อินเดียงดส่งออกข้าว-ราคาข้าวโลกสูง ดันส่งออกข้าวเดือนต.ค.กว่า 8 แสนตัน

อินเดียงดส่งออกข้าว-ราคาข้าวโลกสูง ดันส่งออกข้าวเดือนต.ค.กว่า 8 แสนตัน

ส่งออกข้าวเดือนต.ค. ปริมาณ 840,513 ตันเพิ่มขึ้น 5.6%   มูลค่า 18,700 ล้านบาท ผลจากผู้นำเข้าเร่งสำรองข้าวไว้ใช้ บวกกับอินเดียงดส่งออกข้าว ส่วนภาพรวม 10 เดือน ส่งออกได้  6,922,649 ตัน เพิ่มขึ้น 11.4% มูลค่า มั่นใจส่งอกข้าวได้ตามเป้า 8.5 ล้านตัน

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย  เปิดเผยว่า   การส่งออกข้าวในเดือนต.ค. 2566 มีปริมาณ 840,513 ตันเพิ่มขึ้น 5.6%  มูลค่า 18,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.5% เนื่องจากในเดือนต.ค. 2566 การส่งออกข้าวขาว ข้าวหอมมะลิและข้าวหอมไทย รวมทั้งในกลุ่มปลายข้าวมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน เนื่องจากผู้นำเข้า  ที่สำคัญยังคงนำเข้าข้าวเพื่อชดเชยอุปทานข้าวในประเทศที่ลดลง และสำรองไว้ใช้ในช่วงปลายปีนี้และต้นปีหน้า ท่ามกลางภาวะอุปทานข้าวในตลาดโลกที่ยังตึงตัวจากมาตรการจำกัดการส่งออกข้าวของอินเดีย และภาวะราคาข้าวในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น  

โดยการส่งออกข้าวขาวมีปริมาณ 503,445 ตัน เพิ่มขึ้น 44% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่งไปยังตลาดหลัก เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ญี่ปุ่น อิรัก โมซัมบิก ฟิลิปปินส์ แองโกล่า เป็นต้น ขณะที่การส่งออกข้าวนึ่งมีปริมาณ 102,816 ตัน ลดลง 56.5% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยยังคงส่งไปยังตลาดหลัก เช่น แอฟริกาใต้ เยเมน เป็นต้น ส่วนการส่งออกข้าวหอมมะลิ (ต้นข้าว) ปริมาณ 108,942 ตัน เพิ่มขึ้น 1.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่งไปยังตลาดหลัก เช่น สหรัฐฯ แคนาดา ฮ่องกง สิงคโปร์ ฝรั่งเศส เป็นต้น

สำหรับการส่งออกข้าวในช่วง 10 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.2566) มีปริมาณ 6,922,649 ตัน เพิ่มขึ้น 11.4%  มูลค่า 3,967.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่ส่งออกปริมาณ 6,214,352 ตัน 3,180.4 ล้านดอลลาร์

สมาคมฯคาดว่าในเดือนพ.ย. 2566 ปริมาณส่งออกข้าวจะอยู่ที่ระดับประมาณ 800,000-900,000 ตัน และคาดว่าในปีนี้จะส่งออกได้ตามเป้าหมายที่ 8.5 ล้านตัน เนื่องจากผู้ส่งออกยังมีสัญญาส่งมอบข้าวในช่วงปลายปีจำนวนมาก ประกอบกับผู้นำเข้าที่สำคัญในเอเชีย เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น รวมทั้งตลาดประจำในภูมิภาคแอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา และประเทศในแถบอเมริกาใต้ เช่น บราซิล ที่มีการนำเข้าข้าวอย่างต่อเนื่องทั้งข้าวขาว ข้างนึ่ง และข้าวหอม เพื่อชดเชยอุปทานข้าวในประเทศที่ลดลง และสำรองไว้ใช้ในช่วงปลายปีนี้และต้นปีหน้า ประกอบกับในช่วงนี้ผลผลิตข้าวฤดูใหม่ของไทยออกสู่ตลาดมากขึ้น ในขณะราคาข้าวของไทยอยู่ในระดับที่แข่งขันได้และยังคงต่ำกว่าราคาข้าวของเวียดนามจึงทำให้ผู้นำเข้าข้าวหันมาซื้อข้าวไทยมากขึ้น

 โดยราคาข้าวไทยข้าวขาว 5% ของไทย ณ วันที่ 29 พ.ย. 2566 อยู่ที่ 640 ดอลลาร์ต่อตัน ขณะที่ราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนาม 663-667  ดอลลาร์ต่อตัน และปากีสถานอยู่ที่  598-602 ดอลลาร์ต่อตัน  ส่วนราคาข้าวนึ่งไทยอยู่ที่ 640 ดอลลาร์ต่อตัน ขณะที่ข้าวนึ่งอินเดีย 498-502 ดอลลาร์ต่อตัน และปากีสถานอยู่ที่  546-550 ดอลลาร์ต่อตัน