คมนาคมถกเร่งโปรเจคยักษ์อีอีซี รฟท.ส่งพื้นที่ไฮสปีดฯ ทันม.ค.67

คมนาคมถกเร่งโปรเจคยักษ์อีอีซี  รฟท.ส่งพื้นที่ไฮสปีดฯ ทันม.ค.67

การรถไฟฯ มั่นใจส่งมอบพื้นที่ไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบินครบ ม.ค.2567 ดันเอกชนเริ่มงานก่อสร้าง ขณะที่ “คมนาคม” เตรียมประชุมคณะกรรมการเร่งรัดการลงทุนพื้นที่อีอีซี 8 ธ.ค.นี้ หวังเข็นเม็ดเงินลงทุนตามเป้าหมาย

การรถไฟฯ มั่นใจส่งมอบพื้นที่ไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบินครบ ม.ค.2567 ดันเอกชนเริ่มงานก่อสร้าง ขณะที่ “คมนาคม” เตรียมประชุมคณะกรรมการเร่งรัดการลงทุนพื้นที่อีอีซี 8 ธ.ค.นี้ หวังเข็นเม็ดเงินลงทุนตามเป้าหมาย

โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของไทยในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หลายโครงการล่าช้ากว่ากำหนดโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินซึ่งปัจจุบันมีความคืบหน้าอย่างมากแล้ว

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โดยระบุว่า ความก้าวหน้าโครงการล่าสุดในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อยู่ระหว่างเร่งรัดเตรียมพื้นที่เพื่อส่งมอบให้เอกชนเริ่มงานก่อสร้าง ซึ่งในส่วนของพื้นที่นอกเมือง ช่วงสุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา ได้ส่งมอบให้เอกชน 100% พร้อมเดินหน้างานก่อสร้างได้ทันที

ขณะที่งานเตรียมพื้นที่ส่งมอบในเมือง ช่วงดอนเมือง – พญาไท ปัจจุบันคืบหน้า 97.21% โดยอยู่ระหว่างรื้อย้ายระบบระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร และอยู่ระหว่างรื้อย้ายท่อน้ำมันของ บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด (FPT) เบื้องต้น ร.ฟ.ท.คาดการณ์ว่าจะสามารถเคลียร์พื้นที่ช่วงดังกล่าว และส่งมอบให้เอกชนคู่สัญญาได้ภายในเดือน ม.ค.2567 เพื่อเร่งรัดให้เอกชนเริ่มงานก่อสร้างโครงการต่อไป

 

8 ธ.ค.สุริยะถกบอร์ดลงทุนอีอีซี

อย่างไรก็ดี กระทรวงฯ จะมีการนัดประชุมคณะกรรมการเร่งรัดการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ตามที่นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งแต่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานคณะกรรมการฯ และจะมีการประชุมในวันที่ 8 ธ.ค.นี้ เพื่อติดตามความคืบหน้าการลงทุนในโครงการต่างๆ พร้อมผลักดันการลงทุนให้เป็นไปตามแผนกำหนดไว้

นอกจากนี้ คาดว่าจะมีการหารือถึงรายละเอียดของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่อีอีซีระยะต่อไป ที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 - 2570 ตามเป้าหมายเพิ่มขีดความสามารถของระบบรางและทางน้ำ และเชื่อมต่อกับการขนส่งสินค้ารูปแบบอื่น ตลอดจนการยกระดับโครงข่ายคมนาคมรองรับการเดินทางของประชนชนอย่างไร้รอยต่อ และยกระดับโครงข่ายคมนาคมด้วยมาตรการเชิงรุกและเทคโนโลยีที่ทันสมัย

คมนาคมถกเร่งโปรเจคยักษ์อีอีซี  รฟท.ส่งพื้นที่ไฮสปีดฯ ทันม.ค.67

 

เร่งโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม

โดยตามการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง มีจำนวน 77 โครงการ วงเงินรวม 337,797.07 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการที่เริ่มดำเนินการในช่วงปี 2566 จำนวน 29 โครงการ วงเงินรวม 125,599.98 ล้านบาท และโครงการที่เริ่มดำเนินการในช่วงปี 2567-2570 จำนวน 48 โครงการ วงเงินรวม 212,197.09 ล้านบาท กำหนดตามโครงการตามแผนปฏิบัติการปี 2566-257 แบ่งเป็น ภาครัฐลงทุน จากงบประมาณแผ่นดิน เงินกู้ และงบรัฐวิสาหกิจ จำนวน 61 โครงการ วงเงินรวม 178,578.07 ล้านบาท (52.87%) ภาคเอกชนลงทุน และการร่วมทุนระหว่างภาครัฐ และเอกชน (พีพีพี) จำนวน 16 โครงการ วงเงินรวม 159,219 ล้านบาท ( 47.13%) ทั้งนี้ เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 295,710.49 ล้านบาท (87.5%) ระบบสาธารณูปโภค 38,382.58 ล้านบาท (11.4%) และมาตรการส่งเสริม 3,704 ล้านบาท (1.1%)

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อ24 พ.ย.2566  นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 3/2566 สรุปสาระสำคัญได้แก่ การพิจารณาแผนการขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ไฮสปีดเทรน) 

กพอ.ขีดเส้นจบแก้สัญญาม.ค.67

โดยที่ประชุมกำหนด ให้มีการเร่งเจรจาข้อสัญญาให้ได้ข้อยุติและแนวทางที่ชัดเจนในการดำเนินโครงการฯ ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และ บริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัด เอกชนคู่สัญญาร่วมลงทุน ก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนม.ค.2567

สำหรับการเจรจาเพื่อแก้ไขข้อสัญญาของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เกิดขึ้นเนื่องจากสัญญาเดิมเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ไม่ได้ระบุถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยเหตุสุดวิสัย ซึ่งจะต้องตัดสินใจในเชิงนโยบายว่าจะเดินหน้าต่ออย่างไรและหาข้อสรุปร่วมกับเอกชนคู่สัญญาให้ได้เร็วที่สุด เนื่องจากสถานีรถไฟมีส่วนที่จะเชื่อมต่อกับทางวิ่งของสนามบินอู่ตะเภา โดย ไฮสปีดเทรนจะต้องใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี โดยส่วนโครงสร้างพื้นฐานจะเสร็จไม่เกิน 3 ปี ดังนั้นถ้าเริ่มนับหนึ่งได้ปีนี้ก็จะได้เห็นในรัฐบาลนี้

เปิด5แนวทางพัฒนาอีอีซีปี 66-70

ที่ประชุม กพอ. เห็นชอบ (ร่าง) แผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2566 – 2570 มีแนวทางการพัฒนา 5 แนวทาง ประกอบด้วย 1. ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายและบริการแห่งอนาคต 2. เพิ่มประสิทธิภาพและการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค 3. ยกระดับทักษะแรงงานให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรม 4. พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัย น่าอยู่อาศัยและเหมาะสมกับการประกอบอาชีพ และ 5. เชื่อมโยงประโยชน์จากการลงทุนสู่ความยั่งยืนของชุมชน