"เงินเฟ้อ"ส่งสัญญาณซึมยาว “พาณิชย์”ตั้งเป้าปีหน้าบวก0.7%

"เงินเฟ้อ"ส่งสัญญาณซึมยาว “พาณิชย์”ตั้งเป้าปีหน้าบวก0.7%

สนค.เผยเงินเฟ้อเดือนพ.ย. ลดลง 0.44% ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ต่ำสุดในรอบ 33 เดือน ประเมินอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 อยู่ที่ติดลบ 0.3% ถึง 1.7% และมีค่ากลาง 0.7%

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 จะชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2566 โดยจะอยู่ที่ติดลบ 0.3% ถึง 1.7% และมีค่ากลาง 0.7% 

การประเมินดังกล่าว สนค.พิจารณาบนสมมติฐานเศรษฐกิจขยายตัว 2.7-3.7% ซึ่งเป็นการประมาณการณ์ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่บาร์เรลละ 80-90 ดอลลาร์ และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 34.0-36.0 

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค.กล่าวว่า ปัจจัยที่จะทำให้เงินเฟ้อ ปี 2567 ลดลง เช่น มาตรการลดค่าครองชีพภาครัฐที่อาจดำเนินการต่อเนื่อง แนวโน้มการปรับขึ้นราคาสินค้าสำคัญค่อนข้างจำกัด เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ทั้งเศรษฐกิจสหรัฐ จีน และญี่ปุ่น และหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง อาจเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคของประชาชนบางกลุ่ม

ขณะที่ปัจจัยกดดันเงินเฟ้อสูงขึ้น เช่น ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำ และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ระดับสูง และเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากปี 2566 

รวมถึงการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการของรัฐ และยังต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ ทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ค่าเงินบาทที่ผันผวน และมาตรการภาครัฐที่ส่งผลต่อราคาอาจมีหลากหลายรูปแบบ

สำหรับการประเมินดังกล่าว สนค.ใช้สมมติฐานเศรษฐกิจปี 2567 ขยายตัว 2.7-3.7% ซึ่งเป็นประมาณการณ์ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบบาร์เรลละ 80-90 ดอลลาร์ และอัตราแลกเปลี่ยนที่ 34-36 บาทต่อดอลลาร์

ส่วนกรณีที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ขึ้นค่าไฟฟ้างวด ม.ค.-เม.ย.2567 เป็น 4.68 บาทต่อหน่วย จะมีผลต่ออัตราเงินเฟ้ออย่างไรยังไม่ชัดเจนเพราะรัฐบาลไม่เห็นด้วย โดยค่าไฟฟ้ามีสัดส่วนในตะกร้าเงินเฟ้อ 3.9%

นอกจากนี้ สนค.รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน พ.ย.2566 เท่ากับ 107.45 เทียบกับเดือน พ.ย.2565 ลดลง 0.44% ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน และต่ำสุดในรอบ 33 เดือน นับจาก ก.พ.2564 

ทั้งนี้มีสาเหตุสำคัญมาจากการมาตรการพลังงานของรัฐ โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลและแก๊สโซฮอล์ 91 และยังมีสินค้ากลุ่มอาหารสำคัญที่ลดลง เช่น เนื้อสุกร ไก่สด และน้ำมันพืช ราคาต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนราคาสินค้าและบริการอื่นยังเคลื่อนไหวทิศทางปกติ และรวมเงินเฟ้อเฉลี่ย 11 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-พ.ย.) เพิ่มขึ้น 1.41%

ส่วน เงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน พ.ย.2566 อยู่ที่ 104.52 เพิ่มขึ้น 0.58% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้เงินเฟ้อพื้นฐาน 11 เดือนแรกของปีนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 1.33%

“เงินเฟ้อหดตัวต่อเนื่อง 2 เดือนติดต่อกันไม่มีสัญญาณอะไร ไม่ต้องกังวลเงินฝืด แม้ว่าเดือน ธ.ค.นี้ เงินเฟ้อจะติดลบอีก"

 

สำหรับปัจจัยหลักที่ทำให้เงินเฟ้อติดลบมาจากมาตรการลดค่าครองชีพเป็นหลัก โดยเฉพาะค่าน้ำมันและค่าไฟฟ้า ดังนั้นทางเทคนิคยังไม่เข้าภาวะเงินฝืดแน่นอน เพราะต้องมีปัจจัยอื่นเข้ามาประกอบด้วย ทั้งราคาสินค้าและบริการส่วนใหญ่ 

ขณะที่แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ธ.ค.2566 มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากช่วงเดือนที่ผ่านมา ตามราคาสินค้ากลุ่มอาหาร โดยเฉพาะเนื้อสัตว์และเครื่องประกอบอาหาร รวมถึงกลุ่มพลังงาน ทั้งค่ากระแสไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิงในกลุ่มดีเซล และแก๊สโซฮอล์ 

รวมถึงสินค้าอุปโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพอีกหลายรายการและต้นทุนการผลิตที่ลดลงจากมาตรการลดค่าครองชีพให้ประชาชน ประกอบกับฐานราคาในช่วงเดียวกันของปี 2565 อยู่ระดับสูงมีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง 

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 อยู่ที่ 1.0-1.7% ค่ากลาง 1.35% ซึ่งสอดคล้องสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน 

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เงินเฟ้อเดือน พ.ย.ที่ติดลบต่อเนื่อง 2 เดือน และต่ำสุดรอบ 33 เดือน ซึ่งมาจาการลดลงของราคาพลังงานและค่าไฟฟ้าจากมาตรการรัฐ แต่สถานการณ์ที่ไม่ปกติ คือ การลดลงราคาอาหารสดบางชนิดและสินค้าอุปโภคบริโภค 

ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานที่หักกลุ่มอาหารสดและพลังงาน เฉลี่ยที่ 0.6% สะท้อนเศรษฐกิจไทยมีสัญญานซึมและประชาชนระวังการใช้จ่าย และกังวลว่าอาจเริ่มต้นการเข้าสู่ภาวะเงินฝืด ซึ่งรัฐบาลอาจต้องมีนโยบายอัตราดอกเบี้ยขาลง รวมทั้งต้องกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วน

ส่วนการดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 2,245 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ย.2566 อยู่ที่ระดับ 60.9 ดีขึ้นจากเดือน ต.ค.ที่อยู่ระดับ 60.2 เป็นการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และดัชนีสูงสุดในรอบ 45 เดือน 

สำหรับปัจจัยที่ทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น มาจากผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นหลังจัดตั้งรัฐบาลและมีนโยบายลดค่าครองชีพ เช่น ค่าไฟฟ้าและน้ำมัน ตลอดจนมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และผู้บริโภคเห็นว่าการเมืองไทยมีเสถียรภาพขึ้นหลังจากจัดตั้งรัฐบาลสลายขั้วการเมือง โดยความขัดแย้งทางการเมืองจะคลี่คลายลง

ทั้งนี้ ผู้บริโภคยังกังวลสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว สงครามในตะวันออกกลางที่อาจบานปลาย และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อของทั่วโลก ที่อาจเพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งส่งผลลบต่อการส่งออกไทย และมีผลกระทบเชิงลบต่อกำลังซื้อทุกภูมิภาค

“เศรษฐกิจไทยยังไม่น่าไว้วางใจ ต้องกระตุ้น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคดีต่อเนื่องตั้งแต่ตั้งรัฐบาล 4 เดือนติด แต่ระดับความเชื่อมั่นยังต่ำ จึงไม่แปลกที่ผู้ประกอบการจะบอกว่าเศรษฐกิจไม่คึกคัก การจับจ่ายใช้สอยยังซึม เศรษฐกิจโตแบบ K-Shape