"วิกฤติเศรษฐกิจ" นิยาม กรณีศึกษาและตัวชี้วัด

"วิกฤติเศรษฐกิจ"  นิยาม กรณีศึกษาและตัวชี้วัด

คำว่า “วิกฤติ” พูดถึงกันมากในช่วงเวลานี้ เมื่อผู้นำประเทศบอกว่าขณะนี้เศรษฐกิจของประเทศกำลังประสบกับวิกฤติ จึงเป็นเรื่องที่ต้องมาศึกษาทบทวนกันว่าวิกฤติเศรษฐกิจคืออะไร?

ในทางเศรษฐศาสตร์ วิกฤติเศรษฐกิจใช้เรียกสถานการณ์ที่ประเทศใดประเทศหนึ่งประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างกะทันหัน มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จนทำให้อัตราการว่างงานสูง มูลค่าตลาดหุ้นตกต่ำ เกิดภาวะขาดความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ ประชาชนเดือดร้อนไปทั่วประเทศ

วิกฤติเศรษฐกิจสามารถแสดงออกมาได้หลายรูปแบบ ได้แก่ วิกฤติธนาคาร วิกฤติค่าเงิน วิกฤติหนี้สาธารณะ 

วิกฤติธนาคารเกิดขึ้นเมื่อธนาคารเผชิญกับการสูญเสียความเชื่อมั่นจนคนมาถอนเงินอย่างกะทันหัน หรือเมื่อธนาคารประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างมาก 

วิกฤติค่าเงินเกิดขึ้นเมื่อมูลค่าสกุลเงินของประเทศอ่อนค่าลงอย่างมาก ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อและการสูญเสียความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ

ส่วนวิกฤติหนี้สาธารณะมักเกิดขึ้นเมื่อประเทศไม่สามารถชำระหนี้รัฐบาลได้ วิกฤติต่างๆ เหล่านี้มักนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจในที่สุด

ในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก วิกฤติเศรษฐกิจเกิดขึ้นมาหลายครั้ง วิกฤติเศรษฐกิจครั้งสำคัญซึ่งเป็นที่มาของแนวคิดการกระตุ้นอุปสงค์โดยใช้นโยบายการเงินการคลังแบบเคนเซียน คือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ระดับโลก ช่วงปี 2472 (ค.ศ.1929) ซึ่งยังคงเป็นวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่และสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์

\"วิกฤติเศรษฐกิจ\"  นิยาม กรณีศึกษาและตัวชี้วัด

ในช่วงนั้น เศรษฐกิจสหรัฐเกิดการถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญของการผลิตภาคอุตสาหกรรม การค้าระหว่างประเทศ และเกิดการล่มสลายของตลาดหุ้นในสหรัฐจนแพร่กระจายไปทั่วโลก ส่งผลให้เกิดการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นมาก และภาวะเงินฝืด

วิกฤติครั้งนั้นเป็นผลมาจากปัจจัยหลายประการ รวมถึงความล้มเหลวของตลาดหุ้น ความล้มเหลวของธนาคาร การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ลดลง และนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาด

วิกฤติเศรษฐกิจอีกครั้งที่สำคัญ คือ วิกฤติเศรษฐกิจเอเชีย ปี 2540 หรือที่รู้จักในชื่อ วิกฤติต้มยำกุ้ง 

วิกฤติเริ่มต้นที่ประเทศไทย แล้วลุกลามอย่างรวดเร็วไปยังประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ทั้งอินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และมาเลเซีย วิกฤติปะทุขึ้นเมื่อค่าเงินบาทอ่อนค่าลงหลังจากที่รัฐบาลถูกบังคับให้ลอยตัวค่าเงิน เนื่องจากไม่มีเงินตราต่างประเทศมารองรับอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ได้ 

ท่ามกลางหนี้ต่างประเทศจำนวนมากและการโจมตีค่าเงินแบบเก็งกำไร ซึ่งนำไปสู่การลดค่าเงินอย่างรุนแรงของสกุลเงินเอเชีย การลดลงอย่างมากในตลาดหุ้น และมูลค่าทรัพย์สินที่ลดลงอย่างรวดเร็ว

วิกฤติครั้งนั้นเผยให้เห็นจุดอ่อนในระบบการเงินในไทยและเอเชีย รวมถึงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่สูง และการกู้ยืมจากต่างประเทศจำนวนมาก

กองทุนการเงินระหว่างประเทศได้เข้าแทรกแซงผ่านการให้ความช่วยเหลือทางการเงินครั้งใหญ่ตามเงื่อนไขนโยบายที่ต้องปฏิบัติ วิกฤติส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอยลงอย่างมาก เกิดความไม่สงบในสังคม และความวุ่นวายทางการเมืองในหลายประเทศ

\"วิกฤติเศรษฐกิจ\"  นิยาม กรณีศึกษาและตัวชี้วัด

วิกฤติเศรษฐกิจครั้งสำคัญล่าสุดคือ วิกฤติการเงินโลก ปี 2550-2551 (ค.ศ.2007-2008) เริ่มต้นด้วยการล่มสลายของตลาดที่อยู่อาศัยในสหรัฐ ทำให้เกิดวิกฤติสินเชื่ออย่างรุนแรง และการล้มละลายของสถาบันการเงินรายใหญ่หลายแห่ง

วิกฤติครั้งนี้แพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มูลค่าตลาดหุ้นลดลงอย่างมาก อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก

ทั้งนี้ การจะพิจารณาว่าเศรษฐกิจประเทศใดเกิดวิกฤติเศรษฐกิจหรือไม่นั้น นักเศรษฐศาสตร์มักใช้สัญญาณตัวบ่งชี้หรือดัชนีทางเศรษฐกิจหลักๆ หลายตัวเพื่อชี้วัดจับชีพจรว่าเศรษฐกิจเกิดวิกฤติหรือไม่

โดยเฉพาะดัชนีหลักคือ “การหดตัวอย่างมีนัยสำคัญของ GDP” ที่สะท้อนถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลงในภาคส่วนต่างๆ เมื่อ GDP ลดลงมักทำให้เกิดการว่างงาน ซึ่งสะท้อนผ่าน “อัตราการว่างงาน” ที่เพิ่มสูงขึ้นมาก

สัญญาณวิกฤติเศรษฐกิจอีกประการคือ “อัตราเงินเฟ้อและภาวะเงินฝืด” ที่สูงกว่าปกติมาก เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อกัดกร่อนมูลค่าของเงิน ทำให้สินค้าและบริการมีราคาแพงขึ้น

ในขณะที่ภาวะเงินฝืดทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลง เนื่องจากผู้คนคาดหวังว่าราคาจะลดลงอีก และทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง ซึ่งมักสะท้อนผ่าน “ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค” ที่ตกต่ำลง บ่งชี้ว่าผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายเงินน้อยลง ซึ่งอาจทำให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงขึ้น

\"วิกฤติเศรษฐกิจ\"  นิยาม กรณีศึกษาและตัวชี้วัด

ในหลายวิกฤติเศรษฐกิจ สัญญาณหนึ่งที่สำคัญคือ “การเพิ่มขึ้นของหนี้ภาครัฐ” ที่สูงขึ้นมาก ส่งสัญญาณถึงวิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้น เนื่องจากทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความสามารถของรัฐบาลในการจัดการการเงินและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ 

สำหรับในวิกฤติค่าเงิน ตัวบ่งชี้สำคัญคือ “การอ่อนค่าอย่างมากและรวดเร็วของค่าเงิน” ดังเช่นการลดค่าเงินบาทที่เกิดขึ้นในปี 2540 นอกจากนี้การตกต่ำของภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ เช่น การตกต่ำของตลาดที่อยู่อาศัย ราคาบ้านที่ลดลงและการก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่ลดลง อาจเป็นตัวบ่งชี้ถึงวิกฤติเศรษฐกิจได้เช่นกัน

โดยสรุปแล้ว วิกฤติเศรษฐกิจมีลักษณะเฉพาะ คือการหยุดชะงักอย่างรุนแรงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือในระบบการเงินของประเทศ มักจะมาพร้อมกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง การว่างงานที่สูง และมาตรฐานการครองชีพของประชาชนที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

 ภาพรวมของประเทศไทยในปัจจุบัน คือ ประเทศกำลังสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน แต่ยังไม่เข้าเงื่อนไขการเกิดขึ้นของวิกฤติเศรษฐกิจแต่อย่างใด

\"วิกฤติเศรษฐกิจ\"  นิยาม กรณีศึกษาและตัวชี้วัด