุนไฮสปีด

การรถไฟฯ เตรียมลงนาม 'ซีพี' พ.ค.นี้ แก้สัญญาร่วมทุนไฮสปีด

การรถไฟฯ เคาะแก้สัญญาไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน เตรียมเสนออัยการ และ ครม.ไฟเขียว ปักธงลงนามใหม่ พ.ค.2567 ด้าน "ซีพี" เตรียมจ่ายค่าบริหารสิทธิแอร์พอร์ตเรลลิงก์ก้อนแรก 3 พันล้านบาท ขณะที่งานก่อสร้าง คาดปมพื้นที่ทับซ้อนเคลียร์จบ ม.ค.นี้ ลุ้นออกหนังสือ NTP

นายอนันต์ โพธ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยภายหลังประชุมเจรจาหลักการเพื่อการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โดยระบุว่า เบื้องต้นที่ประชุมได้ข้อสรุปการแก้ไขสัญญาในหลักการตามมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และจะมีการสรุปรายละเอียดเพื่อรายงานต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.และสำนักอัยการสูงสุดพิจารณาภายในเดือน ม.ค. 2567

อย่างไรก็ดี คาดว่ากระบวนการต่างๆ จะใช้เวลาพิจารณาราว 30 วัน ก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ เบื้องต้นจึงคาดว่าจะลงนามแก้ไขสัญญาใหม่ร่วมกับเอกชนคู่สัญญา บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ภายในเดือน พ.ค.2567

โดยหากมีการลงนามแก้ไขร่างสัญญาแล้วเสร็จ ทางเอกชนจะต้องชำระค่าสิทธิบริหารแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ รวมประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าบริหารสิทธิ 3 งวด ย้อนหลังของปี 2564 – 2566 ส่วนที่เหลืออีก 4 งวดจ่ายตามกำหนดสัญญาภายในวันที่ 24 ต.ค.ของแต่ละปี

สำหรับรายละเอียดของการแก้ไขสัญญาโครงการฯ ในครั้งนี้ จะสอดคล้องกับมติของ กพอ. ประกอบด้วย 3 เรื่อง

1.การชำระค่าสิทธิแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ในการผ่อนชำระ 7 งวด จากกรณีที่เอกชนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 

2.แนบท้ายสัญญาที่มีเงื่อนไขหากเกิดเหตุสุดวิสัยในอนาคต สามารถเจรจากับเอกชนได้

3.การก่อสร้างโครงสร้างทางร่วมช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง

“วันนี้ได้ข้อสรุปร่วมกันเรื่องแก้ไขสัญญาในประเด็นสำคัญเรื่องการทยอยจ่ายสิทธิบริหารแอร์ พอร์ต เรล ลิงก์ และการจัดทำแนบท้ายสัญญากรณีเกิดเหตุสุดวิสัยในอนาคต ส่วนประเด็นก่อสร้างทางร่วมช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ไม่ได้เป็นเงื่อนไขของการพิจารณาแก้ไขร่างสัญญา ดังนั้นเรื่องนี้ยังมีเวลาที่จะเจรจาร่วมกัน คาดได้ข้อสรุป ม.ค.นี้”

อย่างไรก็ดี การก่อสร้างโครงสร้างร่วมตามมติ กพอ.มีแนวทางการ คือ ร.ฟ.ท.ต้องเจรจากับเอกชนเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง โดยต้องก่อสร้างให้สอดคล้องกับทางมาตรฐานจีนที่รองรับโครงการรถไฟความเร็วสูงด้วย แต่หากเอกชนไม่ยอมก่อสร้างทาง ร.ฟ.ท.ต้องเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างแทน โดย ร.ฟ.ท.อยากให้ระยะเวลาดำเนินการกระชับที่สุด เพราะไม่อยากให้กระทบต่อการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ไทย-จีน

ทั้งนี้ความเป็นไปได้มากที่สุด คือ เอกชนคู่สัญญาควรเป็นผู้ก่อสร้าง ซึ่ง ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างคำนวณระยะเวลาดำเนินการให้เหมาะสม

นอกจากนี้ในประเด็นที่เอกชนยังไม่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอนั้น เรื่องนี้เป็นขั้นตอนในการยื่นบัตรส่งเสริม โดยต้องกรอกรายละเอียดของการลงทุนของสัญญา ซึ่งเอกชนมองว่าการแก้ไขร่างสัญญาอาจจะมีผลด้านการเงิน เช่น ในกรณีที่เอกชนเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างทางร่วมอาจจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติม ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.จึงอยู่ระหว่างหารือต่อสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อขอออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) โดยไม่ต้องรอบัตรส่งเสริมด้านการลงทุน

“ขณะนี้ ร.ฟ.ท.มีความพร้อมที่จะส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา แก่เอกชนครบ 100 % ตั้งแต่เดือนต.ค.2564 รวมทั้งการส่งมอบพื้นที่โครงการฯ และการส่งมอบพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการของโครงการ (TOD มักกะสัน) ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการเพิกถอนลำรางสาธารณะ คาดว่าจะออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงานได้เร็วๆ นี้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาจากบีโอไอด้วย โดยเอกชนมีสิทธิขอยื่นบัตรส่งเสริมด้านการลงทุนต่อบีโอไอได้ 3 ครั้ง ขณะนี้เอกชนได้ยื่นไปแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 22 ม.ค. 2567”