ส.อ.ท. เสนอดึงไอเดียคนรุ่นใหม่ร่วมพัฒนา 'สมาร์ทซิตี้'

ส.อ.ท. เสนอดึงไอเดียคนรุ่นใหม่ร่วมพัฒนา 'สมาร์ทซิตี้'

ส.อ.ท.ชี้คนรุ่นใหม่เป็นหัวใจพัฒนาเมืองเป็นสมาร์ทซิตี้ เสนอให้เยาวชนมีส่วนร่วมออกแบบเมือง เพิ่มการศึกษาในโรงเรียน

นางสาวสวนิตย์ บุญญาสุวัฒน์ คณะทำงาน BCG สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในวงเสวนาหัวข้อ "การผลักดันไทยสู่ Smart City" ในงานสัมมนา “POSTTODAY SMART CITY THAILAND 2024” เมื่อวันที่ 20 พ.ย.2566 ว่า ในมุมมองของผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรมการขับเคลื่อน "สมาร์ทซิตี้" ทำให้ผู้ประกอบการได้ประโยชน์ใน 3 มิติ คือ ESG (Environment, Social, Governance) ประกอบด้วย ด้านสิ่งแวดล้อม ในแง่การบริหารจัดการการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ การขนส่งและคมนาคมอัจฉริยะ การมีส่วนร่วมของทุกคนในการเข้าถึงระบบอัจฉริยะ รวมถึงการบริหารอย่างโปร่งใส 

สำหรับบทบาทของส.อ.ท.ในฐานะผู้ผลิตก็พร้อมที่จะพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์สมาร์ทซิตี้ ทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งตอบโจทย์การยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศอีกด้วย ทั้งนี้การขับเคลื่อนสมาร์ทซิตี้และความยั่งยยืนจะต้องทำให้เกิดเป็นอีโคซิสเต็มทั้งระบบ โดยจะต้องร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชน 

ทั้งนี้ หากต้องประเมินประเทศไทยว่ากำลังอยู่ในจุดไหนของสมาร์ทซิตี้ นางสาวสวนิตย์ กล่าวว่า Smart City Index มีหลายด้านและมีขอบข่ายที่กว้างมาก แต่อยากจะเน้นย้ำถึงเรื่องที่อยู่อาศัย การจัดสรรพื้นที่เพื่อลดวามแออัด เพราะว่าถ้าทุกคนยังไม่มีบ้านเรื่องโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ก็จะพัฒนาต่อยาก

เรื่องที่สอง การเชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชนของเมือง ในวันนี้แม้ว่าจะมีบริการขนส่งมวลชนที่มีความหลากหลาย แต่ระบบทั้งหมดยังขาดความเชื่อมต่อกัน อย่างในต่างประเทศที่สามารถใช้บัตรใบเดียวได้อย่างครอบคลุม

นอกจากนี้ ในประเด็นเรื่องการศึกษาก็เป็นส่วนหนึ่งที่มองข้ามไปไม่ได้ โดยเฉพาะความคิดเห็นของเด็กรุ่นใหม่ที่สามารถเสนอมุมมองในฐานะผู้ใช้งานในอนาคต หรือ Bottom-Up ประกอบกับเครื่องมือต่างๆ ในปัจจุบันที่มีความก้าวหน้าไปมาก อาจจะเห็นอะไรที่มีความหลากหลายมากขึ้น

นางสาวสวนิตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาภาครัฐมีส่วนในการผลักดันสมาร์ทซิตี้ให้มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานและการให้สิทธิประโยฃน์ต่างๆ โดยสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือเรื่องของมายเซ็ตและการสื่อสารอย่างกว้างขวางมากขึ้น ให้ได้เห็นถึงโอกาสใหม่ๆ

นอกจากนี้ จุดที่ต้องเติมเต็มเพื่อผลักดันสมาร์ทซิตี้ให้เกิดขึ้นจริงในปี 2050 ต้องเริ่มมำตั้งแต่วันนี้ โดยเฉพาะ "คน" ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เมืองเป็นสมาร์ทซิตี้ ไม่ใช่เพียงแค่โครงสร้างพื้นฐาน การให้ความรู้ในหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนสำคัญมาก สร้างความมีส่วนร่วมของเด็ก คนรุ่นใหม่ ก็เชื่อว่าในปี 2050 เราน่าจะเห็นภาพของสมาร์ทซิตี้

"อยากให้รัฐบาลผลักดันไปพร้อมกับการรับฟังฟีดแบ็กในประเด็นต่างๆ ไปด้วย เพื่อจะได้ทำงานร่วมกัน เดินไปด้วยกัน เพื่อให้ไปได้ไกลมากขึ้น"