ภาคเอกชนย้ำ 'ค่าแรง' ต้องยึดตามไตรภาคี

"เอกชนจับตารัฐบาลทบทวนมติไตรภาคีขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ย้ำไตรภาคีเป็นกลไกให้ทุกฝ่ายอยู่ได้ ขณะที่ดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ย.ปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกรอบ 5 เดือน จากการขยายตัวของการบริโภคในประเทศ วอนภาครัฐลดค่าไฟงวดหน้า ตรึงราคาน้ำมันดีเซล"

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. เกรียงไกร เธียรนุกุล ระบุ หลังกระทรวงแรงงาน เสนอ ครม.ขอกลับไปพิจารณารายละเอียดปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มเติมอีกครั้ง สภาอุตฯ รวมทั้ง กกร. ยังคงหลักการใช้กลไกไตรภาคีในการพิจารณาปรับค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งเป็นกลไกที่ทุกฝ่ายอยู่ได้ การที่ต้องกลับมาทบทวนใหม่นั้นต้องกลับมาหารือกันว่าจะทำอย่างไรให้หาทางออกร่วมกันได้ทุกฝ่าย อย่างไรก็ตาม ยังมีกฎกติการะดับสากลซึ่งมีมาตรฐานในการทำงานแบบไตรภาคี การจะทบทวนต้องพิจารณาในหลายส่วน

 

 

ด้านผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ประจำเดือนพฤศจิกายน 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคในประเทศ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ รวมถึงมาตรการลดภาระค่าครองชีพประชาชนโดยการปรับราคาน้ำมัน และค่าไฟฟ้าในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกร ช่วยเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน ส่งผลให้การบริโภค และการใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้น ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนประกอบการปรับตัวดีขึ้นซึ่งผลมาจากราคาพลังงานที่ปรับลดลง

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง

สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ขอให้พิจารณาปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร Ft งวดมกราคม - เมษายน 2567 ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม รวมถึงเร่งปรับโครงสร้างราคาค่าไฟฟ้าให้เกิดความเป็นธรรมทั้งผู้ผลิต และผู้ใช้ รวมถึงขยายเวลามาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล 30 บาทต่อลิตร ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 รวมถึงมาตรการลดราคาขายปลีกกลุ่มน้ำมันเบนซินลง 2.50 บาทต่อลิตร ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 มกราคม 2567 เพื่อช่วยลดภาระให้แก่ประชาชน และลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์