ธปท.หนุนภาคการเงินสู่ความยั่งยืน l Sustainability Forum 2024

รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ Financial Dynamic for Sustainability ในงานสัมมนา Sustainability Forum 2024 จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ เน้นย้ำถึงบทบาท และความสำคัญของภาคสถาบันการเงินในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความยั่งยืน”

รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย รณดล นุ่มนนท์ ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เร่งตัวผ่านภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้น ภาคอุตสาหกรรมไทยส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มสีน้ำตาล ที่ยังพึ่งการใช้พลังงานจากถ่านหิน และน้ำมันในสัดส่วนที่สูง หรือยังใช้เทคโนโลยีแบบเก่าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูง ซึ่งจะต้องเผชิญกับแรงกดดันให้ต้องปรับตัว รวมถึงไทยยังประสบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น ปัญหามลพิษ PM 2.5 ที่รุนแรงขึ้นมาก

ดังนั้น ภาคเศรษฐกิจ และสถาบันการเงินไทยจึงจำเป็นต้องปรับตัวทั้งเพื่อเปลี่ยนผ่านความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งในแง่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษ และปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ซึ่งภาคการเงินจะต้องมีบทบาทเป็นฟันเฟืองสำคัญ ในการสนับสนุนเงินทุนเพื่อขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจให้สามารถปรับตัวได้ทันการณ์

หลักการที่สำคัญในการปรับตัวบนบริบทของประเทศไทยคือ การคำนึงถึงจังหวะเวลา และความเร็วที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศ ซึ่งต้องสร้างสมดุลระหว่างการเดินหน้าสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืน และการป้องกันผลข้างเคียงเชิงลบ ที่จะเกิดขึ้นกับภาคส่วนต่างๆ โดยการดำเนินการจะต้องไม่ช้าเกินไปจนเกิดผลกระทบจนไม่สามารถแก้ไขได้ และไม่เร็วเกินไปจนระบบเศรษฐกิจไม่สามารถปรับตัวได้ทัน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังโดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้ร่วมกับหลายภาคส่วนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ช่วยยกระดับ

โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมของสถาบันการเงินคือ การจัดทำหลักปฏิบัติที่ดีหรือมาตรฐานการดำเนินงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของสถาบันการเงิน โดยออกแนวนโยบาย เรื่อง การดำเนินธุรกิจสถาบันการเงินโดยคำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการจัดทำมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หรือ Taxonomy ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับการกำหนดนิยามความเป็นสีเขียวของทุกภาคส่วนให้เข้าใจและยอมรับตรงกัน

สำหรับแผนงานที่ ธปท. กำลังให้ความสำคัญอยู่ในปัจจุบันคือ การช่วยให้สถาบันการเงินในไทยสนับสนุนภาคธุรกิจไทยให้สามารถปรับตัวในช่วงการเปลี่ยนผ่านอย่างเห็นผลได้จริง 

โดยคาดหวังว่าต้องการเห็นธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่เริ่มกำหนดแผน และเป้าหมายการช่วยภาคธุรกิจปรับตัวให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยมุ่งเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีนัยสำคัญต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

ซึ่งในปี 2567 คาดหวังให้สถาบันการเงินมีผลิตภัณฑ์ และบริการที่ตรงความต้องการ และเพียงพอสำหรับกลุ่มธุรกิจที่ต้องการปรับตัว และการที่สถาบันการเงินเริ่มมีแผนการปรับตัวที่ชัดเจนยิ่งขึ้น และนำไปปฏิบัติได้จริง

โดย ธปท. อยู่ระหว่างร่วมกันกับธนาคารพาณิชย์โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ เพื่อให้ธนาคารแต่ละแห่งพัฒนา transition plan สำหรับภาคธุรกิจที่เป็น priority sector ของตนเองอย่างน้อย 1 sector ภายในสิ้นปี 2567 
 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์