คลังชี้จีดีพีไทยหดตัวต่อเนื่อง 20 ปีโตเฉลี่ย 3.2%

คลังชี้จีดีพีไทยหดตัวต่อเนื่อง 20 ปีโตเฉลี่ย 3.2%

ปลัดคลังชี้เศรษฐกิจไทยต้องก้าวข้าม 5 ความท้าทายหลัก ทั้งจีดีพีไทยลด 20 ปีโตเฉลี่ย 3.2% ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ สังคมสูงวัย ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง และการลงทุนที่ลดลง ยันเสถียรภาพการเงิน - การคลังยังแกร่ง แนะรัฐหนุนลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ดันจีดีพีโตยั่งยืน

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวในพิธีปิดหลักสูตร Wealth of Wisdom รุ่นที่ 1 และ 2 ซึ่งจัดโดย บริษัท เนชั่น กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด(มหาชน)ในหัวข้อก้าวต่อไปของเศรษฐกิจไทยโดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยมีความท้าทายต้องก้าวข้ามใน 5 เรื่องหลัก

ประกอบด้วย 1.ความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์ เนื่องจาก โลกมีความขัดแย้ง การเงินผันผวน เศรษฐกิจเติบโตต่ำ ซึ่งเป็นผลของสงครามการค้าสหรัฐ-จีน กระทบต่อห่วงโซ่การผลิตและปริมาณการค้าโลกความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน กระทบราคาพลังงานในตลาดโลก การขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสู้เงินเฟ้อทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุน IMF คาดเศรษฐกิจปีหน้าจะชะลอตัวลงไปอยู่ที่ 2.9% จาก 3.0% ในปีนี้ และต้องจับตาปัญหาช่องแคบไต้หวัน และคาบสมุทรเกาหลี

 

2.ปัญหาเศรษฐกิจไทยที่เติบโตเฉลี่ยลดลงตลอด 20 ปี โดยในปี 2566 เศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่องไตรมาส 1 , 2 และ 3 ขยายตัว 2.6% ,1.8% และ 1.5% ตามลำดับ ฉะนั้น 3 ไตรมาสขยายตัว 1.9% ทั้งปี 2566 คาด 2.7% ปี 2567 คาด 3.2% ส่วนปี 2565 ขยายตัว 2.6%

ทั้งนี้ ระยะ 20 ปี เศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ย 3.2% 

2546-2550 ขยายตัวเฉลี่ย 5.6%

2551-2555 ขยายตัวเฉลี่ย 3.3%

2556-2560 ขยายตัวเฉลี่ย 1.9%

2561-2565 ขยายตัวเฉลี่ย 0.9% 

”ก่อนหน้านั้น เศรษฐกิจไทยเคยขยายตัวได้ 7-8% ต่อปี ฉะนั้น ถ้าจะเติบโตได้ในระดับนั้น ก็นับเป็นความท้าทาย“

3.การลงทุนที่ลดบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยนับตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง 2540-2541 สัดส่วนการลงทุนรวมของภาครัฐ และเอกชนต่ำกว่า 25% ของ GDP มายาวนานถึง 25 ปี ปัจจุบันปี 2565 มูลค่าการลงทุนที่ขจัดผลของเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.6 ล้านล้านบาท เพิ่งกลับมา ใกล้เคียงระดับเดิมเมื่อ 25 ปีที่แล้วที่ 2.7 ล้านล้านบาท

4.โครงสร้างประชากรไม่เอื้อต่อการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยจำนวนคนสูงอายุ 12.8 ล้านคน หรือ 19.4% ของประชากร ถ้าแตะ 20% จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ตามนิยาม UN ซึ่งเพิ่มขึ้นเร็วกล่าวคือ 5 ปี เพิ่มขึ้น 26% สวนทางกับเด็กเกิดใหม่เหลือ 5 แสนคน ซึ่งลดลงเร็วเช่นกัน หรือ  5 ปี ลดลง 25% อนาคตอาจจะขาดแคลนแรงงาน ส่งผลต่อปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะในภาคการเกษตร และบริการ และฐานภาษีในเชิงจำนวนคนลดลงเพราะมีคนทำงานน้อยลง

“คนแก่เยอะ คนเกิดใหม่น้อย ท้าทายตลาดแรงงาน ถ้าเราอยู่กับอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงาน เราจะก้าวข้ามความท้าทายนี้ได้อย่างไร แต่ก็เป็นโอกาสที่เราจะก้าวข้ามความท้าทายไปสู่ตลาดแรงงานที่ใช้ดิจิทัลมากขึ้น”

5.หนี้ครัวเรือนสูงเรื้อรังฉุดรั้งการบริโภค โดยหนี้ครัวเรือนปัจจุบันอยู่ที่ 90.7% ต่อ GDP สูงทะลุ 80% ต่อ GDP มาแล้ว 10 ปี ส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะครัวเรือนฐานราก โดยระดับที่ยั่งยืนตามเกณฑ์ BIS ไม่ควรเกิน 80% เพราะถ้าเกินจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในระยะยาว จากผลการสำรวจพบว่า จำนวนครัวเรือนที่เป็นหนี้ลดลงเหลือ 48.5% แต่มูลค่าหนี้กลับเพิ่มขึ้นเป็น 2.08 แสนบาท/ครัวเรือน

”หนี้ครัวเรือนที่ไม่กระทบเสถียรภาพควรอยู่ที่ 80% แต่ต้องดูไส้ในว่า หนี้ครัวเรือนเป็นหนี้อะไร เท่าที่ดูในโครงสร้างไม่มีอันตราย เพราะ 50% ของหนี้ครัวเรือน เป็นหนี้ที่มีหลักประกัน เช่น หนี้บ้าน รถ ไม่ใช่บัตรเครดิต แต่ต้องหาวิธีรับมือจริงจัง โดยรัฐบาลกำลังจะหาแนวทางแก้ไขทั้งปัญหาหนี้นอกระบบและในระบบ ถ้าเราแก้ได้ หนี้จะลดลง เราต้องก้าวความท้าทายนี้ให้ได้”

เสถียรภาพแกร่งทุนสำรองรับการนำเข้าถึง 7 เดือน

เขากล่าวว่า ในแง่เสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาคนั้น ถือว่า แข็งแกร่ง เป็นประเด็นที่ต่างชาติให้ความสำคัญ โดยทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 2.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ รองรับการนำเข้าได้ 7 เดือน ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุล 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านอัตราเงินเฟ้อต่ำ 1.6% อยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ส่วนอัตราการว่างงานต่ำ 1%

ด้านฐานะการคลังก็มีมั่นคง โดยรัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 2.66 ล้านล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 1.1 แสนล้านบาท หรือ 4.5% ถือเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ ส่งผลเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนก.ย.2566 อยู่ที่ 5.39 แสนล้านบาท หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนก.ย. 2566 อยู่ที่ 62.14%ต่อ GDP อยู่ในกรอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ขณะที่ หลายประเทศหนี้สาธารณะอยู่ในระดับเกิน 100%

เสถียรภาพการเงินก็ไร้กังวล โดยเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ณ สิ้นไตรมาส 3 อยู่ที่ 19.9% สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดไว้ที่ 8.5% หนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) ต่อสินเชื่อรวมอยู่ในระดับต่ำที่ 2.7%

สำหรับขีดความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นแบบหน้ากระดาน โดยอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยอยู่ที่ 30 ของโลก ปรับตัวดีขึ้น 3 อันดับจากช่วงCOVID-19 โดยเพิ่มขึ้นทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ศักยภาพทางเศรษฐกิจดีขึ้น 18 อันดับ ประสิทธิภาพของภาครัฐดีขึ้น 7 อันดับ ประสิทธิภาพของภาครัฐดีขึ้น 7 อันดับ และโครงสร้างพื้นฐานดีขึ้น 1 อันดับ เป็นข้อเท็จจริงที่ต่างชาติมอง

เร่งรัฐลงทุนใหม่ดันจีดีพีโตต่อเนื่อง 4-5% 

เขากล่าวว่า รัฐบาลต้องทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง และมีเสถียรภาพ โดยในระยะสั้น หลังงบประมาณแล้วเสร็จ ต้องเร่งเบิกจ่ายอัดฉีดเศรษฐกิจในระยะยาว ต้องขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจขยายตัว 4-5% อย่างต่อเนื่อง และทั่วถึง เพื่อให้ประเทศไทยรายได้สูง และไม่ลืมฐานราก ขณะเดียวกัน ต้องดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ มหภาค การคลัง และการเงิน

นอกจากนี้ ภาครัฐและเอกชน ต้องเร่งลงทุนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ต้องปลุกยักษ์หลับให้กลับมามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งในระดับมหภาคและภูมิภาค เพื่อนำไปสู่การยกระดับ Potential Growth ให้สูงกว่า 3.5% และให้เกิดการเติบโตอย่างทั่วถึง Inclusive Growth และปิดช่องว่างการพัฒนาในพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างแท้จริง

เขากล่าวว่า เศรษฐกิจไทยต้องก้าวสู่อนาคตที่มีศักยภาพ และมั่นคงกว่าเดิม โดยไม่ละเลยการลงทุนเพื่อวางรากฐานเศรษฐกิจให้เติบโตต่อเนื่องทั้งในระยะสั้น-ระยะยาว ซึ่งประกอบด้วย การเร่งรัดกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ให้เสร็จตามแผนในเดือนเมษายน 2567 เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ในช่วง 5 เดือนที่เหลือของปี 2567 ใช้อีอีซีเป็นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุน

เขาระบุด้วยว่า ที่ผ่านมา เรามองหลายประเทศเพื่อนบ้านเป็นคู่แข่ง เช่น เวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์ แต่วันนี้ ประเทศเหล่านั้น ก็กำลังมีปัญหา และมีข้อจำกัด ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องอาศัยจังหวะนี้ในการเชิญชวนนักลงทุน โดยนายกรัฐมนตรีเองก็ได้เดินสายในการดึงดูดนักลงทุนดังกล่าว

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์