‘คลัง’เล็งออกมาตรการอุ้มลูกหนี้ เน้นสินเชื่อฉุกเฉินโควิด2ล้านราย

‘คลัง’เล็งออกมาตรการอุ้มลูกหนี้ เน้นสินเชื่อฉุกเฉินโควิด2ล้านราย

 “คลัง” เล็งออกมาตรการแก้หนี้ในระบบ พุ่งเป้าช่วยเหลือกลุ่ม “เอสเอ็มอี-รายย่อย” พร้อมเผยมีแผนอุ้มลูกหนี้รายย่อยที่กู้สินเชื่อฉุกเฉินโควิดรายละ 1 หมื่นบาท รวม 2 ล้านราย ขณะที่ ธ.ก.ส. รับกำลังศึกษาขยายเพดานกรอบเงินกู้เข้ามาตรการพักหนี้มากกว่า 3 แสนบาท 

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาออกมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินในระบบตามนโยบายของรัฐบาล โดยจะมีทั้งการดูแลวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และลูกค้ารายย่อย ซึ่งขณะนี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติม หากได้ข้อสรุปแล้วจะมีการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติอีกครั้ง 

สำหรับการดูแลลูกค้ารายย่อยนั้น จะเน้นดูแลลูกค้าที่รัฐบาลชุดก่อนหน้าได้ปล่อยสินเชื่อให้ในช่วงโควิด-19 หรือที่เรียกว่า สินเชื่อฉุกเฉินในช่วงโควิด-19 โดยรัฐบาลให้ธนาคารออมสินและธ.ก.ส. เข้าไปช่วยปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือประชาชนรายละ 1 หมื่นบาท โดยมีลูกค้าที่ขอสินเชื่อจากทั้ง 2 ธนาคารเกือบ 2 ล้านราย คิดเป็นวงเงินรวมประมาณ 2 หมื่นล้านบาท 

ทั้งนี้ ในหลักการช่วยเหลือ คือ ต้องการล้างประวัติให้ลูกหนี้ที่มีสถานะเป็นหนี้เสียให้กลับมามีสถานะปกติโดยคณะทำงานย่อยที่มีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานได้เห็นชอบในหลักการเรียบร้อยแล้ว ส่วนแนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเอสเอ็มอีนั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดจะมีการเสนอที่ประชุมในครั้งถัดไป

ส่วนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบนั้น ธนาคารอยู่ระหว่างเปิดลงทะเบียน เพื่อเข้าไปเจรจากับกลุ่มลูกค้าในการแก้ไขปัญหาต่อไป ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ ธ.ก.ส. ก็มีการดำเนินโครงการเกี่ยวกับการแก้ไขหนี้นอกระบบมาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 โครงการแล้ว มีลูกค้าเข้าร่วมโครงการจำนวน 6.78 แสนราย มูลหนี้รวมกว่า 3 หมื่นล้านบาท อาทิโครงการขายฝากที่ดิน , การจ่ายหนี้นอกระบบ เป็นต้น 

สำหรับความคืบหน้าการดำเนินมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรนั้น โดยเกษตรกรที่มีสิทธิเข้าร่วมมาตรการมีจำนวน 2 ล้านราย ล่าสุด มีเกษตรกรลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการแล้ว 1.6 ล้านราย หรือคิดเป็น 70% จากจำนวนผู้มีสิทธิทั้งหมด โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามเอกสาร เพื่อทำสัญญาทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งส่วนของผู้กู้ และผู้ค้ำประกัน เพื่อให้นิติกรรมสัญญาสมบูรณ์ โดยมีระยะเวลาถึงสิ้นเดือนม.ค. 2567 โดยขณะนี้ดำเนินการสำเร็จแล้ว 15%

เขากล่าวต่อว่า ในรายที่ยังไม่เข้ามาตรการพักหนี้มีอยู่ 30% หรือราว 5 หมื่นราย ส่วนลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียของ ธ.ก.ส. มีสิทธิเข้าร่วมการพักหนี้ 6 แสนราย มูลหนี้กว่า 3.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเข้าร่วมมาตรการแล้ว3 แสนราย คิดเป็น 50% และมาตรการสีฟ้าของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะสิ้นสุดสิ้นเดือนธ.ค.นี้ ธ.ก.ส. ก็เร่งประชาสัมพันธ์ให้ลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวเข้ามาร่วมมาตรการ เพื่อลดภาระในการชำระหนี้

เขายังกล่าวถึงข้อเสนอที่ต้องการให้ ธ.ก.ส. ขยายกรอบวงเงินกู้สำหรับเข้าร่วมมาตรการพักหนี้ จากมูลหนี้ 3 แสนบาท เป็น 5 แสนบาทนั้น บอร์ด ธ.ก.ส. ก็ได้มอบหมายให้ธนาคารพิจารณารายละเอียด และเสนอให้บอร์ดพิจารณาอีกครั้ง 

อย่างไรก็ตาม ธนาคารได้เรียนว่า ขอให้การดำเนินการมาตรการพักหนี้ ระยะที่ 1 สิ้นสุดในช่วงสิ้นเดือนม.ค.2567 ก่อน เพื่อดูว่าจำนวนลูกหนี้ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการ 1.6 ล้านราย จะเข้ามาทำสัญญากี่ราย 

“เราขอดูจำนวนลูกค้าว่าสุดท้ายแล้วจะเข้าร่วมมาตรการกี่รายก่อน เพื่อคำนวณวงเงินงบประมาณคงเหลือว่าจะสามารถนำมาขยายกรอบวงเงินกู้ที่ลูกค้ามีหนี้มากกว่า 3 แสนบาท ได้เพิ่มขึ้นอีกมากน้อยเพียงใด และจะพิจารณาประกอบกับการใช้งบประมาณอุดหนุนจากมาตรการกึ่งการคลัง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง มาตรา 28 ด้วย โดยเราจะเตรียมข้อมูลทั้งหมดเพื่อเสนอบอร์ดอีกครั้ง" 

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเผยว่า กระทรวงการคลังกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่เป็นหนี้เสียจากโครงการสินเชื่อฉุกเฉินช่วงโควิดจากธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. โดยในส่วนของธนาคารออมสินมีอยู่ประมาณ 5.7 พันล้านบาท ส่วนธ.ก.ส. มีอยู่ประมาณ 3 พันล้านบาทซึ่งทางธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ขอให้กระทรวงการคลังชำระหนี้ดังกล่าวให้ เพื่อให้ลูกหนี้ดังกล่าวกลับมามีสถานะปกติ 

ทั้งนี้ ทางธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อหนี้เสียดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ส่วนแนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้เอสเอ็มอีนั้น เดิมกระทรวงการคลังมีแนวทางที่จะช่วยเหลือผ่านการพักหนี้ให้ แต่เนื่องจาก มูลหนี้รวมของเอสเอ็มอีนั้นมีจำนวนมาก จึงไม่สามารถดำเนินการผ่านแนวทางดังกล่าวได้ จึงเลือกที่จะใช้ช่องทางการปรับโครงสร้างหนี้แทน

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการพักหนี้เกษตรกรนั้น เราได้ดำเนินการในเฟสหนึ่งเรียบร้อยแล้ว โดยพักหนี้ให้ในส่วนที่มีมูลหนี้ไม่เกิน 3 แสนบาท และเราเตรียมดำเนินการในเฟสที่สอง ซึ่งจะพิจารณาพักหนี้ให้สำหรับผู้ที่มีมูลหนี้เกินกว่า 3 แสนบาท แต่แนวทางการพักเราจะพักให้เฉพาะวงมูลหนี้ 3 แสนบาทเท่านั้น

“สำหรับกรณีที่ลูกหนี้มีมูลหนี้เกินกว่า 3 แสนบาทขึ้นไป เราจะพักให้เฉพาะใน 3 แสนบาทแรกเท่านั้นเช่น มีมูลหนี้ 5 แสนบาท เราจะพักให้แค่ 3 แสนบาทแรก ส่วน 2 แสนบาทที่เหลือ จะต้องชำระหนี้ตามปกติ”