Magic Economy โอกาส Soft Power ไทยในตลาดไต้หวันและตลาดเอเชีย

Magic Economy  โอกาส Soft Power ไทยในตลาดไต้หวันและตลาดเอเชีย

อังกฤษเปิดสอนวิชาเวทมนตร์ ก้าวข้ามภาพลักษณ์งมงาย มาเป็นการศึกษา สร้างการยอมรับมากขึ้น ด้านทูตพาณิชย์ เผย คนไต้หวันมาไทยนิยมไปไหว้พระพรหมเอราวัณ เช่าวัตถุมงคล กลับไต้หวัน ชี้ โอกาสไทยขยาย Soft Power ไทยสายมูในไต้หวัน

แฮร์รี่ พอตเตอร์ นวนิยายชื่อดังของ J.K. Rowling นักประพันธ์ชื่อดังของอังกฤษ ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ ได้รับความนิยมและสร้างรายได้ไปทั่วโลก ซึ่งน้อยคนนักจะไม่รู้จัก จนทำให้กระแสเกี่ยวกับเวทมนตร์และไสยศาสตร์ได้รับความสนใจไปทั่วโลก ล่าสุดเมื่อช่วงกลางเดือนต.ค.ที่ผ่านมา University of Exeter ของอังกฤษได้ประกาศเปิดหลักสูตรระดับปริญญาโทในสาขา Magic and Occult Science (ศาสตร์แห่งเวทมนตร์และไสยศาสตร์) ทำให้กระแสเกี่ยวกับเวทมนตร์และไสยศาสตร์ได้รับความสนใจไปทั่วโลกรวมถึงในไต้หวันด้วย 

สำหรับ University of Exeter ซึ่ง J.K. Rowling นักประพันธ์ชื่อดังที่เป็นผู้แต่งนวนิยายเรื่อง Harry Potter เป็นศิษย์เก่าที่จบการศึกษาจากที่นี่ โดย University of Exeter ประกาศว่า หลักสูตรด้านศาสตร์แห่งเวทมนตร์และไสยศาสตร์ของมหาวิทยาลัย จะเริ่มเปิดสอนตั้งแต่ปีการศึกษา 2024 (เปิดเทอมเดือนก.ย. 2567) เป็นหลักสูตรที่ใช้เวลาเรียน 1 ปี ซึ่งจะมีการเรียนการสอนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเวทมนตร์และไสยศาสตร์ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงวรรณกรรม ปรัชญา ละคร ศาสนาและความเชื่อต่างๆ

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศที่ดูแลประเทศไต้หวัน รายงานว่า มีการประมาณการว่า มูลค่าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น การดูดวง และการซื้อขายสินค้าเครื่องรางของขลัง คิดเป็นมูลค่ารวมทั่วโลกสูงถึง 2,300 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่มีผลการวิจัยในต่างประเทศชี้ว่า เมื่อ 20 กว่าปีก่อน จำนวนผู้ที่มีความเชื่อในเวทมนตร์และไสยศาสตร์ในสหรัฐฯ มีจำนวนประมาณ 134,000 คนเท่านั้น แต่ในปัจจุบัน ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 2 ล้านกว่าแล้ว โดยที่บนแพลตฟอร์ม Etsy ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซสำหรับสินค้าออกแบบและไลฟ์สไตล์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ก็มีผู้ขายที่เน้นการขายสินค้าเกี่ยวกับ Magic Industry มากกว่า 36,000 ราย ในขณะที่ #WitchTok ก็มียอดคลิกชมสะสมเกือบ 50,000 ล้านครั้งบน Tiktok ด้วย

ดร.เจิ้งอิ้นจวิน หัวหน้าภาควิชาศาสนศาสตร์ของมหาวิทยาลัย Fu Jen Catholic University ก็ให้ความเห็นว่า การเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนในแบบนี้ ถือเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการด้านจิตวิญญาณในกลุ่มคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน แต่ทั้งนี้ จะต้องอยู่บนรากฐานที่เกี่ยวพันกับวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วย จึงจะไปด้วยกันได้ โดยที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ผู้สนใจจะทำการเรียนรู้ด้วยตนเอง จึงทำให้เป็นการเรียนแบบไม่ครบถ้วน การที่สามารถใช้หลักทางวิชาการมารวบรวมสิ่งเหล่าอย่างมีรูปแบบและมีมาตรฐาน เชื่อว่าจะทำให้สามารถพัฒนาและต่อยอดให้เกิดโอกาสและสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาได้อย่างแน่นอน ส่วนการเปิดหลักสูตรแบบเดียวกันนี้ในไต้หวันมีความเป็นไปได้สูง เพราะไต้หวันเองก็มีวัฒนธรรมท้องถิ่นในแบบตะวันออก ทั้งการทรงเจ้า ไหว้เจ้า รวมถึงการดูดวง และการซื้อขายวัตถุมงคลในแบบของตัวเองเช่นกัน

นางสาวกัลยา ลีวงศ์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) กล่าวว่า   การเปิดหลักสูตรด้านเวทมนตร์และไสยศาสตร์อย่างเป็นทางการของมหาวิทยาลัยอังกฤษในครั้งนี้ ถือเป็นการเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ให้กับโลกแห่งเวทมนตร์และไสยศาสตร์ไปอย่างสิ้นเชิง จากเดิมที่ถูกมองว่าเป็นสิ่งงมงาม เมื่อผ่านการค้นคว้าวิจัยทางวิชาการ ก็จะทำให้กลายเป็นสิ่งที่มีแบบแผนและเป็นที่ยอมรับมากขึ้น

โดยที่ผ่านมา ชาวไต้หวันซึ่งได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมจีนที่มีทั้งการทรงเจ้าและไหว้เจ้า และนิยมไปไหว้พระพรหมเอราวัณในยามที่เดินทางไปท่องเที่ยวที่ประเทศไทย ทำให้มีการตั้งศาลพระพรหมทั่วไต้หวันเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้วัตถุมงคล เช่น พระเครื่องและตะกรุด ของไทยได้รับความนิยมในหมู่ชาวไต้หวันจำนวนไม่น้อยเช่นกัน ดังจะพบเห็นร้านให้เช่าวัตถุมงคลของไทยเป็นจำนวนมาก ทั้งช่องทางออนไลน์ คือ แพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซและช่องทางออฟไลน์ คือ ร้านค้าที่ตั้งอยู่ใกล้กับศาลพระพรหมตามที่ต่างๆ และร้านค้าที่อยู่ตามตลาดนัดกลางคืนใหญ่ๆ

“การที่ไทยมีรากฐานทางวัฒนธรรมและมีความเชื่อท้องถิ่นที่สอดคล้องกับกระแสของ Magic Economy ทำให้หากสามารถสร้างแบบแผนและมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในเชิงวิชาการได้ เชื่อว่า จะกลายเป็นอีกหนึ่ง Soft Power ที่มีศักยภาพของไทยในตลาดไต้หวันและตลาดเอเชียได้ ดังเช่นตัวอย่างของ Alp Kirin ที่แสดงให้เห็นว่า สินค้าออกแบบและไลฟ์สไตล์ที่ผ่านการ Blessing สามารถช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้เป็นอย่างมาก เพราะมีทั้ง Story และการสร้างคุณค่าทางจิตใจ จึงถือเป็นความสอดคล้องต่อกระแสนิยมของการบริโภคสมัยใหม่ ที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับคุณค่าที่มองไม่เห็นของผลิตภัณฑ์เป็นอย่างมากเช่นกัน “