ผลงาน ‘รัฐบาลเศรษฐา’ 4 เดือน ไร้แววประมูล ‘เมกะโปรเจกต์’

ผลงาน ‘รัฐบาลเศรษฐา’ 4 เดือน ไร้แววประมูล ‘เมกะโปรเจกต์’

เช็คผลงาน “รัฐบาลเศรษฐา” หลังรับตำแหน่ง 4 เดือน ยังไร้แววประมูลเมกะโปรเจกต์ พบโครงการระบบรางยังค้างท่อจำนวนมาก ขณะที่ “คมนาคม” กางแผนปีหน้าลุย 14 โครงการ เม็ดเงินลงทุนกว่า 5 แสนล้านบาท

นับจากวันที่ 23 ส.ค.2566 พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง “นายเศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย โดยนายกรัฐมนตรีได้ให้คำมั่นว่า “จะทุ่มเททำงานตามมาตรฐานจริยธรรมด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ มั่นใจว่า 4 ปีต่อจากนี้ จะเป็น 4 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลง”

เป็นระยะเวลาเกือบ 4 เดือนของการรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผลงานที่เห็นชัดจากนโยบายหลัก “เพื่อไทย” ที่ใช้ในการหาเสียงที่เกี่ยวเนื่องกับโครงข่ายด้านคมนาคม คือ การปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ซึ่งขณะนี้พบว่าสามารถนำร่องดำเนินการได้แล้วในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีม่วง และรถไฟชานเมืองสายสีแดง

ขณะที่นโยบายเกี่ยวกับการผลักดันเม็ดเงินลงทุนด้านคมนาคมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ต้องยอมรับว่าในช่วงระยะเวลา 4 เดือนที่ผ่านมายังไม่เห็นผลงานเป็นที่ประจักษ์ ยังคงไร้แววการเปิดประมูลโครงสร้างพื้นฐานที่ถือเป็นเครื่องจักรสำคัญของการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการลงทุนของภาครัฐ

โดยภายใต้การขับเคลื่อนของรัฐบาลเศรษฐา พบว่ามีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปเพียงโครงการเดียวในช่วงเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา คือ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในวงเงิน 29,748 ล้านบาท ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการค้างท่อจากรัฐบาลก่อน และถือว่ามีความพร้อมเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ได้ทันที แต่ถึงแม้จะผ่านการพิจารณาจาก ครม.แล้ว ปัจจุบันสถานะโครงการก็ยังคงไม่ประกาศประกวดราคา

ส่วนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่คั่งค้างจากรัฐบาลก่อนหน้ามีจำนวนมาก และส่วนใหญ่เป็นโครงการลงทุนระบบราง ที่ถูกบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 วงเงินลงทุนมากกว่า 2 แสนล้านบาท อาทิ

  • ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กิโลเมตร วงเงิน 62,800 ล้านบาท
  • ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กิโลเมตร วงเงิน 24,200 ล้านบาท
  • ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กิโลเมตร วงเงิน 57,300 ล้านบาท
  • ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กิโลเมตร วงเงิน 56,800 ล้านบาท
  • ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กิโลเมตร วงเงิน 37,500 ล้านบาท
  • ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กิโลเมตร วงเงิน 6,660 ล้านบาท

รวมไปถึงโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง (ส่วนต่อขยาย) 3 เส้นทาง วงเงินลงทุนรวมประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่มีผลการศึกษาแล้วเสร็จ และรัฐบาลเศรษฐาโดยกระทรวงคมนาคม เคยประกาศเมื่อครั้งรับตำแหน่งว่าจะเร่งผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ภายในปีนี้ แต่ปัจจุบันยังคงมีสถานะรอนำเสนอ โดยโครงการดัวกล่าวประกอบด้วย

  • ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กิโลเมตร วงเงิน 10,670 ล้านบาท
  • ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กิโลเมตร วงเงิน 4,694 ล้านบาท
  • ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) ระยะทาง 8.84 กิโลเมตร วงเงิน 6,468 ล้านบาท

ขณะที่ปัญหาการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในโครงการเมกะโปรเจกต์ที่มีมูลค่าการลงทุนระดับแสนล้านบาท โดยปัจจุบันยังมีสถานะไม่ขยับไปจากเดิม สืบเนื่องจากรอการพิจารณาจากรัฐบาล รวมไปถึงยังมีข้อพิพาทอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาล ประกอบด้วย

  • โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี งานโยธาฝั่งตะวันตก และงานระบบรถไฟฟ้า วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท
  • โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) วงเงิน 2.2 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ดี คงต้องจับตาการผลักดันเม็ดเงินลงทุนเมกะโปรเจกต์เหล่านี้ในปี 2567 ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ประกาศแผนดำเนินงานจะเริ่มต้นตอกเสาเข็ม 14 โครงการ วงเงินลงทุนมากกว่า 5.7 แสนล้านบาท