ประชาชนหวั่น 'ค่าแรง' ดันสินค้าราคาพุ่ง

ค่าแรงขั้นต่ำที่คณะกรรมการไตรภาคีเคาะให้ปรับขึ้น 2-16 บาท กลายเป็นประเด็นถกเถียงหลังนายกรัฐมนตรีเห็นว่าอัตราดังกล่าวน้อยเกินไป ขณะเดียวกันภาคเอกชนห่วงว่าการปรับขึ้นค่าแรง อาจส่งผลกระทบกับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จะต้องปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนที่สูงขึ้น

ทีมข่าวลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นลูกจ้างบอกว่า พอใจกับค่าแรงที่ได้ในปัจจุบัน ส่วนการปรับขึ้นถือเป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่การปรับเพิ่มค่าจ้างแบบก้าวกระโดด ในมุมของนายจ้างที่มีลูกจ้างจำนวนมากจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และอาจจำเป็นต้องลดการจ้างงานลงทำให้ลูกจ้างตกงานตามมาซึ่งส่งผลเสียมากกว่า ดังนั้น การปรับค่าจ้างค่าแรงควรปรับแบบพอประมาณให้ทั้ง 2 ฝ่ายอยู่ได้ ขณะที่ประชาชนทั่วไปมองว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคแพงขึ้นอีกจากเดิมที่แพงอยู่แล้ว เพราะต้นทุนการผลิตสินค้า การบริการต่างๆ เพิ่มขึ้น หนีไม่พ้นประชาชนต้องแบกรับภาระค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นอีก


 

ด้านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราที่สูงเกินไป ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระเพิ่มขึ้น ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ทำให้ต้องปรับขึ้นราคาสินค้า และจะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ ภาครัฐควรต้องแก้ไขปัญหาปากท้องของแรงงานในระยะยาวควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะการดูแลลดค่าครองชีพให้กับประชาชน เช่น ลดค่าโดยสารสาธารณะ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า รวมทั้งกำกับดูแลการปรับขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภคให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และควบคุมให้มีการปรับราคาสินค้าขึ้น-ลงตามต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งจะทำให้แรงงานมีเงินเหลือใช้จ่ายมากขึ้น และยังช่วยเพิ่มกำลังซื้อได้อีกทางหนึ่งด้วย

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์