“อีอีซี” ยกเครื่อง “วันสต๊อปเซอร์วิส” เร่งดึงต่างชาติเข้ามาลงทุน

“อีอีซี” ยกเครื่อง “วันสต๊อปเซอร์วิส” เร่งดึงต่างชาติเข้ามาลงทุน

“อีอีซี” เร่งออกกฎหมายลูกเปิดทางด่วนนักลงทุน เร่งดึงอุตสาหกรรม 5 คลัสเตอร์หลัก เชื่อมโยงซัพพลายเชนในประเทศ เปิดศูนย์บริการภาครัฐเบ็ดเสร็จ อำนวยความสะดวกตั้งโรงงาน ออกใบอนุญาต เพิ่มสิทธิประโยชน์จูงใจ

การขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีเป้าหมายที่จะดึงการลงทุนจากต่างประเทศ โดยที่ผ่านมาได้มีการตั้งระบบให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ EEC One Stop Service (EEC-OSS) เพื่อให้บริการผู้ประกอบการ ซึ่งได้มีการกำหนดเป้าหมายการลงทุนตามแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนา EEC ปี 2566-2570 วงเงิน 2.2 ล้านล้านบาท

จุฬา สุขมานพ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า สกพอ.ทำหน้าที่หลักในการดึงเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศ (FDI) เข้ามาในไทย นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ในการกระจายเงินลงทุนไปสู่ชุมชนและเชื่อมโยงไปสู่ผู้ประกอบการและซัพพลายในประเทศ 

ทั้งนี้ จะให้ความสำคัญกับการดึงดูดอุตสาหกรรม New S-Curve เพื่อยกระดับการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ รวมกันเป็น 5 คลัสเตอร์ ได้แก่ 1.การแพทย์สุขภาพ จับเทรนด์ที่เรื่องสังคมสูงวัยที่ขยายวงกว้างขึ้น 2.สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งดาต้าเซ็นเตอร์ เพื่อสอดรับโมเมนตัมการย้ายฐานลงทุน โดย สกพอ.จะเร่งออกแพ็คเกจลงทุนที่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้

3.ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาไทยได้ต้อนรับนักลงทุนและค่ายรถอีวีทั้งจีน ยุโรป เกาหลีใต้ 4.อุตสาหกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (ฺBCG) เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว อาทิ การลงทุนเกี่ยวพลังงานสะอาด การรีไซเคิลแบตเตอรี่ 5.บริการ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยแข็งแกร่ง

“สกพอ.จะทำหน้าที่ดึงอุตสาหกรรมที่เป็นแม่เหล็กดึงดูดอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง และส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงกับซัพพลายเชนการผลิตในไทย”

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาโครงการที่เข้ามาขออนุมัติส่งเสริมลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) บางโครงการมีเม็ดเงินลงทุนจริงในระบบน้อยกว่าที่ขอส่งเสริม หรือบางกรณีก็มีความล่าช้าในการลงทุน 

ดังนั้นต่อจากนี้ สกพอ.จึงได้เตรียมออกกฎหมายลูก เพื่อออกแบบมาตรการจูงใจนักลงทุนแบบตัดสูท (Tailor-made) โดยพิจารณาเป็นรายโครงการ และเจรจากับนักลงทุนที่พร้อมแลกเปลี่ยนตามเงื่อนไขที่กำหนด อาทิ เปิดให้คนไทยถือหุ้น 20%

โดยคณะทำงานเล็กด้านกฎหมายจะทยอยนำกฎหมายลูก เพื่อเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือน พ.ย.เป็นต้นไป

สำหรับประเด็นที่พิจารณาจะต้องดูเรื่องการให้อำนาจในการเจรจาสิทธิประโยชน์กับนักลงทุนเป็นรายโครงการว่าจะให้ได้มากเพียงใด โดยสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเพดานสูงสุดอยู่ที่ 15 ปี 

ทั้งนี้อาจมีการเพิ่มข้อกำหนดให้สามารถทดปีที่บริษัทขาดทุนมานับเพิ่มหลังจากครบ 15 ปี เพื่อขยายเวลาให้นักลงทุนใช้ประโยชน์ได้สูงสุด ซึ่งจะทำให้มาตรการส่งเสริมลงทุนสามารถรองรับอุตสาหกรรมได้มากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่มีต้นทุนการลงทุนสูงในช่วงเริ่มต้น เช่น โรงพยาบาล ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

นอกจากนี้ยังมีกฎหมายลูกภายใต้อำนาจ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 ที่ยังไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เช่น กฎหมายที่เกี่ยวกับการอนุมัติ อนุญาตประกอบกิจการ การก่อสร้างโรงงาน การออกวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน การซื้อที่ดิน และที่อยู่อาศัย เพื่ออำนวยความสะดวกให้การลงทุนเกิดขึ้นได้เร็วที่สุด โดย สกพอ.จะทำให้เป็น One Stop Service ในการเป็นผู้บริการและอำนวยความสะดวกนักลงทุน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567

โดยในระยะเวลา 6 เดือนข้างหน้า กพอ.จะทยอยออกกฎหมายลูกที่จะให้มาตรการและสิทธิประโยชน์นักลงทุน โดยเป็นการเก็บแต้มยิ่งทำมากจะได้สิทธิประโยชน์มาก เช่น การมีผู้ประกอบการในประเทศในซัพพลายเชน

นอกจากนี้ สกพอ.มีแผนเดินทางไปโรดโชว์ที่ต่างประเทศ โดยจะเดินทางไปสหรัฐในเดือน พ.ย.2566 ดึงการมาร่วมลงทุนในโครงการเมืองใหม่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่เกี่ยวข้องกับสมาร์ทซิตี้ และเดินทางไปอินเดียในปีหน้า คุยอุตสาหกรรมยา และยานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะ รวมถึงอิเล็กทรอนิกส์

ขณะเดียวกัน สกพอ.ยังเสนอจุดแข็งของไทยที่มีความพร้อมเรื่องอีโคซิสเต็มในการอยู่อาศัยการทำงานและท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นแม่เหล็กที่สามารถดึงดูดให้ผู้เชี่ยวชาญและผู้มีความสามารถ (Talents) เข้ามาทำงานได้ด้วย

“อีอีซี” ยกเครื่อง “วันสต๊อปเซอร์วิส” เร่งดึงต่างชาติเข้ามาลงทุน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สกพอ.ได้ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับหน่วยงานท้องถิ่นใน EEC ประกอบด้วย กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมโยธาธิการและผังเมือง ผู้ว่าราชการทั้ง 3 จังหวัด (ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มที่ EEC จะเชื่อมประสานในการขอใบอนุญาตแทนหน่วยงานต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ EEC เพื่อลดขั้นตอนในการทำงาน ช่วยลดระยะเวลา รวมทั้งเพื่อลดอุปสรรค และต้นทุนในการประกอบการ 

รวมทั้งจะอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนที่มาขอบริการผ่าน One Stop Service เป็นการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร ซึ่งจะเป็นช่องทางด่วนบริการให้กับนักลงทุนในการขอใบอนุมัติ อนุญาต ในเรื่องการขุดดิน ถมดินและปลูกสร้างอาคาร ดังกล่าว และจะขยายไปสู่บริการในด้านอื่นๆ ครอบคลุมกว่า 44 ใบอนุญาต อาทิ ใบอนุญาตควบคุมอาคารและสิ่งปลูกสร้าง การตั้งโรงงาน การขออนุญาตนำเครื่องมือเครื่องจักรอุตสาหกรรม การประกอบกิจการด้านพลังงาน