‘ญี่ปุ่น’ รุกหนักป้องค่ายรถ หนุนเพิ่มส่งเสริมรถยนต์สันดาป

‘ญี่ปุ่น’ รุกหนักป้องค่ายรถ หนุนเพิ่มส่งเสริมรถยนต์สันดาป

เจโทรพบผู้แทนการค้าไทย ถกแนวทางหนุนเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมในประเทศ ชี้อีวีนำเข้าจะกระทบซัพพลายเชนยานยนต์ ด้านค่ายรถญี่ปุ่นเตรียมโมเดลปิ๊กอัพอีวีรุกตลาดไทย ขยายลงทุนฐานผลิตอีวี

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้จัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนรถยนต์สันดาป เพื่อให้ไทยยังคงเป็นเป็นฐานการผลิตสำคัญในภูมิภาค และเป็นฐานการผลิตสำคัญของบริษัทรถญี่ปุ่น 

ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) หารือกับค่ายรถยนต์ เพื่อจัดทำนโยบายส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งจะมีการนำไปหารือกับบริษัทรถญี่ปุ่นในระหว่างที่นายกรัฐมนตรี เยือนญี่ปุ่นในเดือน ธ.ค.2566 เพื่อเข้าร่วมการประชุม ASEAN-Japan Commemorative Summit 2023

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า แนวทางที่รัฐบาลจะส่งเสริมรถยนต์สันดาปควบคู่กับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นแนวทางที่ถูกต้อง เพราะความต้องการรถยนต์สันดาปยังมี โดยเฉพาะในประเทศที่โครงสร้างพื้นฐานด้านการอัดประจุไฟฟ้า EV ยังไม่พร้อม

ทั้งนี้ บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นได้เสนอความเห็นว่าการยกเลิกจำหน่ายรถยนต์สันดาปในไทยควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด จากเดิมที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลมีนโยบาย ZEV หรือ Zero Emission Vehicle ภายในปี ค.ศ.2035

นอกจากนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฮบริดเป็นการเฉพาะ ซึ่งเป็นรถยนต์ที่เหมาะสมกับช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี โดยใช้ทั้งเครื่องยนต์สันดาปและมอเตอร์ไฟฟ้า รวมทั้งขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีเทคโนโลยีใหม่อย่างไร เพราะมีหลายเทคโนโลยีที่กำลังพัฒนา เช่น ไฮโดรเจน

“หลายประเทศยังมีความต้องการใช้รถยนต์สันดาป แต่ถ้าฐานการผลิตในไทยผลิตเพื่อส่งออกเพียงอย่างเดียวอาจจะมีปริมาณที่ทำให้ต้นทุนสูง ดังนั้น การผลิตรถยนต์สันดาปเพื่อรองรับตลาดภายในประเทศยังมีความจำเป็น”

สำหรับยอดขาย EV ที่ขยายตัวสูงมาจากความต้องการของตลาดที่สูงขึ้น ในขณะที่รถยนต์และรถปิ๊กอัพสันดาปที่มียอดขายลดลง ส่วนหนึ่งมาจากการเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถทั้งรถยนต์และรถปิ๊กอัพ

‘ญี่ปุ่น’ รุกหนักป้องค่ายรถ หนุนเพิ่มส่งเสริมรถยนต์สันดาป

ขณะที่ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นหลายรายเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อชี้แจงถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทย โดยล่าสุดวันที่ 23 พ.ย.2566 นายโทชิโอะ คุวาฮาระ ประธานบริษัท เอเชี่ยน ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด (สำนักงานใหญ่ฮอนด้าประจำภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย) และ นายฮิเดโอะ คาวาซากะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เข้าพบนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ ฮอนด้าแสดงความมุ่งมั่นที่จะสานต่อการดำเนินธุรกิจในไทย และสนับสนุนนโยบายด้านพลังงานสะอาดและมาตรการยานยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาล

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยว่า ได้หารือกับนายคุโรดะ จุน ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น ณ กรุงเทพฯ (JETRO Bangkok) เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2566 โดยนักลงทุนญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจของไทยตั้งแต่การพัฒนาบุคคลากร โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหนึ่งในกิจการที่ญี่ปุ่นมีมูลค่าการลงทุนสูงที่สุด

“การเข้ามาลงทุนของค่ายรถญี่ปุ่นยังได้สนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการในประเทศจำนวนนมากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่การผลิต และขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง”

นอกจากนี้ นายคุโรดะ ยังได้กล่าวชื่นชมรัฐบาลไทยในการดำเนินนโยบายส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านภาคอุตสาหกรรมไปสู่เทคโนโลยีใหม่เพื่อขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจสีเขียว โดยการผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ของภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้นจะทำให้ผู้ผลิตที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตรถยนต์สันดาปภายในได้รับผลกระทบเนื่องจากชิ้นส่วนยานยนต์จำนวนมากที่หายไป ดังนั้นการวางแผนร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชนในช่วงการเปลี่ยนผ่านจึงจำเป็นเพื่อให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนที่เกี่ยวเนื่องได้ปรับตัว ทั้งด้านเทคโนโลยีการผลิต การพัฒนาทักษะบุคคลากร รวมถึงการเปลี่ยนไปผลิตสินค้าอื่นเพื่อทดแทนปริมาณความต้องการชิ้นส่วนยานยนต์ที่จะหายไป

รายงานจากเจโทรระบุว่า การเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจำเป็นต้องคำนึงถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในระดับ (Tier) ต่างๆ ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้ประกอบรถยนต์ 23 ราย ผู้ประกอบจักรยานยนต์ 8 ราย ผู้ผลิตชิ้นส่วนเทียร์ 1 จำนวน 476 ราย ผู้ผลิตเทียร์ 2 จำนวน 1,210 ราย และเทียร์อื่นๆ รวมการจ้างงานกว่า 550,000 คน

ทั้งนี้การเปลี่ยนผ่านจากรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ไปสู่รถยนต์แบตเตอรี่ไฟฟ้า (BEV) โดยเฉพาะในช่วงที่มีการอุดหนุนนำเข้ารถ EV ปริมาณสูง ทำให้กระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศจากดีมานต์รถยนต์ในประเทศที่ลดลง

ทั้งนี้ เจโทรเปิดเผยว่า ผู้ประกอบการค่ายรถญี่ปุ่นเองเริ่มขยับและพร้อมปรับตัวที่จะขยายฐานการผลิตรถ EV ในไทย โดยบางค่ายเริ่มนำรถกระบะ (Pick-Up) ซึ่งถือเป็นโปรดักส์แชมป์เปี้ยนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เข้ามาเริ่มทดลองใช้งาน

สำหรับยอดการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท BEV เดือน ต.ค.2566 มีจำนวน 9,808 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 400.41% ส่งผลให้เดือนม.ค.-ต.ค. 2566 มียอดจดทะเบียนใหม่สะสม 77,737 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 409.98%

ขณะที่ยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท HEV เดือน ต.ค.2566 อยู่ที่ 6,613 คัน ลดลง 31.31% รวม 10 มียอดจดทะเบียนใหม่สะสม 72,036 คัน เพิ่มขึ้น 31.34%

ส่วนยอดจดทะเบียนใหม่ PHEV มีจำนวน 849 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 5.56% รวม 10 เดือนมียอดจดทะเบียนสะสม 10,383 คัน เพิ่มขึ้น 7.14%