มหากาพย์ ‘สัมปทานรถไฟฟ้าสีเขียว’ ‘ชัชชาติ’ นั่งผู้ว่าฯ ยังสางปัญหาไม่คืบ

มหากาพย์ ‘สัมปทานรถไฟฟ้าสีเขียว’ ‘ชัชชาติ’ นั่งผู้ว่าฯ ยังสางปัญหาไม่คืบ

เช็คสถานะมหากาพย์สัญญา “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” หลังผู้ว่า กทม.ประกาศนโยบายเร่งสางปัญหา ล่าสุดยังลุ้นกระทรวงมหาดไทยเคาะแนวทางจ่ายหนี้งานโยธา – ค่าจ้างเดินรถ จับตาปี 2567 เข้าข่ายเริ่มกระบวนการเจรจาสัมปทานใหม่

“ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เข้ามารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2565 โดยมีการประกาศนโยบายเกี่ยวกับการแก้ไขสัญญาสัมปทานในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่เป็นมหากาพย์ภาระหนี้สินระหว่างรัฐและเอกชนคู่สัญญารวมมากกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งในช่วงของการรับตำแหน่งที่ผ่านมามีการนัดหารือร่วมกับเอกชนคู่สัญญา พร้อมกำหนดแนวทางเตรียมเสนอที่ประชุมสภา กทม.อนุมัตินำเงินสะสมมาจ่ายหนี้ค่าติดตั้งระบบรถไฟฟ้าก้อนแรก 2.3 หมื่นล้านบาท

แต่ล่าสุดพบว่าสถานะของการจ่ายหนี้ยังคงไม่ได้ข้อสรุป ไม่มีการนำเสนอเพื่อพิจารณาในที่ประชุมสภา กทม. รวมไปถึงการพิจารณาเกี่ยวกับคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 11 เม.ย.2562 ที่มีคำสั่งตามมาตรา 44 ที่ 3/2562 เรื่อง การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อให้การเดินรถเป็นไปอย่างต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน (Through Operation) ปัจจุบันคงมีสถานะไม่คืบหน้า

โดยรายละเอียดของคำสั่ง คสช.ดังกล่าวนำมาสู่การเจรจาระหว่าง กทม. กระทรวงมหาดไทยกับเอกชนผู้รับสัมปทาน คือ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เพื่อต่อสัญญาสัมปทานสายสีเขียวอีก 30 ปี แลกกับภาระหนี้ของ กทม.กว่า 7 หมื่นล้านบาท รวมทั้งมีข้อกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งสายหลักและส่วนต่อขยายไม่เกิน 65 บาท

ทั้งนี้จากมหากาพย์ปัญหาหนี้สิน และการตัดสินใจต่อสัมปทานที่ยังไม่ได้ข้อสรุป ปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้ระยะเวลาที่ยาวนานออกไปนั้น ส่งผลให้หนี้สินที่คงค้างมีอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบันหนี้สินกว่า 1 แสนล้านบาท แบ่งออกเป็น

- ค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าส่วนขยายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่โอนมาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในปี 2561 รวม 69,105 ล้านบาท

- ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 (อ่อนนุช-แบริ่ง และสะพานตากสิน-บางหว้า) และช่วงที่ 2 (แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ประมาณ 30,000 ล้านบาท

- ค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้า/เครื่องกล (E&M) รวมกว่า 22,800 ล้านบาท

โดยขณะนี้ กทม.มี 3 แนวทางที่จะแก้ไขปัญหามหากาพย์รถไฟฟ้าสายสีเขียว ประกอบด้วย

1. รัฐเคลียร์หนี้ค่างานโยธา

กทม.อยู่ระหว่างยื่นเสนอกระทรวงมหาดไทย เพื่อพิจารณาขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอรับการสนับสนุนงานโยธาส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ - คูคต เพื่อลดภาระต้นทุนทางการเงินของ กทม.

2. ใช้เงินสะสมจ่ายขาดชำระค่าจ้างเดินรถ

กทม.อยู่ระหว่างเสนอกระทรวงมหาดไทยเพื่อพิจารณาขอใช้เงินสะสมจ่ายขาดที่มีอยู่ราว 5 หมื่นล้านบาท มาชำระค่าจ้างการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ครบกำหนดชำระประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท

3. จัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 2

กทม.อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อขอออกประกาศจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ - คูคต อัตรา 15 บาทตลอดสาย ในช่วงกลางเดือน ม.ค.2567

แหล่งข่าว เปิดเผยว่า หาก กทม.สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาภาระหนี้สินในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตามที่ระบุข้างต้น ประกอบกับมีการเริ่มจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 2 ในอัตรา 15 บาทตลอดสาย จะส่งผลให้การพิจารณาแลกสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวกับภาระหนี้ที่ กทม.มีกับเอกชน ไม่ตรงตามเงื่อนไขที่ คสช.ระบุไว้

เนื่องจากภาระหนี้สินจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเมื่อโครงการส่วนต่อขยายเริ่มจัดเก็บค่าโดยสารในอัตรา 15 บาทตลอดสาย ซึ่งหากรวมกับราคาค่าโดยสารในสายหลักช่วงหมอชิต -อ่อนนุช และช่วงสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ - สะพานตากสิน ที่มีสูงสุดประมาณ 47 บาท ก็จะพบว่าอัตราเฉลี่ยค่าโดยสารของการเดินทางจะสูงสุดราว 62 บาท ไม่ต่างไปจากเงื่อนไขแลกสัมปทานเพื่อทำราคาค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย

ดังนั้นอาจไม่มีความจำเป็นในการเจรจาขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อแลกกับหนี้สินของ กทม.และเพื่อประโยชน์ต่อการทำราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งระบบให้อยู่ที่ 65 บาทตลอดสาย ประกอบกับในปี 2567 สัญญาสัมปทานบริหารรถไฟฟ้าสายสีเขียวสายหลักจะมีอายุเหลือราว 5 ปี ซึ่งเข้าเงื่อนไขให้สามารถเจรจาสัญญาสัมปทานใหม่