'รถไฟฟ้าสายสีชมพู' เปิดนั่งฟรีปลายเดือนนี้

'รถไฟฟ้าสายสีชมพู' เปิดนั่งฟรีปลายเดือนนี้

“รถไฟฟ้าสายสีชมพู” พร้อม 99.99% เตรียมเปิดให้ประชาชนนั่งฟรีปลายเดือนนี้ ก่อนเริ่มเก็บค่าโดยสาร 18 ธ.ค.2566 กำหนดราคา 15 – 45 บาท “คมนาคม” คาดผู้โดยสารใช้บริการสูงสุด 8 หมื่นคนต่อวัน พร้อมเร่งเจรจาเอกชนร่วมนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจสอบความพร้อมรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี โดยระบุว่า ปัจจุบันภาพรวมโครงการมีความคืบหน้า 99.99% ส่วนที่เหลือเป็นการเก็บรายละเอียดอีกเล็กน้อย จึงมั่นใจว่าจะมีความพร้อมเปิดให้ประชาชนทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) โดยไม่เก็บค่าโดยสารในปลายเดือน พ.ย.นี้

“การเดินทางมาตรวจเยี่ยมความพร้อมของรถไฟฟ้าสายสีชมพูในครั้งนี้ เพื่อทดสอบก่อนที่จะมีการรองรับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีจะเข้าร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริงภายในเดือน พ.ย.นี้ และเปิดให้ประชาชนทดลองนั่งฟรี”

ขณะที่กำหนดเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ เริ่มจัดเก็บค่าโดยสารนั้น เบื้องต้นการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ประเมินไว้ในเดือน ธ.ค.2566 โดยกำหนดค่าโดยสารในกรอบราคาอยู่ที่ 15 – 45 บาท หรือเฉลี่ยสถานีละ 1.5 บาท ซึ่งคาดการณ์ว่าในช่วงทดสอบการเดินรถเสมือนจริงจะมีผู้โดยสารใช้บริการราว 7  - 8 หมื่นคนต่อวัน และลดลงในช่วงของการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ที่จะจัดเก็บค่าโดยสาร คาดว่าผู้โดยสารจะเฉลี่ยอยู่ที่ 5 – 6 หมื่นคนต่อวัน

\'รถไฟฟ้าสายสีชมพู\' เปิดนั่งฟรีปลายเดือนนี้

อย่างไรก็ดี กระทรวงฯ ประเมินว่าแม้จะมีปริมาณผู้โดยสารลดลงเมื่อเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ จะรถไฟฟ้าสายนี้จะสนับสนุนการเดินทางเข้าระบบรถไฟฟ้า เพราะมีโครงข่ายเชื่อมต่อไปยังโครงการรถไฟฟ้าสายอื่นจำนวนมาก เช่น สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการเชื่อมต่อกับ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PP11) ของรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง โดยเป็นการเชื่อมต่อประเภท Unpaid to Unpaid Area ระหว่างชั้นออกบัตรโดยสาร (Concourse Level) ของสองสถานี มีทางเดินเชื่อมต่อ (Skywalk) และทางเดินเลื่อนอัตโนมัติ (Walkalator) ระยะทางประมาณ 346 เมตร

ส่วนสถานีหลักสี่ (PK14) เชื่อมต่อกับ สถานีหลักสี่ (RN06) ของรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-รังสิต ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยเป็นการเชื่อมต่อประเภท Unpaid to Unpaid Area จากชั้นออกบัตรโดยสารของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ ที่ระดับดิน ใช้สะพานลอยคนข้ามไปยังชั้นออกบัตรโดยสารของรถไฟชานเมือง มีระยะทางเดินเชื่อมต่อประมาณ 180 เมตร

และสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (PK16) เชื่อมต่อกับ สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (N17) ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต เป็นการเชื่อมต่อประเภท Paid to Paid Area

\'รถไฟฟ้าสายสีชมพู\' เปิดนั่งฟรีปลายเดือนนี้

นายสุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ถือว่าดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จก่อนกำหนดการประมาณ 6 - 7 เดือน ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์แก่ประชาชนที่มาใช้บริการ ขณะที่นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น กระทรวงฯ มีเป้าหมายจะผลักดันให้เกิดขึ้นทั้งหมดภายใน 2 ปีนี้ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนคณะกรรมการฯเตรียมเจรจากับภาคเอกชน ซึ่งรถไฟฟ้าสายสีชมพูก็อยู่ในเป้าหมายการเจรจาด้วย คงต้องรอดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอน

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวเสริมว่า ปัจจุบัน ณ สิ้นเดือน ต.ค. 2566 โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ มีความก้าวหน้างานโยธา 98.30% งานระบบรถไฟฟ้า (M&E) 99.24% ความก้าวหน้ารวม 98.78% โดย รฟม. ได้กำกับดูแลการดำเนินงานของผู้รับสัมปทาน รวมถึงการทดสอบการเดินรถในแต่ละระยะอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการทดสอบการเดินรถเสมือนจริง ในช่วงปลายเดือน พ.ย. 2566 นี้ และคาดว่ารถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ จะสามารถเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบเชิงพาณิชย์ได้ในวันที่ 18 ธ.ค.2566

ขณะที่ความคืบหน้าของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี ที่มีแนวเส้นทางเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ ที่สถานีเมืองทองธานี (PK10) เข้าสู่ซอยแจ้งวัฒนะ - ปากเกร็ด 39 ไปสิ้นสุดที่บริเวณทะเลสาบในเมืองทองธานี ประกอบไปด้วย สถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี (MT01) และสถานีทะเลสาบเมืองทองธานี (MT02) มีระยะทางโดยประมาณ 3 กิโลเมตร ปัจจุบัน ณ สิ้นเดือน ต.ค. 2566) มีความก้าวหน้างานโยธา 41.76% งานระบบรถไฟฟ้า (M&E)  23.34% และความก้าวหน้ารวม 35.56%