WTO ชี้ไตรมาส 4 การค้าโลกพลิกบวก ห่วงโตเปราะบางท่ามกลางปัจจัยเสี่ยง

WTO ชี้ไตรมาส 4 การค้าโลกพลิกบวก    ห่วงโตเปราะบางท่ามกลางปัจจัยเสี่ยง

WTO เปิดบารอมิเตอร์การค้าสินค้าทั่วโลกชี้ไตรมาสสุดท้ายปีนี้ โตเด่นจากภาคยานยนต์ การผลิต และอิเล็กทรอนิกส์ ชี้เป็นการเติบโตอย่างเปราะบาง ท่ามกลางภูมิรัฐศาสตร์ขัดแย้ง ขณะพาณิชย์เปิดเทรนด์ FDI โลกโหมลงทุนในอาเซียน

องค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) เปิดเผยรายงาน“บารอมิเตอร์ด้านการค้าสินค้าโลก” ไตรมาสสุดท้ายปีนี้ว่ามีแนวโน้มฟื้นตัวหลังจากซบเซา เป็นผลจากการยอดขายกลุ่มยานยนต์ ภาคการผลิต และ ส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจยังเผชิญแรงกดดันจากความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งสร้างภาพรวมของความไม่แน่นอนต่อการค้าให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ทั้งนี้ ค่าดัชนีอยู่ที่ 100.7 สูงกว่าเมื่อส.ค.ที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 99.1 อย่างไรก็ตาม คาดว่าการฟื้นตัวนี้จะไปในช่วงไม่นานนัก (medium-term trend) และ ค่าดัชนี สูงกว่า ค่าฐานที่ 100 เพียงเล็กน้อยดังนั้นการฟื้นตัวนี้ต้องอยู่ในความระมัดระวังและมีโอกาสเป็นไปได้ที่จะตกลงได้ในอนาคตอันใกล้

สำหรับความเคลื่อนไหวค่าดัชนีในไตรมาส 2 ที่ผ่านมาโตแค่ 0.2% เทียบกับไตรมาสแรกปีเดียวกัน และติดลบ 0.5% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่สถิติกลับดีในไตรมาส 3 ที่ได้รับอานิสงค์จากความเเข็งแกร่งจากการเติบโตของจีดีพีสหรัฐ จีน และยุโรปซึ่งต่างมีส่วนขับเคลื่อนดีมานด์ตลาดโลกโดยรวม และคาดว่าการค้าโลกทั้งปี 2566 จะขยายตัว 0.8% 

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอาเซียนกลายเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ จากการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการทำธุรกิจพร้อมกับการปรับปรุงการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน ประกอบกับความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐ - จีน ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน ซึ่งอาเซียนเป็นหนึ่งหมุดหมายที่บริษัทต่าง ๆ จะเข้าไปลงทุนมากขึ้น ซึ่งไทยควรใช้โอกาสนี้ออกมาตรการและลดกฎระเบียบทางการค้าเพื่อทำให้การค้าการลงทุนง่ายขึ้น รวมทั้งเร่งเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี( FTA )ให้ครอบคลุมประเทศที่กว้างขวางมากขึ้น

จากรายงาน ASEAN Investment Report 2022 ระบุว่า ปี 2564 มีเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศไหลเข้าเพิ่มขึ้นถึง 42% มูลค่า 1.74 แสนล้านดอลลาร์สะท้อนให้เห็นถึงความน่าดึงดูดใจทางเศรษฐกิจของภูมิภาคของนักลงทุนทั่วโลก ด้วยตลาดขนาดใหญ่และความร่วมมือภายในภูมิภาคที่เข้มแข็ง

โดยอาเซียนเป็นเป้าหมายการลงทุนที่สำคัญรองจากจีน ซึ่งการลงทุน FDI ช่วยให้เศรษฐกิจของภูมิภาคเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ในรายงานของ IMF ล่าสุด ณ ต.ค. 2566 คาดการณ์ว่า ในปี 2566 เศรษฐกิจของอาเซียน5 (ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย) จะขยายตัว 4.5% และขยายตัว 4.5% ในปี 2567 ซึ่งมากกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัว 3.0% ในปี 2566 และ 2.9%ในปี 2567

“ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐ - จีน ที่มีมาตั้งแต่ปี 2561 เป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญที่ทำให้หลายบริษัทต่างชาติที่ลงทุนในประเทศจีนต่างได้รับผลกระทบจากมาตรการทางภาษีและการควบคุมการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ทำให้ต้องย้ายฐานการผลิตออกจากจีน”

 นอกเหนือจากนั้นแล้ว บริษัทของจีนหลายบริษัทก็ได้มีการย้ายฐานการผลิตเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี การย้ายฐานการผลิตของบริษัทจีน ไม่ได้เป็นการย้ายออกโดยเด็ดขาด แต่เป็นการจัดส่งวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ขั้นกลางไปประกอบยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทำให้การค้าระหว่างทั้งสองประเทศลดลงอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนจากสัดส่วนการส่งออกของจีนไปสหรัฐ ค่อย ๆ ลดลง ในขณะที่การค้ากับสหรัฐ ค่อนข้างคงที่ เนื่องจากสหรัฐ ได้พยายามสร้างห่วงโซ่อุปทานขึ้นมาใหม่ที่แยกออกจากจีน