'การบินไทย' ระดมทุน 8 หมื่นล้าน หนุนออกแผนฟื้นฟูกลางปี 68

'การบินไทย' ระดมทุน 8 หมื่นล้าน หนุนออกแผนฟื้นฟูกลางปี 68

"การบินไทย" เดินหน้าหาเงินทุน 8 หมื่นล้านบาท ดันส่วนทุนกลับเป็นบวก เตรียมแปลงหนี้เป็นทุน พร้อมขายหุ้นเพิ่มทุนปลายปี 2567 พร้อมโชว์ผลประกอบการ 9 เดือนแรก 1.1 แสนล้านบาท เงินสดในมือพุ่งกว่า 6.3 หมื่นล้านบาท

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยระบุว่า ขณะนี้การบินไทยดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูใกล้แล้วเสร็จ เหลือเพียงการแปลงหนี้เป็นทุนและขายหุ้นเพิ่มทุนที่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 31 ธ.ค.2567 เบื้องต้นคาดการณ์ว่าคณะผู้บริหารแผนจะได้ข้อสรุปของการแปลงหนี้เป็นทุนในกลางปี 2567 หลังจากนั้นจะประกาศกำหนดการให้เจ้าหนี้ยื่นแปลงหนี้เป็นทุน และจึงจะเริ่มประกาศขายหุ้นเพิ่มทุน ซึ่งหากการบินไทยดำเนินการส่วนนี้แล้วเสร็จจะทำให้มีส่วนทุนเป็นบวก และยื่นกระบวนการเพื่อขอพิจารณาออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ

"เป้าหมายการหาเงินทุนมี 2 ส่วน คือ แปลงหนี้เป็นทุนและการขายหุ้นเพิ่มทุน ซึ่งตามแผนกำหนดต้องทำทั้งสองอย่าง โดยการบินไทยคาดว่าจะสามารถหาทุนได้รวม 8 หมื่นล้านบาท เมื่อนำมาหักลบกับส่วนของผู้ถือหุ้นที่ปัจจุบันติดลบอยู่ราว 5.4 หมื่นล้านบาท จะทำให้การบินไทยมีส่วนทุนเป็นบวก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการยื่นออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ"

\'การบินไทย\' ระดมทุน 8 หมื่นล้าน หนุนออกแผนฟื้นฟูกลางปี 68


สำหรับแผนการหาเงินทุน 8 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นการแปลงหนี้เป็นทุน ทั้งในส่วนของกระทรวงการคลัง สถาบันการเงิน ดังนั้นจะมีเพียงการขายหุ้นเพิ่มทุนที่ถือเป็นการหาทุนใหม่ ในวงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท โดยจะดำเนินการขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิม รวมไปถึงกระทรวงการคลัง และกองทุนต่างๆ แต่ยืนยันว่าภายหลังการแปลงหนี้เป็นทุนและขายหุ้นเพิ่มทุนทั้งหมดแล้ว จะไม่ทำให้การบินไทยกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ เพราะโดยรวมกระทรวงการคลังรวมถึงกองทุนภาครัฐจะมีสัดส่วนถือหุ้นการบินไทยกว่า 40%

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวด้วยว่า ภาพรวมธุรกิจในขณะนี้สามารถทำรายได้และกำไรอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีกระแสเงินสดในมือ (แคช์โฟว์) สูงถึง 6.3 หมื่นล้านบาท และคาดการณ์ว่าผลประกอบการในปีนี้ 1.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 ที่มีรายได้สะสม 1.1 แสนล้านบาท ขณะที่คาดการณ์รายได้ปี 2567 ประเมินว่าจะกลับมาเทียบเท่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ที่มีรายได้ 1.8 แสนล้านบาท และรายได้ของการบินไทยจะเพิ่มต่อเนื่องจนในปี 2568 ที่คาดว่าจะมีรายได้มากกว่าก่อนเกิดโควิด-19 

\'การบินไทย\' ระดมทุน 8 หมื่นล้าน หนุนออกแผนฟื้นฟูกลางปี 68

สำหรับแนวทางที่ทำให้การบินไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น เกิดจากดีมานด์การเดินทางของผู้โดยสารทั่วโลก อีกทั้งการบินไทยยังมีแผนทยอยรับมอบเครื่องบินที่ทำการเช่าจำนวน 26 ลำ ทยอยรับมอบมาแล้ว 3 ลำในปีนี้ และจะรับมอบเพิ่มเติมจนครบกำหนดในปี 2568 ซึ่งจำนวนฝูงบินที่เพิ่มขึ้น ทำให้การบินสามารถขยายเส้นทางบินไปยังจุดบินที่มีศักยภาพ อาทิ ออสโล (นอร์เวย์) มิลาน (อิตาลี) รวมไปถึงเพิ่มเที่ยวบินในเส้นทางที่มีดีมานด์ เช่น ซิดนีย์ (ออสเตรเลีย) และนาริตะ (ญี่ปุ่น)

ทั้งนี้ การบินไทยเปิดเผยถึงผลประกอบการในไตรมาส 3 ปี 2566 โดยบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 37,008 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 32,860 ล้านบาท หรือ 12.6% โดยมีผู้โดยสารรวมทั้งสิ้น 3.27 ล้านคน เป็นส่วนของการบินไทย 2.19 ล้านคน และไทยสมายล์ 1.08 ล้านคน มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 77.3% (การบินไทย 77.1% และไทยสมายล์ 80.9%) ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเฉลี่ย 77.0%

นอกจากนี้ บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 29,289 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่าย 28,940 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายที่ผันแปรตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น เป็นค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง 11,995 ล้านบาท (41% ของค่าใช้จ่ายรวม) โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 7,719 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ปี 2565 ซึ่งมีกำไร 3,920 ล้านบาท

อีกทั้ง บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 3,722 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวที่ส่วนใหญ่มาจากการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นค่าใช้จ่ายรวม 2,732 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 1,546 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อน ขาดทุน 4,780 ล้านบาท โดยมี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 8,360 ล้านบาท

สำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 115,897 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 65,567 ล้านบาท ในขณะเดียวกันมีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 86,567 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวม 66,115 ล้านบาท บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 29,330 ล้านบาท ดีกว่างวดเดียวกันของปี 2565 ที่ขาดทุน 548 ล้านบาท