นักวิชาการทีดีอาร์ไอชี้รัฐบาล”กู้มาแจก”เสี่ยงวินัยการคลังประเทศ

นักวิชาการทีดีอาร์ไอชี้รัฐบาล”กู้มาแจก”เสี่ยงวินัยการคลังประเทศ

นักวิชาการทีดีอาร์ไอชี้กรณีรัฐบาลมีแผน"กู้มาแจก"ก่อให้เกิดความเสี่ยงทางการคลัง เหตุหนี้สาธารณะจะสูงขึ้น ทำให้กรอบการกู้เงินแคบลง หากเกิดวิกฤตในอนาคตจะเหลือกระสุนไม่เพียงพอ แถมยังเสี่ยงต่อเครดิตประเทศ พร้อมมองเม็ดเงินจะหมุนเวียนในระบบได้ไม่ถึง 1 เท่า

นายนณริฎ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)กล่าวให้ความเห็นกรณีรัฐบาลมีแผนในการ ออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้จ่ายในโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตว่า ตนเห็นว่า แนวทางและโครงการดังกล่าว จะก่อให้เกิดความเสี่ยงทางการคลังและกระทบต่อเครดิตเรตติ้งของประเทศ

โดยในส่วนของความเสี่ยงทางการคลังนั้น เมื่อรัฐบาลกู้เงิน จะทำให้ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีปรับสูงขึ้น ซึ่งปัจจุบัน ระดับหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับเกินกว่า 60%ต่อจีดีพี ก็ถือว่า เกินกว่ากรอบวินัยการเงินการคลังได้กำหนดไว้อยู่แล้ว เมื่อรัฐบาลกู้เงินเพิ่ม ระดับหนี้สาธารณะก็จะปรับตัวสูงขึ้น หากระดับจีดีพีไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นได้ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมาย เมื่อหนี้สาธารณะปรับตัวสูงขึ้น จะทำให้กรอบการในการกู้เงินของเราแคบลง เมื่อถึงเวลาที่เราต้องการใช้เงิน เช่น กรณีเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เราจะมีกระสุนทางการคลังไม่เพียงพอ

“ขณะนี้ ระดับหนี้ต่อจีดีพีที่อยู่ในระดับเกินกว่า 60% ต่อจีดีพี ก็ถือว่า เสี่ยงอยู่แล้ว เพราะที่ผ่านมา เราก็กู้ไปมาก โดยเฉพาะในช่วงโควิด เรากู้สูงถึง 1.5 ล้านล้านบาท ถ้าเรากู้เงินอีก กรอบในการกู้เงินเราก็จะยิ่งบางลง เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต เราก็จะมีกระสุนไม่เพียงพอ ก็อยากให้เก็บเสปรดตรงนี้ไว้ ดังนั้น ผมไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะใช้วิธีการกู้เงิน และรวมถึง โครงการแจกเงินครั้งนี้”

เขายังกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยเปรียบเสมือนลูกคนรวย กล่าวคือ มีระดับหนี้ที่ต่ำ ก็ทำให้เรามีเครดิตที่ดี แต่ล่าสุดหนี้ดังกล่าวมาอยู่ที่กว่า 60%ต่อจีดีพีแล้ว ดังนั้น ทางสถาบันจัดอันดับเครดิตต่างประเทศก็ได้ออกมาเตือนในลักษณะว่า ไทยไม่ได้เป็นประเทศที่มีเครดิตดีเหมือนเมื่อก่อนแล้ว ฉะนั้น ถ้ายังจะกู้เพิ่ม ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงทางเครดิต และ ในที่สุดจะกระทบต่อต้นทุนการกู้เงินของประเทศ

สำหรับผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจนั้น เขาประเมินว่า ด้วยรูปแบบการใช้จ่ายที่รัฐบาลกำหนด จะก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินได้ไม่ถึง 1 เท่า หรือ ต่ำสุดที่ 0.4 เท่า และ สูงสุดที่ 0.9 เท่า เท่านั้น ดังนั้น กรณีรัฐบาลจะทุ่มเม็ดเงิน 5 แสนล้านบาท ถ้าเงินหมุนได้เพียง 0.4 เท่า จะมีเม็ดเงินหมุนเวียนได้เพียง 2 แสนล้านบาท กรณีหมุนได้สูงสุดที่ 0.9 เท่า จะมีเม็ดเงินหมุนเวียนได้เพียง 4.5 แสนล้านบาทเท่านั้น

ทั้งนี้ หากเทียบต่อจีดีพีที่ 17 ล้านล้านบาทกับเม็ดเงินที่ลงไป 5 แสนล้านบาท จะเท่ากับว่า เม็ดเงิน 5 แสนล้านบาทนั้น มีสัดส่วนเพียง 3% ต่อจีดีพีเท่านั้น ฉะนั้น ในแง่ของการหมุนของเงินจึงไม่ได้แรง โดยมองว่า ในปีแรกที่เงินลงในระบบเศรษฐกิจ อาจจะได้เพียงครึ่งหนึ่ง หรือ ราว 50% ของเงินที่จะลงไปเท่านั้น และในปีถัดไปก็จะยิ่งอ่อนแรงลงเรื่อยๆ

“ด้วยการหมุนของเม็ดเงินที่จะอ่อนแรงลงเรื่อยๆ จึงมองว่า ไม่น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ถึง 4 ปีตามเป้าหมายของรัฐบาลแน่นอน ส่วนเป้าหมายที่เศรษฐกิจไทยจะโตได้ 5%ในปีหน้า ก็มีโอกาสเป็นไปได้ เพราะปีหน้าเราก็คาดการณ์จีดีพีจะโตได้ 4% อยู่แล้ว ฉะนั้น จึงเหลือแค่ 1% ถ้าโครงการนี้ลงไปก็น่าจะสนับสนุนการเติบโตได้”

ส่วนกรณีที่รัฐบาลมองว่า ด้วยการเติบโตเศรษฐกิจไทยที่เฉลี่ย 2% ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ถือว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในขั้นวิกฤต เขาเห็นว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ จึงไม่จำเป็นที่ต้องได้รับการกระตุ้น ดังนั้น จึงไม่เห็นด้วยกับแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว

“ในสมัยโบราณ ขงเบ้งบอกว่า ต้องใช้นักวิชาการถึง 7 คน จึงจะทัดทานนโยบายของฮ่องเต้ได้ แต่สมัยนี้ นักวิชาการ 99 คน ยังไม่สามารถทัดทานนโยบายของรัฐบาลได้”