'พิมพ์ภัทรา' พร้อมพาเอสเอ็มอี ไทยฝ่าฟันกติกาการค้าโลก

'พิมพ์ภัทรา' พร้อมพาเอสเอ็มอี ไทยฝ่าฟันกติกาการค้าโลก

รมว.อุตสาหกรรม เปิดเวทีสัมมนา "ทีเอ็มเอ" ชี้ เศรษฐกิจไทยจะโต ผู้ประกอบการรายใหญ่ต้องจับมือรายเล็กร่วมเดินไปด้วยกันเพื่อก้าวผ่านกติกาการค้าโลก 

ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมายังไม่ได้ขยับไปจากเดิมมากนัก และยังคงปรับตัวขึ้นลงตามปัจจัยและวิกฤติต่าง ๆ โดยอยู่ในอันดับ 25-35 และล่าสุดอยู่ที่อันดับ 30 จาก 64 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก การจะพัฒนาประเทศไทยไปสู่ความก้าวหน้าและที่สำคัญสามารถรับมือกับปัจจัยสภาพแวดล้อมที่มีการผันผวนอย่างรวดเร็ว ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน 

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่สการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเปิดงานวาระครบรอบ 15 ปี ในการขับเคลื่อนการสร้างขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศผ่านโครงการ Thailand Competitiveness Enhancement Program ของสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) บนเวทีสัมมนา  "Thailand Competitiveness Conference 2023" ว่า ประเทศไทยได้ผ่านวิกฤติโควิดมาแล้ว โดยภาครัฐได้พยายามบริหารจัดการการทำงานผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ จนผ่านพ้นมาด้วยดี แต่ก็ต้องมาเจอกับกติกาการค้าโลกใหม่ คือ มาตรการกีดกันทางการค้า

\'พิมพ์ภัทรา\' พร้อมพาเอสเอ็มอี ไทยฝ่าฟันกติกาการค้าโลก

อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างที่เห็นได้ชัด คือผู้ประกอบการรายใหญ่มีความพร้อมในทุกด้านโดยเฉพาะเทคโนโลยี ส่วนเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัปยังขาดแคลนในหลายเรื่อง ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐได้รับการร่วมมืออย่างดีทั้งจากหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สนับสนุนให้บริษัทใหญ่ดูแลบริษัทเล็ก ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยจับมือและเดินฝ่าเวทีกติกาใหม่ไปด้วยกัน แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือ ผู้ประกอบการรายเล็ก รัฐบาลมีโครงการใช้ความรู้คู่เงินทุน สร้างความแข็งแรงให้ยืนหยัดไปพร้อมกันในเวทีโลก

ทั้งนี้ ด้วยโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบก เรือ และอากาศ รัฐบาลที่ผ่านมาโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สร้างไว้มาอย่างดีครอบคลุมทั้ง 4 ภูมิภาค การลงทุนนิคมอุตสาหกรรมระดับภูมิภาคมีความพร้อม ต่อมารัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้พยายามเดินทางไปต่างประเทศเพื่อหารือกับผู้นำประเทศต่าง ๆ และดึงดูดนักลงทุน ซึ่งการเชื่อมต่อของรัฐบาลแบบไร้รอยต่อจะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนทั่วโลก 

"วันนี้รัฐบาลพยายามลดค่าใช้จ่ายประชาชน โดยเฉพาะราคาพลังงานทั้งค่าไฟและน้ำมัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และลงทุนอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีสะอาด เปลี่ยนผ่านเทรนด์ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) คู่ขนานกับนโยบายไม่ทิ้งอุตสาหกรรมยานยนต์แบบเดิม เพื่อดูแลฐานการผลิตในประเทศไทย"