'กนศ.'เร่งเครื่องยุทธศาสตร์ FTA ปิดจุดอ่อนไทยหลังทุนนอกแห่ซบเวียดนนาม

'กนศ.'เร่งเครื่องยุทธศาสตร์ FTA ปิดจุดอ่อนไทยหลังทุนนอกแห่ซบเวียดนนาม

“กนศ.” ประชุมนัดแรก รุกเจรจา FTA ไทย – EU แข่งเวียดนาม “ปานปรีย์” สั่งเร่งวาง ยุทธศาสตร์ทำ FTA ตามนโยบายรัฐบาล ด้าน “ธรรมนัส” ยันเห็นด้วยแต่ห่วงผลกระทบภาคเกษตรไทย

การประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ครั้งที่ 1/2566 ที่มี นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานการประชุมนัดแรกได้มีการรับฟังรายงานความคืบหน้าการเจรจาการค้ากับประเทศต่างๆ และการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) และข้อตกลงทางการค้าที่ไทยจะต้องเดินหน้าเจรจาเพื่อเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และเปิดตลาดการค้าเพิ่มเติมตามนโยบายรัฐบาล

ทั้งนี้ ในส่วนของกรอบ FTA ซึ่งที่ประชุม กนศ.ได้หยิบยกขึ้นมาหารือกันแล้วเห็นว่าจะต้องมีการเร่งรัดตั้งคณะเจรจาไปหารือย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีความคืบหน้าได้เร็วขึ้นคือ FTA ไทยกับสหภาพยุโรป (EU) โดยที่ประชุมหารือกันว่าปัจจุบันสาเหตุอย่างหนึ่งที่บริษัทขนาดใหญ่ชั้นนำของโลกเข้าไปลงทุนในเวียดนามจำนวนมากส่วนหนึ่งเป็นเพราะเวียดนามมีข้อตกลง FTA กับ EU ในขณะที่ไทยยังไม่มี

\'กนศ.\'เร่งเครื่องยุทธศาสตร์ FTA ปิดจุดอ่อนไทยหลังทุนนอกแห่ซบเวียดนนาม

รับดูทั้งโอกาสและข้อจำกัดทำFTA

“รัฐบาลให้ความสำคัญในการเปิดตลาดและเจรจาการค้ากับประเทศต่างๆ โดยขณะนี้มีการหารือกันเรื่องของการเร่งรัดทำ FTA กับ EU ซึ่งใน กนศ.เป็นคณะทำงานที่จะทำงานในเรื่องนี้ โดยต้องดูทั้งโอกาสและข้อจำกัดของไทยในการเจรจาซึ่งมีรายละเอียดในรายสินค้าที่ต้องคุยกันอีกมาก ส่วนเรื่องของข้อตกลง CPTPP นั้นในการประชุมครั้งแรกนี้ยังไม่ได้มีการคุยกันในเรื่องนี้”

สำหรับ CPTPP คือ Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership คือความตกลงแบบครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก  ในอดีตนั้นเคยมีสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมด้วยโดยใช้ชื่อว่า TPP  หรือ Trans-Pacific Partnership

นายปานปรีย์ กล่าวว่า ที่ประชุมมีการให้รายละเอียดเกี่ยวกับการทำยุทธศาสตร์การค้าทั่วโลก และจะมีการทำ FTA ระหว่างไทยกับหลายประเทศ แต่ยังไม่ได้ระบุประเทศที่ชัดเจนว่าจะทำกับประเทศไหนบ้าง โดยได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขาได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศ ไปกำหนดยุทธศาสตร์รายประเทศ ร่วมกันเพราะถือว่ามีความสำคัญ และจะต้องดูด้วยว่าจะเร่งรัดอันไหนก่อนหลังเพื่อให้การประชุมครั้งต่อไปมากำหนดยุทธศาสตร์การทำFTA ในภาพรวม


เมื่อทำยุทธศาสตร์เสร็จจะกำหนดประเทศเป้าหมายที่ประเทศไทยจะเดินหน้าเจรจาต่อไป

ด้าน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เห็นด้วยที่ต้องมีการเปิดเจรจาการค้ากับต่างประเทศเพิ่มเติม แต่ก็มีข้อกังวลที่ได้เสนอกับที่ประชุมฯไปแล้วว่าต้องระมัดระวังผลกระทบที่จะเกิดจากภาคเกษตรเพราะเรื่องเกษตรถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และภาคเกษตรไทยถือว่ามีความเปราะบาง อะไรก็ตามที่ทำให้เกษตรกรเดือดร้อนต้องไม่ทำ และควรจะรักษาผลประโยชน์ของคนไทยไว้ก่อน

FTAเปิดน่านฟ้าการค้าไทยเพิ่ม

นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าในการประชุมครั้งนี้ได้มีการนำเสนอข้อมูลกรอบการทำ FTA และความคืบหน้าในการเจรจาของ FTA ที่ไทยทำกับประเทศ และกลุ่มเศรษฐกิจต่างๆ โดยปัจจุบันFTA ไทยมีผลบังคับใช้ 14  ฉบับ 18ประเทศ อยู่ระหว่างเจรจา 12 ฉบับ และยังมีแผนเจรจาเพิ่มเติมด้วยเพื่อให้ไทยสามารถแข่งกันกับประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกันได้  ในขณะนี้ FTA ที่มีความคืบหน้ามากที่สุดแล้วใกล้จะมีการลงนามความร่วมมือระหว่างสองประเทศได้ในเร็วๆนี้

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับFTA ที่ไทยมีแผนจะเปิดการเจรจา ได้แก่ สหราชอาณาจักร (UK) กลุ่มประเทศสมาชิกคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) สหภาพศุลกากรแอฟริกาตอนใต้ (SACU) ภูฎาน เกาหลีใต้ อิสราเอล