"บีโอไอ"ปัด "พานาโซนิก" ย้ายฐานออกจากไทย เล็งดึงการลงทุนแบตเตอรี่ EV เพิ่ม

"บีโอไอ"ปัด "พานาโซนิก" ย้ายฐานออกจากไทย เล็งดึงการลงทุนแบตเตอรี่ EV เพิ่ม

เลขาฯบีโอไอปัดพานาโซนิกย้ายฐานออกนอกประเทศไทย แค่ปิดบางโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีต่ำ ออกไปลงทุนที่ประเทศอื่นๆ ส่วนในไทยมีกว่า 11 โรงงาน และมียอดการผลิตกว่า 80% ของการผลิตทั้งหมด เตรียมเพิ่มการลงทุนใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น ไทยเตรียมทาบลงทุนผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้า

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้สัมภาษณ์ระหว่างร่วมคณะเดินทางเยือนญี่ปุ่นของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ว่าในการเดินทางมาญี่ปุ่นของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้มีกำหนดการพบกับหลายบริษัทชั้นนำของญีปุ่นเพื่อหารือถึงแผนการลงทุนระยะยาวในประเทศไทย

ทั้งนี้บริษัทหนึ่งที่นายกรัฐมนตรีจะได้พบคือผู้บริหารของบริษัทพานาโซนิค ที่ลงทุนในไทยมายาวนาน และปัจจุบันมีโครงงานในไทยมากกว่า 10 แห่งนั้น ซึ่งเพิ่มการลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง

\"บีโอไอ\"ปัด \"พานาโซนิก\" ย้ายฐานออกจากไทย เล็งดึงการลงทุนแบตเตอรี่ EV เพิ่ม
 

 

“ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตแบตเตอร์รี่รถยนต์อีวี และระบบกักเก็บพลังงานรายใหญ่ของโลก เราก็อยากเชิญชวนให้มาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น”  เลขาธิการบีโอไอกล่าว

 

เมื่อถามถึงกรณีกระแสข่าวพานาโซนิคจะย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศไทยไปประเทศอื่น นายนฤตม์  กล่าวว่า เป็นเพียงการปิดโรงงานลักษณะเดียวกันขนาดเล็กๆ เพื่อรวมเป็นโรงงานใหญ่ ในประเทศไทยพานาโซนิก มีทั้งหมด 11 โรงงาน เป็นโรงงานขนาดใหญ่ 4 โรงงาน ทั้งนี้ 4 โรงงานขนาดใหญ่ของพานาโซนิคนั้นมียอดถึง 80% ของยอดขายทั้งหมด

โดยโรงงานี้ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น อุปกรณ์อัตโนมัติในรถยนต์ และเทคโนโลยีที่ซับซ้อนในรถยนต์ ส่วนอุตสาหกรรมอื่นที่ไม่ได้ซับซ้อนก็ไปรวมกับประเทศอื่น

วาง3ภารกิจเชิญชวนญี่ปุ่นลงทุนไทย

ในส่วนของเป้าหมายเชิญชวนนักลุงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มเติมนั้นเลขาธิการบีโอไอกล่าวว่าการไปญี่ปุ่นครั้งนี้บีโอไอเตรียม 3 ภารกิจหลักให้นายกฯ คือการร่วมสัมนากับภาคการค้าการลงทุนและภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เป็นงานใหญ่ที่สุดหลังมีโควิด-19 มีนักธุรกิจญี่ปุ่นเข้าร่วมกว่า 500 คน

 

โดยนายกรัฐมนตรีจะกล่าวถึงทิศทางและมาตรการด้านเศรษฐกิจ จะสื่อสารให้เห็นถึงนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลไทย ว่ามุ่งเน้นใน 5 สาขาหลัก คืออุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ อุตสาหกรรมดิจิทัลสร้างสรรค และการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นที่ตั้งของสำนักงานภูมิภาคของบริษัทต่างๆ

เพราะญี่ปุ่นลงทุนในไทยมานาน 40-50 ปี มีฐานการผลิตในประเทศไทย แต่สิ่งที่เราอยากเชิญชวนให้มาลงทุน มากกว่าการเป็นฐานการผลิตนั้น คือการวิจัยและพัฒนาและการตั้งสำนักงานภูมิภาคในประเทศไทย

โดยช่วง 4 ปี จากนี้ตั้งเป้าว่าจะมีบริษัทชั้นนำของโลกกว่า 100 บริษัทให้เขามาตั้งสำนักงานใหญ่ในภูมิภาคในไทย เพื่อสร้างแรงงานทักษะสูงไม่ต่ำกว่า 10,000 อัตราและต่อยอดไปสู่ธุรกิจต่างๆต่อไป ขณะที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ก็จะพูดเกี่ยวกับโครงการแลนด์บริดจ์และรับฟังความคิดเห็นของนักลงทุนด้วย