พาณิชย์ เดินหน้าเร่งปรับปรุงกฎหมายอำนวยความสะดวกธุรกิจ

พาณิชย์ เดินหน้าเร่งปรับปรุงกฎหมายอำนวยความสะดวกธุรกิจ

พาณิชย์รับลูกนโยบายรัฐบาล ปรับปรุงกฎหมายอำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจ -ดันซอฟพาวเวอร์ 28 ฉบับ เร่ง Quick Win ก่อน 4 ฉบับ “ลิขสิทธิ์ , สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ , สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักร”วางเป้าให้เสร็จ 31 ธ.ค.นี้

นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ จะเร่งปรับปรุงกฎหมายที่อยู่ในความดูแลทุกฉบับ เพื่อให้ทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์การค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงอำนวยความสะดวกต่อภาคธุรกิจให้มากขึ้น และส่งเสริมผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ตามนโยบายของรัฐบาล โดยหลังจากนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ตั้งคณะทำงานศึกษาแล้ว  ซึ่งได้กำหนดแผนงานปรับปรุงกฎหมายเป็น 2 ระยะ โดยมีทั้งกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติจำนวน  28 ฉบับ และกฎหมายลำดับรองเช่น กฏกระทรวง ประกาศกระทรวง เป็นต้น  ซึ่งในระยะแรก หรือ Quick win มีพระราชบัญญัติที่ต้องปรับปรุงเร่งด่วน 4 ฉบับ จาก 28 ฉบับได้แก่ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์, พ.ร.บ.สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI), พ.ร.บ.สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และพ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าพ.ศ.2522

 “การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายทุกฉบับ กระทรวงพาณิชย์ จะเปิดรับฟังความจากผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ได้นิมิตร หรือคิดจะแก้ไขเอาเอง จากนั้นจึงจะนำความเห็นที่ได้มาสรุปเป็นเสนอขอความเห็นชอบจากรมว.พาณิชย์ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ แล้วเข้าสู่กระบวนการปรับปรุงแก้ไขต่อไป”

 

 

 

สำหรับการแก้ไขพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ จะยกระดับการคุ้มครองสิทธิของนักแสดงให้มากขึ้น โดยคุ้มครองการบันทึกเสียงของนักแสดงด้วย จากเดิมที่คุ้มครองเฉพาะการแสดงสด เช่น กรณีที่นักร้อง เล่นคอนเสิร์ตบนเวที กฎหมายลิขสิทธิ์ไทยปัจจุบัน คุ้มครองสิทธิเฉพาะการแสดงสดบนเวที แต่หากมีการบันทึกคอนเสิร์ตแล้วนำมาขายต่อ นักร้องคนนั้นอาจไม่ได้รับค่าส่วนแบ่ง หรือไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิ์ แต่การแก้ไขใหม่จะได้รับการคุ้มครองสิทธิครอบคลุมการบันทึกเสียงด้วย ซึ่งการแก้ไขดังกล่าวเพื่อให้สอดคล้องกับสนธิสัญญาการแสดงและสิ่งบันทึกเสียง (WPPT) ภายใต้องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) และสอดคล้องกับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิกาค (RCEP) ที่กำหนดให้สมาชิกต้องเข้าเป็นสมาชิก WPPT และไทยอยู่ระหว่างเตรียมการเข้าเป็นสมาชิก

ส่วนการแก้ไขพ.ร.บ.GI จะยกระดับการคุ้มครองสินค้า GI ของไทย และตราสัญลักษณ์ GI เพื่อทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นในสินค้า GI ไทยมากขึ้น ที่สำคัญใครจแอบอ้างะนำตราสัญลักษณ์ไปใช้ จะถือว่าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงจะมีผลดีต่อการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศอื่นๆ ที่ไม่ต้องกำหนดรายชื่อสินค้า GI ไทยที่จะได้รับความคุ้มครองใหม่ๆ เพิ่มเติม แต่จะได้รับการคุ้มครองอัตโนมัติจากประเทศที่ไทยมี FTA ด้วย เช่น สหภาพยุโรป (EU) ที่ไทยอยู่ระหว่างเจรจา และ EU มีสินค้า GI จำนวนมาก ถ้าแก้ไขกฎหมายและเจรจา FTA สำหรับ ต่อไป GI ไทยก็จะได้รับการคุ้มครองอัตโนมัติจากยุโรปเลย ขณะที่พ.ร.บ.นำเข้าฯ จะแก้ไขให้สามารถนำเงินสมทบของภาคเอกชนในกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มาใช้ในกิจกรรมส่งเสริมและผลักดันการส่งออกได้มากขึ้น

นายกีรติ กล่าวว่า นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังได้ดำเนินการปรับปรุงกฎหมายระดับรอง เช่น ประกาศกระทรวงพาณิชย์ ประกาศกรม กฎกระทรวง รวม 31 ฉบับ ส่วนใหญ่เป็นการอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจและประชาชน ลดขั้นตอน สร้างความโปร่งใส และธรรมาภิบาล ซึ่งจะมีผลต่อการจัดอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจในไทย (Ease of Doing Business) โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธ.ค.2566 เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนและภาคธุรกิจ

ส่วน พ.ร.บ.อื่น ๆ ที่เหลือ จะดำเนินการปรับปรุงในระยะต่อไป หรือภายในเวลา 6-18 เดือน เช่น พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มและการอุดหนุน พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เป็นต้น